posttoday

นักวิทยาศาสตร์ อธิบายสาเหตุที่หนูน้อยดวงตาสีฟ้า

10 ธันวาคม 2561

ผศ.เจษฎา อธิบายถึงสาเหตุที่เด็กน้อยมีดวงตาสีฟ้าทั้งที่พ่อกับแม่ไม่ใช่ลูกครึ่งและไม่ได้ใส่คอนแทคเลนส์

ผศ.เจษฎา อธิบายถึงสาเหตุที่เด็กน้อยมีดวงตาสีฟ้าทั้งที่พ่อกับแม่ไม่ใช่ลูกครึ่งและไม่ได้ใส่คอนแทคเลนส์ 

เมื่อวันที่ 10  ธ.ค.  ผศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายถึงสาเหตุที่เด็กน้อยคนหนึ่งมีดวงตาสีฟ้า ทั้งที่พ่อกับแม่ไม่ใช่ลูกครึ่งและไม่ได้ใส่คอนแทคเลนส์ ว่า จริงแล้วคนที่มีตาสีฟ้านั้น ไม่ได้มีสีฟ้าอยู่จริงในดวงตา แต่เป็นเพราะว่าบริเวณตาดำขาด "เมลานิน" เม็ดสีรงควัตถุชนิดเดียวกับสร้างที่ผิวหนังของมนุษย์ หากดวงตามีเมลานินมากก็จะมีตาสีน้ำตาลเข้ม ถ้าเมลานินน้อย ก็จะมีตาสีน้ำตาลอ่อนลงเรื่อยๆ จนเป็นสีเทา สีเขียวและสีฟ้าน้ำเงินในที่สุด ซึ่งเป็นผลของการสะท้อนของแสงจากภายนอก (นึกภาพถึงเวลาที่เห็นน้ำทะเลเป็นสีฟ้า)

และปัจจุบันพบว่ามีอย่างน้อย 2 ยีนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสีของตา คือ ยีน OCA2 และยีน HERC2 บนโครโมโซมที่ 15 โดยยีน OCA2 จะสร้างโปรตีนพี (P protein) ที่เกี่ยวกับการสร้างเม็ดสีเมลานิน ถ้าใครสร้างโปรตีนพีได้น้อยก็จะมีสีตาไปในทางสีอ่อนจนถึงสีฟ้าได้

ส่วนยีน HERC2 จะมีบริเวณที่เรียกว่า intron 86 ทำหน้าที่เปิดหรือปิดยีน OCA2 อีกที ถ้ามีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นกับบริเวณนี้ก็จะทำให้คนนั้นมีตาสีอ่อนลงเช่นกัน และนอกจาก 2 ยีนนี้แล้วยังมียีนอื่นอีกหลายยีนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดสีของดวงตา

ผศ.เจษฎา ระบุว่า อีกอย่างที่รู้เกี่ยวกับยีน OCA2 คือ การกลายพันธุ์ของยีน OCA2 ที่ทำให้เกิดตาสีฟ้าขึ้นนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อแค่ประมาณ 1 หมื่นปีก่อนเท่านั้นเอง โดยน่าจะเกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลดำ แล้วแพร่กระจายตามการอพยพของผู้คนไปทั่วยุโรปในช่วงปลายของยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย

ดังนั้นการที่พบคนหลายชาติไม่ว่าจะจากทวีปแอฟริกา หรือจากทวีปเอเชียที่อยู่ก็มีลูกหลานที่มีตาสีฟ้าขึ้นมา ก็แสดงว่าในสายวงศ์วานเครือญาติมียีนกลายพันธุ์ที่นำไปสู่การเกิดตาสีฟ้าแฝงอยู่ แล้วบังเอิญมาแสดงออกในเด็กคนนั้น ซึ่งเคสแบบนี้หาได้ยากแต่ก็มีพบอยู่เรื่อยๆ

และนอกจากเรื่องความบังเอิญทางพันธุกรรม ยังมีกรณีของกลุ่มอาการวาร์เดนเบิร์ก Waardenburg syndrome (WS) ที่ทำให้เด็กมีตาสีฟ้าได้ เป็นโรคทางพันธุกรรมที่หายากพบเพียงประมาณ 1 ใน 40,000 รายเท่านั้น และมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทจนสูญเสียการได้ยิน โดยมักจะเกิดความผิดปกติในเรื่องการสร้างเมลานินตามไปด้วย ซึ่งกรณีนี้ ไม่ใช่น้องคนที่เป็นข่าว เพราะคุณแม่ยืนยันว่าน้องปกติดี

ภาพ : ไม่ซี้ อย่าแซว เดี๋ยวซึม