posttoday

ลูกจ้างเฮ! สนช.ผ่านกฎหมายเพิ่มค่าชดเชยเลิกจ้าง อายุงาน20ปีได้400วัน

13 ธันวาคม 2561

สนช.ผ่านร่างแก้ไขพรบ.คุ้มครองแรงงานเพิ่มค่าชดเชย สำหรับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปได้ 400 วัน พร้อมเพิ่มสิทธิวันลาคลอดเป็น98วัน คาดบังคับใช้ปลายม.ค.62

สนช.ผ่านร่างแก้ไขพรบ.คุ้มครองแรงงานเพิ่มค่าชดเชย สำหรับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปได้ 400 วัน พร้อมเพิ่มสิทธิวันลาคลอดเป็น98วัน คาดบังคับใช้ปลายม.ค.62

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 179 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ให้ร่างแก้ไขพรบ.คุ้มครองแรงงานผ่านการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว โดยสาระสำคัญคือการปรับเพิ่มอัตราค่าชดเชยให้กับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปได้ค่าชดเชยอัตราใหม่เป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน โดยเป็นการปรับเพิ่มเติม สำหรับคนที่ทำงานมาครบ 20 ปี

ขณะที่อัตราค่าชดเชยในช่วงอายุงานอื่นๆยังคงเดิมดังนี้

1.ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน

2. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน

3. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน

4. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน

5. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน

นอกจากนี้กฎหมายใหม่ ยังเพิ่มสิทธิอื่นๆ เช่นสิทธิลาคลอด กำหนดให้ลูกจ้างหญิงที่มีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร 98 วัน จากเดิมมีสิทธิลา 90 วัน โดยมีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างลา 45 วัน และอีก 45 วันไปรับจากกองทุนประกันสังคม สำหรับ 8 วันที่เพิ่มขึ้นมา ในกรณีที่ลูกจ้างลาครบ 98 วัน นายจ้างจะค่าจ้างระหว่างลา หรือไม่ก็แล้วแต่นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกัน

ทั้งนี้วันลาเพื่อคลอดดังกล่าว รวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนจะคลอดด้วย ซึ่งปัญหาที่ผ่านพบว่าการ ลาเพื่อคลอดบุตร บางฝ่ายตีความว่า ต้องคลอดก่อนจึงจะมีสิทธิลา หรือ ตีความว่า ไม่รวมการลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอด จึงต้องเขียนให้ชัดเจน อีกทั้งหากวันลาคลอด 98 วัน ไปตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักร้อน หรือ พักผ่อนประจำปี ก็ให้นับรวมวันหยุดดังกล่าวในระหว่างลาคลอด ด้วย

การประชุมสนช.ใช้เวลาพิจารณาในวาระ 2 -3 ใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมง ผ่านเป็นกฎหมายด้วยเสียง คะแนนเสียง 179 งดออกเสียง 5 องค์ประชุม 184 เสียง