posttoday

เจาะเบื้องหลังภารกิจ ‘China International Import Expo’

24 พฤศจิกายน 2561

ระหว่างวันที่ 3-7 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ติดตามคณะของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

โดย อนัญญา มูลเพ็ญ

ระหว่างวันที่ 3-7 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ติดตามคณะของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปทำข่าวการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี จึงมีมุมที่น่าสนใจในทริปครั้งนี้มาเล่าสู่ผู้อ่านบ้าง

เบื้องแรกนั้นคิดว่าหากเป็นมุมท่องเที่ยวก็คงจะไม่มีอะไรน่าสนใจนัก เพราะเราก็ไม่ได้เดินทางไปเที่ยวอาจจะเล่าเรื่องสถานที่ต่างๆ ในเมืองที่เดินทางไปได้ไม่ดีเท่าบล็อกเกอร์ที่รีวิวกันเต็มไปหมดอยู่แล้ว จึงมาลงเอยที่ว่า เล่าเรื่องที่พบเห็นจากการติดตามคณะทางการคราวนี้ก็แล้วกัน เพราะก็มีหลายมุมที่เป็นประสบการณ์น่าสนใจอยู่

ภารกิจของรองนายกรัฐมนตรีสมคิด มีกำหนดการอยู่ใน 2 เมืองหลักคือ นครเซี่ยงไฮ้ และกรุงปักกิ่ง โดยเริ่มที่นครเซี่ยงไฮ้ คณะของผู้เขียนซึ่งประกอบไปด้วยเพื่อนผู้สื่อข่าวไม่กี่คนและเจ้าหน้าที่ของบีโอไอ 1 คน เดินทางก่อนคณะของรองนายกรัฐมนตรี เมื่อไปถึงสนามบินเซี่ยงไฮ้ผู่ตงก่อน เลยได้พบเรื่องเซอร์ไพรส์ให้แก้ปัญหากันก่อนใคร

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะเข้มงวดกับกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการควบคุมข้อมูลข่าวสารที่จะออกไปภายนอกประเทศค่อนข้างมาก

ดังนั้น ทางคณะเราที่ได้รับวีซ่าประเภท “J2” ซึ่งเป็นวีซ่าสำหรับผู้สื่อข่าวที่เข้าประเทศจีนทำข่าวแบบเฉพาะกิจในระยะเวลาสั้นๆ จึงได้รับการ “ดูแล” เป็นพิเศษ คืออุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เกี่ยวกับการทำข่าว โดยเฉพาะกล้องโทรทัศน์จะต้องมีการรายงานตามขั้นตอนของเขา

งานที่คณะเราจะไปร่วมครั้งนี้ คืองานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติประเทศจีน ครั้งที่ 1 (China International Import Expo - CIIE) เป็นงานที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญอย่างมาก การควบคุมผู้สื่อข่าวต่างชาติจึงเข้มตามไปด้วย

เจาะเบื้องหลังภารกิจ ‘China International Import Expo’

เมื่อไปถึงเราก็พบว่าทางเราไม่มีเอกสารที่ทางการจีนกำหนดที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรับรองการนำกล้องโทรทัศน์ของคนในคณะเข้าประเทศจีน ก็เป็นอันเรียบร้อยโรงเรียนพี่จีน คณะเราต้องรอการทำเอกสารใหม่ทั้งหมด พร้อมวางเงินประกันคิดเป็นเงินไทยประมาณ 5 หมื่นบาท ว่ากล้องที่นำเข้าประเทศจีนนี้จะไม่มีปัญหาต่างๆ ตามมา

เราใช้เวลากับการทำเอกสารต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ของทางบีโอไอประจำนครเซี่ยงไฮ้และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของทางการจีนให้ความช่วยเหลือในช่องทาง “พิเศษ” สำหรับสื่อมวลชนผู้มาร่วมงาน CIIE อยู่ร่วม 2 ชั่วโมง ซึ่งก็ทำให้คณะเล็กๆ ของเราคุยกับแบบติดตลกว่า มาจีนคราวหน้าอย่าได้ขอวีซ่านักข่าวเลยทีเดียว

