posttoday

แค่ไหนถึงเรียกว่า "ป้องกันตัว" รู้ข้อกฎหมายเมื่อภัยมาถึงบ้าน

03 ธันวาคม 2561

กองปราบปรามแนะข้อกฎหมายการป้องกันตัวโดยชอบถ้าเจอโจรทำร้าย หลังเกิดเหตุเจ้าของบ้านฆ่าตีนแมว

กองปราบปรามแนะข้อกฎหมายการป้องกันตัวโดยชอบถ้าเจอโจรทำร้าย หลังเกิดเหตุเจ้าของบ้านฆ่าตีนแมว

กำลังกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง กรณีคนร้ายงัดเข้าไปในบ้านพักแห่งหนึ่งในซอยงามวงศ์วาน 18 จังหวัดนนทบุรี แต่ดันเผลอหลับกระทั่งลูกชายเจ้าของบ้านนักศึกษาปริญญาโท วัย 23 ปี กลับมาเจอจึงเกิดการต่อสู้กัน ผลสุดท้ายคนร้ายพลาดท่าถูกเจ้าของบ้านล็อกคอจนถึงแก่ความตาย แต่เจ้าของบ้านใจเด็ดเบื้องต้นกลับถูกแจ้งข้อหาหนัก “ฆ่าคนตาย โดยไม่เจตนา” 

ทั้งนี้คำถามที่น่าคิดต่อคือ วิธีการป้องกันและรับมืออย่างถูกต้องที่กำลังเป็นที่สงสัยใคร่รู้ของประชาชนสามารถทำได้ถึงขั้นไหน ระดับใดได้บ้างเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำซ้อนขึ้น

เพจเฟซบุ๊ก “กองปราบปราม” ได้ออกมาให้ข้อมูลความรู้กับประชาชนสำหรับเหตุการณ์ป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายว่า การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 68 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 "ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด"

และการกระทำเพื่อป้องกันนี้ถึงแม้จะเกิดความเสียหายบ้าง แต่ถ้าได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ ก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นย่อมไม่มีความผิด

นอกจากนี้ยังได้ระบุถึงหลักเกณฑ์ของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อป้องกันเมื่อพบภัยกับตัวเอง

1.มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย คือภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้นผู้กระทำไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้ หากผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำได้ ก็ไม่มีสิทธิป้องกัน ผู้ที่จะอ้างป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องไม่มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดภยันตรายขึ้นด้วย แต่ถ้าผู้จะอ้างป้องกันนั้น มีส่วนก่อให้เกิดภยันตรายนั้น ก็ไม่สามรถอ้างป้องกันได้

2.ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้น จะต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง คือภยันตรายที่เกิดขึ้นนั้นกระชั้นชิดถึงขนาดที่หากไม่ป้องกันตัวในขณะนั้น ก็อาจจะเกิดอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นได้

3.ผู้กระทำจำต้องกระทำการเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายนั้น

4.การกระทำเพื่อป้องกันนั้นจะต้องกระทำพอสมควรแก่เหตุ คือการกระทำเพื่อป้องกันนั้น จะต้องได้สัดส่วนกับภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้น เช่น ภยันตรายที่เกิดขึ้นจากการถูกตบหน้าจะป้องกันโดยใช้ปืนยิงถือว่าไม่ได้สัดส่วนกัน การกระทำเพื่อป้องกันนั้นถ้าผู้กระทำได้ใช้วิถีทางน้อยที่สุดที่จะทำให้เกิดอันตรายแล้วถือว่ากระทำไปพอสมควรแก่เหตุ

ที่มา : https://www.facebook.com/shares/view?id=482411055582542&av=100000659573197