เครือข่ายองค์กรงดเหล้า หนุนตำรวจเอาจริงปราบร้านค้าขายสุราให้คนเมาชูโมเดลแก้ปัญหาต่างประเทศผู้เสริฟต้องรับผิดชอบร่วมหากผู้ดื่มเมาสร้างปัญหา
เมื่อวันที่ 7ธ.ค.61 เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า ขอสนับสนุน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในการดำเนินคดีกับร้านค้าที่ขายสุรากับคนเมา หลังเกิดเหตุหนุ่มก่อสร้างกระทำการล่วงละเมิดนักท่องเที่ยวชาวนิวซีแลนด์ซึ่งผิดกฎหมายชัดเจนอยู่แล้ว ตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551มาตรา29 บทลงโทษจำคุกไม่เกิน1ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"นับเป็นเวลากว่า10 ปีแล้วที่มีกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ แต่เข้าใจว่ายังไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้มาก่อน เมื่อมีกรณีเมาแล้วขับที่เมาอย่างหนักแล้วไปก่อเหตุไม่ว่าจะเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุหรือ การทะเลาะวิวาท ข่มขืนคุกคามทางเพศต่างๆ ควรสืบกลับไปยังร้านที่ขายสุราให้ด้วย ถ้าปรากฏว่ามีการขายให้ผู้ที่เมาครองสติไม่ได้ ควรดำเนินคดีกับผู้ขายด้วย" เภสัชกรสงกรานต์ กล่าว
ทั้งนี้เจตนารมณ์ของมาตรานี้ในตอนยกร่างก็ชัดเจน ที่อยากให้ผู้ผลิต ผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น มิใช่เอาแต่จะขายอย่างเดียวทั้งๆที่รู้อยู่ว่าผู้ซื้อมีความเสี่ยงอันตราย อาจจะบาดเจ็บล้มตายหรือก่อเหตุอันตรายได้
“ยิ่งมีการตั้งด้านตรวจแอลกอฮอล์บริเวณใกล้ผับบาร์แล้วด้วย จะยิ่งเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่ดีสุดวิธีหนึ่ง ที่น่าสนใจคือในประเทศที่ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ดี คนขายต้องมีใบอนุญาตด้วย ไม่ใช่ใครๆก็ขายได้ กรมสรรพสามิตจึงควรพิจารณาเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน อย่างน้อยผู้จะมีใบอนุญาตขายสุรา ควรต้องผ่านการอบรมจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน” เภสัชกร สงกรานต์ ระบุ
ด้านนายแพทย์อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) กล่าวว่า หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำเรื่องนี้ได้จริง จะเป็นการพลิกโฉมสถานการณ์ปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบ้านเราได้อย่างมาก โดยไม่ต้องไปออกกฎหมายใหม่ แม้ข้อเท็จจริงจะพบว่าภาษีที่ได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะลดลง ยอดขายอยู่ในภาวะที่ซบเซา แต่สภาพปัญหาโดยรวมโดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนน อาชญากรรม การปล้นจี้ชิงทรัพย์ ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย ยังพบว่าส่วนใหญ่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ ยิ่งในช่วงเทศกาลสำคัญๆเช่นปีใหม่ สงกรานต์ ที่ภาครัฐมักจะคลอดมาตรการใหม่ๆออกมา แต่ก็กลับพบว่าความสูญเสียต่างๆยังไม่เป็นที่น่าพอใจอย่างที่ควรจะเป็น
“ ในมาตรานี้หากมีการเอาจริงเอาจังจะส่งผลให้ผู้ขายเปลี่ยนพฤติกรรม มีความรับผิดชอบต่อการขายมากขึ้น รับผิดชอบต่อลูกค้าของตัวเองมากขึ้น ที่ผ่านมาเรามักจะโยนความผิดให้ผู้ดื่มฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของฝั่งธุรกิจที่ผลักภาระความรับผิดชอบทุกอย่างให้คนดื่ม ผู้ผลิต นำเข้าและจำหน่ายกลายเป็นคนที่ลอยนวลจากปัญหานี้ การดำเนินการบังคับใช้กฎหมายในมาตรานี้ ตรงกับหลักการบังคับใช้กฎหมายในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ที่เรียกว่า Liquor Liability ซึ่งมีหลักการว่า ผู้ที่เสริฟ alcohol ให้กับคนที่เมาจนครองสติไม่ได้ ต้องร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่ผู้ที่เมาไปกระทำหลังจากการดื่มนั้น โดยในต่างประเทศก้าวหน้าไปถึงขั้นที่ผู้ได้รับความเสียหายจากคนเมา สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากร้านค้าที่ขายแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้กระทำความเสียหายนั้นได้ ซึ่งในต่างประเทศนั้นการเรียกร้องค่าเสียหายอาจจะสูงจนทำให้ร้านขายแอลกอฮอล์ต้องปิดกิจการได้ สำหรับในบ้านเราหากเอาจริงเอาจังกับมาตรานี้ จะเป็นทางออกจากปัญหาซ้ำซากที่เป็นรูปธรรมที่สุดทางหนึ่ง” นักวิจัย ศวส.ระบุ
นายแพทย์อุดมศักดิ์ ระบุย้ำด้วยว่า กฎหมายการรับผิดชอบของร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อการสื่อสารสารอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เจ้าของร้านหรือแม้กระทั่งผู้เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงที่จัดหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตระหนักถึงโอกาสที่ตนเองจะต้องรับผิดทางกฎหมายเสียก่อน ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สื่อสารเผยแพร่กฎหมายนี้ให้ประชาชนและร้านค้าทราบกันทั่วไปด้วย
ไทยเบฟลุย หวังดันยอด ไม่ใช่น้ำเมา
วันที่ 23 ก.พ. 2561
ตลาดเบียร์เริ่มฟื้น ไฮเนเก้นรุกเดลิเวอรี่
วันที่ 15 พ.ย. 2560
สสส. ห่วงปรับภาษีเหล้าใหม่ทำคนไทยซดเหล้าขาวเพิ่ม
วันที่ 02 ก.ย. 2560
ว่าด้วยประวัติศาสตร์ กาแฟหลังบาร์
วันที่ 04 ก.ย. 2560
นิชคุณ 2PM กลัวโดนตำรวจเรียก เซ็นเซอร์ภาพแอลกอฮอล์แบบกวนๆลงไอจี
วันที่ 18 ส.ค. 2560