posttoday

จากอาเปี๊ยกสู่ลูกหลาน ไขลมหายใจสุดท้าย "เจ็บหลังทำไม? หัวใจถึงล้มเหลว"

04 ธันวาคม 2561

อายุรแพทย์โรคหัวใจอธิบายขั้นตอนการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

อายุรแพทย์โรคหัวใจอธิบายขั้นตอนการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

หลังจากครอบครัว "เปี๊ยก พิศาล อัครเศรณี” ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าก่อนที่ผู้กำกับรุ่นใหญ่จะเสียชีวิต ได้มีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง ก่อนจะมีอาการหายใจไม่ออกและเกิดอาการน็อก แม้แพทย์ปั๊มหัวใจนานกว่า 3 ชั่วโมงก็ไม่อาจยื้อไว้ได้ จึงเกิดคำถามขึ้นว่าปฐมบทอาการปวดหลังเหตุใดจึงทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว

นพ.วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ เคยให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจวาย หรือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) ไว้ว่าเกิดขึ้นจาก “ความผิดปกติของหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นขณะหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary Artery) เกิดการอุดตันอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้ไม่สามารถส่งผ่านเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนจะเริ่มตาย หากไม่รีบเปิดทางเดินของหลอดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจจะถูกทำลายมากขึ้น และหัวใจก็จะหยุดทำงาน”

“ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันนั้น อาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ โดยมีอาการแตกต่างกันออกไปในแต่ละราย ซึ่งอาการบอกเหตุของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายที่สามารถสังเกตได้มีดังนี้  ปวดร้าวไปที่แขนข้างเดียว หรือทั้งสองข้างไปจนถึงคอและกราม”

ทั้งนี้ส่วนมากมักจะเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ นอกจากอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรหนักๆมากดทับ หรือจุกแน่นหรือแสบบริเวณลิ้นปี่ เช่น เหงื่อออก หายใจหอบ คลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น

นพ.วิสุทธิ์ อธิบายว่า ขั้นตอนแสดงอาการจะปวดราวประมาณ 20-30 นาที และถ้าหากมีอาการอยู่ตลอดต้องถือว่าเป็นสัญญาณวิกฤตของอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ผู้ป่วยต้องรีบไปพบแพทย์หรือเรียกรถฉุกเฉินไปโรงพยาบาลทันทีในระยะเวลาภายใน 4 ชั่วโมง เพื่อฟื้นฟู ทำการรักษาให้เลือดไหลกลับไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโดยเร็วที่สุด

“ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดราวร้อยละ 50 เสียชีวิตภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังเกิดอาการ เพราะฉะนั้นทั้งผู้ป่วยและคนรอบข้างจำเป็นต้องทราบว่าอาการใดที่เป็นสัญญาณเตือนบ้าง แม้แต่เพียงสงสัยก็ไม่ควรรอช้า เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อส่วนหนึ่งจะเริ่มตาย และเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจตายแล้วก็ไม่สามารถฟื้นฟูหรือสร้างใหม่ได้ ดังนั้นถ้าสามารถปกป้องกล้ามเนื้อหัวใจไม่ให้ถูกทำลายได้มาก โอกาสรอดชีวิตก็มีสูง”