posttoday

ปราบสุนัขจรจัดห่วง'สวัสดิภาพสัตว์' กทม.ยันได้มาตรฐานทุกขั้นตอน

23 พฤศจิกายน 2561

กลุ่มคนรักสุนัขออกมาคัดค้าน กทม. ให้ทบทวนมาตรการจับสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังเห็นว่ากระบวนการทำงานมีความไม่พร้อม

โดย...เอกชัย จั่นทอง

กลุ่มคนรักสุนัขได้ออกมาคัดค้านกรุงเทพมหานคร ให้ทบทวนมาตรการจับสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการทำงานมีความไม่พร้อม ทั้งเรื่องวิธีการจับสุนัข สถานกักขังสุนัข ฯลฯ ขณะเดียวยังกังวลเรื่องของความรุนแรงในการเข้าไปจับ จากความไม่ชำนาญ ของเจ้าหน้าที่และขั้นตอนการดูแลไม่ดีเท่าที่ควร

ปัญหาสุนัขจรจัดถูกร้องเรียนมาที่ กทม. ทั้งปัญหาความปลอดภัย ตลอดจนผลข้างเคียงที่เกิดจากสุนัขจรจัด เช่น ส่งเสียงดัง สร้างความหวาดกลัว ซึ่ง กทม. ระบุว่า ในปี 2561 มีอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน 1.41 แสนตัว มีสุนัขติดเชื้อพิษสุนัขบ้ามากถึง 1,034 ตัว จากจำนวนสัตว์ติดเชื้อ 1,180 ตัว และมีคนตายจากโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ 16 ราย

โรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) กล่าวว่า รู้สึกกังวลเรื่องสถานที่ดูแลสุนัขจรจัดที่ยังไม่พร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการปรับปรุงยังไม่เสร็จสมบูรณ์ อีกทั้งการให้เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่แต่ละเขตเข้าไปจับสุนัขจรจัดถือว่าอันตรายทารุณเกินไป เพราะเจ้าหน้าที่บางคนไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการจับอย่างถูกต้อง ยกเว้นเพียงเจ้าหน้าที่ของเขตประเวศที่มีความชำนาญมากที่สุด ทำให้เกิดข้อห่วงใยเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ที่อาจเกิดขึ้นกับสุนัข วันนี้ที่สมาคมออกมาเรียกร้องไม่ใช่เรื่องโครงสร้างการดูแล แต่เป็นห่วงชีวิตของสัตว์เหล่านั้นมากกว่า

ทั้งนี้ พบข้อมูลน่าตกใจว่า กทม.ได้แจ้งต่อคณะกรรมการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่า ระหว่างปี 2558-2561 ได้จับสุนัขเข้าศูนย์ราว 4.7 หมื่นตัว แต่มีสุนัขที่มีชีวิตในสองศูนย์ คือ ศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัดฯ เขตประเวศ และศูนย์พักพิงสุนัขทัพทัน จ.อุทัยธานี รวมกันไม่ถึง 5,000 ตัว ทำให้เห็นชัดเจนว่าอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าอัตราการรอดถึง 10 เท่า สมควรที่จะสร้างหลักประกันความอยู่รอดก่อนนำชีวิตสัตว์ไปเสี่ยงเพิ่ม

โรเจอร์ ยังระบุด้วยว่า สุนัขที่ กทม.จับไปคิดเป็น 90% จะเสียชีวิต จึงอยากให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ทบทวนการสั่งให้จับสุนัขจรจัดหรือชะลอมาตรการดังกล่าวไว้ก่อน แล้วเรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาถกแก้ปัญหาด้วยกัน เข้าใจว่าผู้ว่าฯ อาจจะยังใหม่ในการทำงานตรงนี้ แต่ความจริงต้องการให้ผู้ว่าฯ ทราบปัญหาก่อนว่าแท้จริงเป็นอย่างไร