ตามที่เล่าข้างต้นแล้วว่า คณะเราเดินทางก่อนคณะรองนายกรัฐมนตรีทำให้เมื่อไปถึงแล้วจึงพอจะมีเวลาออกเดินสำรวจเซี่ยงไฮ้เมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีนสักเล็กน้อย ก่อนเริ่มทำงานที่เป็นทางการกัน

พอได้นั่งรถสำรวจเมืองและแวะสถานที่สำคัญบางจุด ทำให้รู้ว่าทางการจีนทุ่มทุนสำหรับเตรียมงาน CIIE นี้อย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดเตรียมการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง มีการประดับไฟ ปรับภูมิทัศน์สถานที่สำคัญๆ ของเมืองเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือนเพื่อร่วมงานนี้จากทั่วโลก รวมถึงการจัดแคมเปญรณรงค์ให้คนในเมืองให้ความร่วมมือในการเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-10 พ.ย.ที่ผ่านมา

ระหว่างที่ได้แวะดูชมย่านไว่ทัน (Wai Tan) หรือ The Bund ย่านเก่าแก่และย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของเซี่ยงไฮ้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่นำคณะเราชมเมืองครั้งนี้เล่าว่า รัฐบาลจีนได้เตรียมงานนี้มาเป็นปี มีแคมเปญกระตุ้นให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าภาพ ตามท้องถนนทั่วนครเซี่ยงไฮ้ ตามห้างร้าน หรือแม้แต่สาขาของธนาคารก็ขึ้นป้ายเคาต์ดาวน์งาน CIIE

และที่สำคัญที่สุดคือ การทุ่มงบประมาณ ในการประดับไฟสร้างสีสันในย่านสำคัญด้วยงบประมาณ 800 ล้านหยวน (ประมาณ 4,000 ล้านบาท) รวมถึงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่เจ้าของตึกที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการประดับและเปิดไฟให้สว่างไสวในช่วงเวลาที่กำหนด

เจาะเบื้องหลังภารกิจ ‘China International Import Expo’

โดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำหวงผู่ (Huangpu River) ทั้งสองฝั่ง ทั้งด้านทิศตะวันออก ย่านผู่ตง ที่ตั้งของหอไข่มุก อันเป็นสัญลักษณ์ของเซี่ยงไฮ้ และฝั่งตะวันออกย่านไว่ทัน หรือ The Bund ที่พวกเราได้แวะไปชมกัน

The Bund เป็นย่านเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยอาคารที่ออกแบบก่อสร้างด้วยศิลปะแบบ กอธิก บาโรก โรมาเนสก์ คลาสสิก และเรอเนสซองซ์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานทูต สถานกงสุลของหลายประเทศ ธนาคาร ธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงธนาคารกรุงเทพหนึ่งเดียวของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีสาขาในนครเซี่ยงไฮ้ ก็ตั้งอยู่บริเวณนี้ด้วยเช่นกัน เดิมสถานกงสุลไทยก็มีอาคารสำนักงานอยู่ที่เดียวกันกับธนาคารกรุงเทพ แต่ได้ย้ายออกไปมีที่ตั้งเฉพาะของสถานกงสุลเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

เจ้าหน้าที่ยังเล่าให้ฟังอีกว่า การเตรียมการเพื่อต้อนรับผู้มาร่วมงานจากทั่วโลกรัฐบาลจีนได้ยกระดับการดูแลความปลอดภัยในช่วงการจัดงานเป็นระดับสูงสุด มีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากกระจายตัวดูแลความปลอดภัยทั้งในพื้นที่สนามบิน ย่านสำคัญของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ รวมถึงโรงแรมที่บุคคลสำคัญจากประเทศต่างๆ เข้าพัก โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมภายใต้การดูแลของรัฐบาล ซึ่งก็รวมถึงโรงแรมที่คณะเราเข้าพักด้วย

ทุกคนที่จะผ่านเข้าโรงแรมต้องผ่านเครื่องสแกน ทุกคนที่จะเช็กอินเข้าห้องพัก นอกจากการโชว์พาสปอร์ตตามมาตรฐานปกติแล้ว จะต้องมีการถ่ายภาพบันทึกใบหน้า อาหารที่จัดสำหรับผู้แทนประเทศและคณะ จะถูกจัดไว้ชั้นอื่นแยกต่างหากจากแขกของโรงแรม และก่อนเปิดไลน์อาหารมีตำรวจมาตรวจเช็กอาหารก่อนด้วย

