posttoday

คชอ.ชี้น้ำท่วมอยุธยา-ปทุมฯ-นนท์ยังวิกฤต

28 ตุลาคม 2553

ที่ประชุมคณะกรรมการ คชอ. ระบุ สถานการณ์น้ำท่วมในอยุธยา-ปทุมธานี-นนทบุรี ยังอยู่ในภาวะวิกฤต ระดับน้ำเพิ่มจากน้ำเหนือไหลมาเพิ่ม คาด1-2สัปดาห์สถานการณ์จึงจะคลี่คลาย

ที่ประชุมคณะกรรมการ คชอ. ระบุ สถานการณ์น้ำท่วมในอยุธยา-ปทุมธานี-นนทบุรี ยังอยู่ในภาวะวิกฤต ระดับน้ำเพิ่มจากน้ำเหนือไหลมาเพิ่ม คาด1-2สัปดาห์สถานการณ์จึงจะคลี่คลาย

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) เพื่อเตรียมรับมือน้ำท่วมและช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่น้ำลด โดยที่ประชุมได้สรุปสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดว่า มีพื้นที่ประสบภัย 27 จังหวัด 238 อำเภอ 1,757 ตำบล 14,509 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับผลกระทบ 1,089,615 ครัวเรือน 3,292,377 คน

คชอ.ชี้น้ำท่วมอยุธยา-ปทุมฯ-นนท์ยังวิกฤต

ทั้งนี้พื้นที่ประสบภัยเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 จังหวัด คือ พิษณุโลก (อ.บางกระทุ่ม) และหนองบังลำภู (อ.โนนสัง และ อ.ศรีบุญเรือง)จังหวัดที่มีสถานการณ์รุนแรง 3 อันดับแรก ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2553 อันดับ 1 อยุธยา อันดับ 2 ปทุมธานี อันดับ 3 นนทบุรี

ขณะที่ สถานการณ์น้ำขึ้น-ลง บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือน้ำขึ้นเวลา10.00 น. สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง2.17เมตร และน้ำขึ้นอีกครั้ง19.10 น. สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1.80 เมตร ส่วนบริเวณหน้าป้อมพระจุลจอมเกล้าน้ำขึ้นเวลา 09.36 น.สูงกว่าระดับน้ำ ทะเลปานกลาง1.95 เมตร ส่วนช่วงเย็นน้ำจะขึ้นอีกครั้งเวลา18.19น. สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1.38 เมตร จึงทำให้พื้นที่ในปทุมธานี นนทบุรีและสมุทรปราการยังต้องเฝ้าระวังอยู่

ขณะที่การคาดการณ์ / เตือนภัยพื้นที่เสี่ยงภัยระหว่าง 28 ตุลาคม - 9 พฤศจิกายน ที่จะเกิดน้ำท่วมสูงมากขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล น้ำเหนือทัพใหญ่ไหลมาที่อ. สตึก บุรีรัมย์ สูงกว่าตลิ่ง 2.20 เมตร จากนั้นวันที่ 31 ต.ค. น้ำจะมาถึง อ.ราษีไศล ศรีสะเกษ และอ.เมืองอุบลราชธานี สูงกว่าตลิ่ง 1.50 เมตร

ทั้งนี้คาดการณ์ว่า เมื่อน้ำถึงอุบลราชธานีวันที่ 2 พ.ย. 3200 ลบ.ม/วินาที สูงกว่าตลิ่ง 1.40 เมตร เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ลุ่มน้ำชี น้ำเหนือฝั่งแม่น้ำชียังไหลมาต่อเนื่อง อยู่ที่ อ.โกสุมพิสัย จะผ่าน อ.เมือง อ.ฆ้องชัย จ.มหาสารคาม ในวันที่ 4 พ.ย. จากนั้นเข้าสู่ อ.ทุ่งเขาหลวง อ..เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด และ อ.เมืองยโสธร ในวันที่ 6 พ.ย. จากนั้นเข้าสู่ อุบลราชธานี ในวันที่8-9 พ.ย. ทำให้น้ำล้นตลิ่ง ต้องเฝ้าระวังพื้นที่โดยรอบ ลุ่มแม่น้ำโขง ยังอยู่ในระดับทรงตัว แต่ต้องเฝ้าระวังเพื่อให้เจ้าหน้าที่เตือนภัยได้ทันท่วงที

ด้าน ภาคกลาง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม มีภาวะน้ำท่วมสูงขึ้นทุกอำเภอเนื่องจากน้ำเหนือยังไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง อย่างไรก็ตามในช่วง 1-2 สัปดาห์ สถานการณ์จะคลี่คลายขึ้น เนื่องจากน้ำทะเลจะลดต่ำลง แต่ต้องเฝ้าระวังอีกครั้งในวันที่ 8 พ.ย. ที่น้ำทะเลสูงสุดในรอบเดือนพฤศจิกายน

ส่วน ภาคใต้ มีฝนตกหนัก-หนักมาก กว่า 80% ของพื้นที่ จึงให้ประชาชนที่อาศัยที่ทางน้ำไหลผ่านและราบลุ่ม ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลลาก และน้ำล้นตลิ่ง ซึ่งอาจเกิดภาวะน้ำท่วม ขณะที่ภาคเหนือต้องเตรียมรับมือภัยหนาวที่จะเกิดขึ้นตามมา

ทั้งนี้ทาง คชอ. ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานเตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บุรีรัมย์ สุรินทร์ โดยเฉพาะอุบลราชธานี ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมอุปโภคบริโภค ที่พักอาศัย ชั่วคราว เครื่องสูบน้ำ และอื่นๆ พร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมอีกระลอกในระหว่างวันที่ 2-9 พ.ย.นี้ และในวันที่ 29 ต.ค. กองทุนผู้ประสบสาธารณภัย มอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตในจังหวัดลพบุรี รายละ 5 หมื่นบาท ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือนอกเหนือจากกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยรวมแล้วรายละ 1 แสนบาท