posttoday

ชี้ตำรับยาไทยมีกัญชาเป็นส่วนผสมมานานกว่า300ปี

18 พฤศจิกายน 2561

มูลนิธิชีววิถีเผยตำราพระโอสถพระนารายณ์อายุเก่าแก่กว่า 300 ปีมีกัญชาเป็นส่วนผสม ชี้การให้จดสิทธิบัตรกัญชาเป็นความล้มเหลวในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น

มูลนิธิชีววิถีเผยตำราพระโอสถพระนารายณ์อายุเก่าแก่กว่า 300 ปีมีกัญชาเป็นส่วนผสม ชี้การให้จดสิทธิบัตรกัญชาเป็นความล้มเหลวในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น

มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตำรับยาโบราณของไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม โดยระบุว่า ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้รวบรวมตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมพบว่ามีมากถึง 93 ตำรับ รวมทั้งตำราพระโอสถพระนารายณ์ ซึ่งมีอายุเก่าแก่มานานกว่า 300 ปี

ตัวอย่างเช่น ยาขนานที่ 43 ชื่อทิพกาศ “ทิพกาศ เอา ยาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร 4 ส่วน ฝิ่น 8 ส่วน ใบกัญชา 16 ส่วน สุราเปนกระสาย บดทำแท่ง น้ำกระสายใช้ให้ชอบโรคร้อนแลเย็น กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสาย กินข้าวมิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแล ฯ”

หรือยาขนานที่ 44 ชื่อยาสุขไสยาศน์ “สุขไสยาศน์ เอาการบูรส่วน 1 ใบสะเดา 2 ส่วน สหัศคุณเทศ 3 ส่วน สมุลแว้ง 4 ส่วน เทียนดำ 5 ส่วน โกฏกระดูก 6 ส่วน ลูกจันทน์ 7 ส่วน ดอกบุนนาค 8 ส่วน พริกไทย 9 ส่วน ขิงแห้ง 10 ส่วน ดีปลี 11 ส่วน ใบกัญชา 12 ส่วน ทำเป็นจุณละลายน้ำผึ้ง เมื่อจะกินเสกด้วยสัพพีติโย 3 จบ แล้วกินพอควร แก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลังกินเข้าได้นอนเป็นศุขนักแล ฯ”

ทั้งนี้รวมถึงตำรับยาอื่นๆและสูตรยาจากกัญชาจากหมอพื้นบ้านที่ใช้ในการักษาโรคต่างๆ เช่น ระงับปวด ลมชัก อาการทางประสาทต่างๆ เป็นต้น

รัฐบาลอินเดียได้ใช้ตำราอายุรเวทตลอดจนการบันทึกความรู้จากท้องถิ่นดังกล่าวในการต่อสู้คัดค้านการขอรับสิทธิบัตรในต่างประเทศ ดังในกรณี สิทธิบัตรขมิ้นชันเพื่อรักษาบาดแผล และสิทธิบัตรสะเดาสำหรับการใช้ควบคุมแมลง เป็นต้น

ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศต่างๆทั่วโลกเป็นภาคี (ยกเว้นสหรัฐอเมริกา) มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการต้องขออนุญาตในการเข้าถึง และแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรมจากทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น กฎหมายสิทธิบัตรของหลายประเทศได้กำหนดให้ผู้ยื่นขอสิทธิบัตรต้องแสดงที่มาของพันธุ์พืช และความรู้ของท้องถิ่น เป็นเงื่อนไขหนึ่งของการขอรับสิทธิบัตร ตัวอย่างเช่น กฎหมายสิทธิบัตรของสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และจีน เป็นต้น

แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย กลับละเลยการปกป้องทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งๆที่เป็นส่วนหนึ่งของกติการะหว่างประเทศ ทั้งๆที่สิ่งนี้จะเป็นเครื่องมืออย่างสำคัญในการปฏิเสธสิทธิบัตรที่มิชอบ และ/หรือการสร้างเงื่อนไขให้บริษัทที่จดสิทธิบัตรซึ่งพัฒนาจากความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้องเจรจาก่อนหน้าที่จะให้การคุ้มครองการประดิษฐ์ก่อน เป็นต้น