ผู้เขียนเองยังเสียดายที่ไม่สามารถถ่ายภาพทุกกระบวนการรักษาความปลอดภัยมาให้ดู เพราะตั้งแต่เดินทางติดตามคณะรองนายกรัฐมนตรีไปหลายประเทศ รวมถึงไปจีนก็หลายครั้ง ก็ไม่เคยเจอความเข้มงวดขนาดนี้ก่อน คือมันเหมือนในฉากตำรวจตรวจเข้มที่เราเคยเห็นกันในหนังจีนฮ่องกงจริงๆ ที่ต้องเข้มงวดกันขนาดนี้ คงเพราะทางรัฐบาลจีนไม่ต้องการให้มีความผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว

เพราะการจัดงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติครั้งแรกนี้ และจะมีครั้งต่อไปในปีถัดๆ ไปอีกแน่นอนนั้น เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลจีน คือการแสดงให้ทั้งโลกเห็นถึงอิทธิพลของจีนต่อเศรษฐกิจโลก ในฐานะผู้นำเข้าหรือผู้บริโภครายใหญ่ของโลก และในการจัดงานครั้งแรกของจีนนี้ ก็ได้รับการตอบรับจากบรรดาผู้ส่งออกสินค้าไปยังจีนจาก 130 ประเทศทั่วโลก 2,800 บริษัท ไปร่วมจัดแสดงสินค้า

เจาะเบื้องหลังภารกิจ ‘China International Import Expo’

ผู้ประกอบการไทยเองก็เข้าร่วมงานนี้ 65 บริษัท โดยทั้งงานมีการจัดแสดงการค้าสินค้าเต็มพื้นที่ 1.8 แสนตารางเมตร ในศูนย์นิทรรศการและการประชุมแห่งชาตินครเซี่ยงไฮ้ (National Exhibition and Convention Center, Shanghai) ซึ่งหลังสิ้นสุดงาน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเฉพาะในงานนี้มียอดสั่งสินค้ากับผู้มาแสดงสินค้ารวมแล้วสูงถึง 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐ(ประมาณ 1.83 ล้านล้านบาท)

ไฮไลต์ของงาน CIIE อยู่ที่วันเปิดเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า ทางรัฐบาลจีนได้ประกาศให้เซี่ยงไฮ้เป็นวันหยุด 1 วัน เพื่อความสะดวกในการจัดเส้นทางการจราจรของผู้นำ และผู้แทนประเทศต่างๆ ที่พักอยู่ตามโรงแรมต่างๆ ทั่วนครเซี่ยงไฮ้

ที่บอกว่าไฮไลต์อยู่วันเปิดก็เพราะ“สีจิ้นผิง” ประธานาธิบดีของจีน เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานด้วยตนเอง ในงานนี้ผู้บริหารสูงสุดของจีนได้กล่าวเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากทั้งคนจีนเองที่ขณะนี้อยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก เนื่องจากประสบกับปัญหาการทำสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และจากผู้นำผู้แทนประเทศที่มาร่วมงาน และนักธุรกิจทั่วโลกให้เชื่อมั่นต่อจีน โดยได้กล่าวในตอนหนึ่งของปาฐกถาเปิดงานว่า

“พายุไม่เคยทำให้ทะเลหวั่นไหว จีนเองก็ก้าวผ่านสิ่งต่างๆ มา 5,000 ปีแล้ว”

ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ได้ยกตัวอย่างนครเซี่ยงไฮ้เป็นตัวอย่างการค้าเสรีที่ก้าวหน้า ซึ่งรัฐบาลจีนเองจะขยายเขตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเซี่ยงไฮ้ออกไป เปิดช่องให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเข้าจดทะเบียน เป็นแหล่งลงทุนของอุตสาหกรรมไฮเทค มั่นใจว่าจีนจะมีอนาคตที่สดใส พร้อมกับเชิญชวนประเทศต่างๆ ให้มาช่วยกันสร้างพัฒนาการเพื่อมนุษยชาติ