"ขอเสนอให้มีการเตรียมพร้อมเรื่องสถานที่กักขังก่อน เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องการเลี้ยงและความเป็นอยู่ของสุนัข นอกจากนี้เป็นไปได้หรือไม่ว่าให้มีกลุ่มคนรักสัตว์หรือเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในระหว่างจับสุนัขได้หรือไม่ นั่นจะทำให้เราเชื่อว่าทุกขั้นตอนการจับสุนัขจะไม่มีการทารุณกรรมสัตว์อย่างแน่นอน" โรเจอร์ เสนอทางออก

ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงโดยยืนยันว่า ศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัดของ กทม.ที่เขตประเวศไม่ได้แออัดอย่างแน่นอน และเป็นภารกิจของ กทม.เมื่อประชาชนร้องเรียนมาให้แก้ไขก็ต้องเข้าไปดูแล

เขากล่าวว่า เมื่อทาง กทม. มีการจับสุนัขมาแล้ว ขั้นตอนการดำเนินการอย่างชัดเจน สิ่งแรก คือ กักดูอาการพร้อมกับตรวจสอบว่ามีโรคติดต่อ โรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ รวมถึงเรื่องเห็บหมัดต่างๆ หลังจากสังเกตอาการของสุนัข พบว่าไม่มีโรคติดต่อ และยังไม่มีเจ้าของหรือใครมารับสุนัขกลับไป กทม.จะดำเนินการนำไปดูแลต่อที่ศูนย์พักพิงสุนัขทัพทัน จ.อุทัยธานี ซึ่งรองรับสูงสุดได้ 7,000-8,000 ตัว โดยเป็นสถานที่ปลอดโรคและมีการเลี้ยงดูแลสุนัขทั้งหมดอย่างดี

"ทุกขั้นตอน กทม.ดูแลทุกอย่างถูกต้องได้มาตรฐาน จะมีการประกาศก่อนจับทุกครั้งป้องกันการจับสุนัขที่มีเจ้าของมา ส่วนสุนัขที่มีคนให้อาหารเป็นประจำและอาศัยอยู่ตามแหล่งชุมชน หากจะไม่ให้ทาง กทม.เข้าไปจับขอให้ระบุตัวสุนัขมาให้ชัดเจน เพื่อที่ กทม.จะได้เข้ามาช่วยเหลือดูแลเรื่องการทำหมัน ขึ้นทะเบียนฉีดยาป้องกันโรคอย่างถูกต้อง เพราะเมื่อเกิดปัญหา เช่น ไปกัดคนขึ้นมามักจะไม่มีใครอ้างรับว่าเป็นเจ้าของ"

นอกจากนี้ ข้อห่วงใยจากกลุ่มคนรักสุนัขที่อยากให้มีการทำโครงการ "สุนัขชุมชน" ทาง กทม.ยินดีให้ความช่วยเหลือ ทั้งการเข้าไปทำบัญชีขึ้นทะเบียนสุนัขให้ถูกต้อง การฉีดยา ทำหมัน และถ้าสุนัขมีจำนวนมากไปสามารถประสานมาที่ กทม.ให้ดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือกันได้ แตกต่างกับสุนัขจรจัดในต่างประเทศที่มีมาตรการชัดเจน หากสุนัขไม่มีเจ้าของตามระยะเวลากำหนดในต่างประเทศเขาทำลายทิ้งทันที

"สิ่งสำคัญเราต้องสร้างความตระหนักในเรื่องเหล่านี้อย่างถูกต้อง ยืนยันทาง กทม.ไม่เคยมีมาตรการทารุณกรรมสัตว์อย่างแน่นอน ตั้งแต่การจับสุนัข การขนย้าย การดูแล ทุกอย่างเราดูแลอย่างดีทั้งหมด ซึ่งถ้ามีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับเรื่องสุนัขจรจัดเราก็ต้องเข้าไปแก้ไขตามหน้าที่" รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุ


บรรยายภาพ -  สุนัขจรจัดที่ศูนย์พักพิงอุทัยธานี ที่ กทม. ดูแลอยู่ พื้นที่ 200 ไร่ ปัจจุบันมีสุนัขอยู่ 4,871 ตัว