posttoday

"ประธานเครือข่ายยาง"เสนอนายกฯใช้ม.44แก้ปัญหาราคาตกต่ำ

20 พฤศจิกายน 2561

"ประธานเครือข่ายยาง"เสนอนายกฯใช้ม.44แก้ปัญหาราคาตกต่ำสั่งอปท.ทั่วประเทศทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์ชี้ตั้งงบชดเชย2หมื่นล.เอื้อนายทุน-ชาวสวนยางไม่ได้ประโยชน์

"ประธานเครือข่ายยาง"เสนอนายกฯใช้ม.44แก้ปัญหาราคาตกต่ำสั่งอปท.ทั่วประเทศทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์ชี้ตั้งงบชดเชย2หมื่นล.เอื้อนายทุน-ชาวสวนยางไม่ได้ประโยชน์

 วันที่ 20 พ.ย. นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวถึงปัญหาราคายางตกต่ำว่า ขณะนี้ปัญหาราคายางต่ำมาก 3 กิโลกรัมไม่ถึง 1 ร้อยบาท ไม่เคยปรากฏหมายก่อนเลย สมัยก่อนเมื่อปี 2508 ราคายางกิโลกรัมละ 14 บาท ข้าวแกงจานละ 1.5 บาท น้ำมันลิตรละ 2 บาท แต่วันนี้ข้าวแกงจานละ 40 บาท แต่ยางกิโลกรัมละ 32 บาทไม่สามารถซื้อข้าวแกง แล้วกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก้ปัญหาด้วยการถามผู้แทนเกษตรกร ขอให้หยุดกรีดยาง 1 เดือนแล้วให้ค่าชดเชย 1,500บาทต่อไร้ต่อเดือน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะหากหยุดกรีดยางก็จะไม่มีรายได้

นายอุทัย กล่าวว่า   จากการพูดคุยกับสมาชิก สยยท. มีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยให้รัฐบาล ช่วยเกษตรกรโดยตรงในกิโลกรัมละ 60 บาท เพราะตอนนี้ต้นทุนอยู่ที่ 63.65บาท แล้วให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์ หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้ยางพารากิโลเมตรละ 3 ตัน(เนื้อยางแห้ง) เป็นราคา 1.8 แสนบาท จะได้ถนนยางพาราซอยซีเมนต์ 84,000 กิโลเมตร จะดูดทรัพย์น้ำยางออกจากตลาด 252,000 ตัน ใช้เงิน 15,120 ล้านบาท จะทำให้เกิดการขายจริง เกษตรกรได้ขายยางของตัวเองโดยไม่ต้องไปผ่านนายหน้า ทำแบบนี้แล้วตลาดล่วงหน้าจะสั่นคลอนพ่อค้าคนกลางก็จะดิ้นหาซื้อยางกันทำให้ราคาสูงขึ้นสุดท้ายประชาชนจะได้รับประโยชน์โดยตรง แต่ถ้า นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  จะใช้แนวทางชดเชยที่เสนอมาซึ่งต้องใช้เงินถึง 20,000 ล้านบาท จะเป็นวิธีเก่าที่เงินจะไปตกที่นายทุนแล้วเกษตรกรจะไม่ได้อะไรเลย