หลังประธานาธิบดี สีจิ้นผิง เปิดงานแล้ว มีการแยกเวทีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จากประเทศไทยได้รับเชิญให้กล่าวในฟอรั่ม Hongqiao International Economic and Trade Forum ร่วมกับประธานาธิบดี ประเทศลิทัวเนีย นายกรัฐมนตรี ประเทศจอร์เจีย รองนายกรัฐมนตรี ประเทศเบลเยียม รองนายกรัฐมนตรี ประเทศอุซเบกิสถาน และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด)

ประเด็นที่รองนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวบนเวทีคือ การแสดงความเชื่อมั่นว่าประเทศจีนที่จะแสดงบทบาทในการขับเน้นเอเชียให้โดดเด่นขึ้นอีกในศตวรรษแห่งเอเชีย (Asia Century) ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ ผ่านยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือวันเบลต์วันโรด และไทยก็มีศักยภาพเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางตามยุทธศาสตร์ของจีน

ด้วยการมีที่ตั้งอยู่กลางภูมิภาคอาเซียนมีการเชื่อมต่อกับประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เป็นตลาดและแรงงานที่สำคัญ และยังมีพื้นที่รองรับการลงทุนอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ครอบคลุม 3 จังหวัดในภาคตะวันออกของไทย

เจาะเบื้องหลังภารกิจ ‘China International Import Expo’

ก่อนจะเสร็จสิ้นภารกิจที่เซี่ยงไฮ้ เป็นไปตามธรรมเนียมของการเยือนต่างประเทศของรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ต้องมีการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจได้เข้าพบหารือ รวมถึงการเดินทางไปเยือนไปเคาะประตูถึงสำนักงานใหญ่บริษัทเป้าหมายที่อยากให้ไปลงทุนในประเทศไทย

และหนึ่งในนักธุรกิจที่เข้าพบรองนายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลที่คนไทยเรารู้จักกันดีคือ “หม่า หยุน” หรือ “แจ็ค หม่า” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท อาลีบาบา พร้อมคณะ ที่เข้ามาหารือถึงความคืบหน้าในการลงทุนในประเทศไทยของกลุ่มอาลีบาบา

ในการหารือครั้งนี้รองนายกรัฐมนตรีของไทยได้ขอให้ทางอาลีบาบาให้ความช่วยเหลือประเทศไทย ในประเด็นหลักที่รองนายกรัฐมนตรีเดินทางมาเยือนจีนครั้งนี้ คือ การฟื้นฟูการท่องเที่ยวของชาวจีนในประเทศไทย โดยการขอโปรโมทการท่องเที่ยวไทยผ่อนช่องทางค้าออนไลน์ของอาลีบาบาในวันที่ 11 เดือน พ.ย. หรือ 11/11 วันคนโสดจีน ที่จะมีการจัดโปรโมชั่นพิเศษ มีคนเข้ามาช็อปออนไลน์ผ่านระบบของอาลีบาบาถึง 800 ล้านคน ซึ่งปรากฏว่า แจ็ค หม่า ยินดีโปรโมทให้ฟรี

จบภารกิจที่เซี่ยงไฮ้ คณะรองนายกรัฐมนตรี สมคิด ได้มุ่งหน้าสู่กรุงปักกิ่ง เพื่อพบกับ 2 กุนซือเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน คือ“หาน เจิ้ง” รองนายกรัฐมนตรี และ “หวัง หย่ง”มนตรีแห่งรัฐ ทั้งสองท่านนี้ถือว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนอย่างมาก โดยคนแรกนั้นดูแลงานเศรษฐกิจในภาพรวม ส่วนคนหลังคุมรัฐวิสาหกิจทั้งหมด

การต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อหารือกับ “ผู้ใหญ่” ของรัฐบาลจีนนี้ สืบเนื่องมาจากที่ไทยประสบกับปัญหานักท่องเที่ยวจีนลดลงอย่างมากจากหลายปัจจัย ทั้งกรณีเหตุเรือล่มครั้งใหญ่ที่ จ.ภูเก็ต เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก กรณีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสนามบินดอนเมืองตบหน้านักท่องเที่ยวจีน รวมถึงกรณีที่เศรษฐกิจในประเทศจีนเองก็ไม่สดใสนัก

สำหรับคนไทยเราที่ส่วนใหญ่ติดตามสื่อไทยเป็นหลัก หรือหากรับข่าวต่างประเทศก็จะเป็นข่าวจากประเทศทางตะวันตกมากกว่าที่จะรับรู้ข่าวสารจากทางจีน อาจไม่รับรู้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวจีนในไทยเป็นประเด็นที่ใหญ่มากในจีน มีการแชร์คลิปเรื่องราวในทางลบเกี่ยวกับประเทศไทยในสังคมออนไลน์ของจีนอย่างกว้างขวาง สร้างความโกรธแค้นให้กับคนจีนไม่น้อย จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ไทยซึ่งพึ่งพิงการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องรีบแก้ไขปัญหา ซึ่งนอกจากการออกมาตรการต่างๆ ในประเทศแล้ว ก็ต้องขอความร่วมมือ
จากทางการจีนด้วย

ในช่วงที่รองนายกรัฐมนตรียังไม่เสร็จสิ้นภารกิจในกรุงปักกิ่ง ทางคณะได้ใช้ช่วงเวลาที่ไม่มีภารกิจออกนอกตัวเมืองไปชื่นชม “1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก” อย่างกำแพงเมืองจีนกันบ้างเล็กน้อย ผู้เขียนเองทำงานมากหลายปี มาเมืองจีนแล้วก็หลายต่อหลายครั้งนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ได้เอาเท้าขึ้นไปเดินบนกำแพงเมืองจีน

จุดที่รองนายกรัฐมนตรีนำคณะกลุ่มเล็กๆ ไปนี้ เป็นจุดที่ใกล้กรุงปักกิ่งมากที่สุด คือ ด่านจูหยงกวน กำแพงเมืองจีนจุดนี้ค่อนข้างสูงชัน กว่าจะเดินขึ้นไปถึงจุดให้กลับตัวลงทางลัดได้เล่นเอาหอบแฮกเลยทีเดียว

ได้มาเยือนแล้วก็ต้องยอมรับว่ากำแพงเมืองจีนนี่ช่างมหัศจรรย์ และยิ่งใหญ่จริงๆ ด้วยความยาวล่าสุดที่วัดเมื่อปี 2555 ระบุว่า กำแพงยักษ์ที่พาดผ่าน 9 มณฑลนี้มีความยาวถึง 21,196.18 กิโลเมตร หรือ 13,170.7 ไมล์ และที่เหลืออยู่นี้เป็นเพียง 1 ใน 3 ของกำแพงทั้งหมดที่เริ่มก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ 2,500 ปีที่แล้ว ไม่รู้ใช้กำลังแรงงานไปกี่ล้านคน ไม่รู้กี่ชีวิตที่จบลงและถูกฝังอยู่ใต้ความยิ่งใหญ่ จนได้ชื่อว่าสุสานที่ยาวที่สุดในโลกแห่งนี้

หลังจบภารกิจอย่างเป็นทางการก่อนขึ้นเครื่องกลับเมืองไทย คณะของรองนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปคำนับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจีนนับถือ ที่หอบูชาฟ้าเทียนถาน ใครที่เคยไปเที่ยวปักกิ่งคงจะเคยไปเยือนสถานที่สำคัญแห่งนี้ ที่นี่เป็นสถานที่ได้รับความเชื่อถือว่าเป็นจุดกึ่งกลางเชื่อมต่อระหว่างโลกกับสวรรค์ บุคคลที่จะขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้จะเดินทางมาประกอบพิธีบูชาฟ้า ณ ที่นี้

“ผมอธิษฐานว่า ขอให้ประเทศมีความสงบ เปลี่ยนผ่านไปสู่ทิศทางที่ดี ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรง มีพลังที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

เสร็จภารกิจสุดท้าย คณะเรามุ่งหน้าสู่สนามบินนานาชาติปักกิ่ง เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย พร้อมกับเบิกเงินค่ามัดจำกล้องที่วางไว้กับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจีนได้เสร็จสรรพเรียบร้อย