posttoday

พลิกฟื้น"คลองโอ่งอ่าง" ประเดิมเทศกาลลอยกระทง

18 พฤศจิกายน 2561

"คลองโอ่งอ่าง" คลองเก่าแก่ของเมืองกรุงได้ถูกปรับปรุงยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมของย่านประวัติศาสตร์และโบราณสถาน

"คลองโอ่งอ่าง" คลองเก่าแก่ของเมืองกรุงได้ถูกปรับปรุงยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมของย่านประวัติศาสตร์และโบราณสถาน

**********************************

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

กว่า 30 ปีที่คนกรุงเทพมหานคร (กทม.) น้อยคนจะรู้จักชื่อของ “คลองโอ่งอ่าง” ว่าคือสถานที่ใด อยู่ที่ไหนใน กทม. แต่หากเรียกว่า “สะพานเหล็ก” อาจทำให้หลายคนถึงบางอ้อได้ไม่ยาก เพราะสถานที่แห่งนี้ถูกรุกล้ำกีดขวางมานาน กระทั่งรัฐบาลและ กทม.ได้มีนโยบายรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางน้ำออกไปจนหมด

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า คลองโอ่งอ่างถูกขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 กว้างประมาณ 20 เมตร ยาว 2 กิโลเมตร เชื่อมคลองบางลำพู บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ สิ้นสุดที่เชิงสะพานพระปกเกล้า ก่อนระบายน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 29 เม.ย. 2519 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนคลองโอ่งอ่างเป็นโบราณสถาน ต่อมาวันที่ 21 พ.ค. 2540 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกำหนดแนวคิดการอนุรักษ์และพัฒนาคลองโอ่งอ่าง ด้วยการจัดระเบียบ ปรับปรุงสะพานหันที่มีรูปลักษณ์เป็นสะพานสมัยรัชกาลที่ 5 ส่งเสริมให้เป็นสถานที่พักผ่อนของชุมชน

กระทั่งปี 2558 คณะกรรมการอนุรักษ์ฯ ให้ กทม.รื้อถอนอาคารและแผงร้านค้าที่รุกล้ำคลองโอ่งอ่าง มีประมาณ 500 แผง อยู่ในเขตพระนคร 375 แผง และเขตสัมพันธวงศ์ 125 แผง เนื่องจากเกิดความสกปรกสะสมเชื้อโรค ขวางทางน้ำและการระบายน้ำ อีกทั้งยังมีการก่อสร้างอาคารทับเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำให้แนวเขื่อนได้รับความเสียหาย ถ้าหากเกิดอัคคีภัยหรือภัยพิบัติจะทำให้กีดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอิทธิพล มาเฟีย หรือผู้มีผลประโยชน์หนุนหลังผู้ค้า รวมถึงมีการจ้างแรงงานชาวต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง มีผลต่อความมั่นคงของชาติ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดระเบียบ

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า หลังรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแล้ว ต่อไปคือการบูรณะพื้นที่โดยก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ท่อระบบสาธารณูปโภค และระบบระบายน้ำเพื่อรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ ก่อนปล่อยออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียได้วันละ 4 หมื่นลูกบาศก์เมตร/วัน

นอกจากนี้ ยังปรับปรุงสะพานข้ามคลองโบราณ ได้แก่ สะพานดำรงสถิต สะพานหัน สะพานบพิตรภิมุข และสะพานโอสถานนท์ ให้คงรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม และติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม 46 ตัว ดูแลความปลอดภัย ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สะอาด โดยจัดทำราวกันตก ไฟฟ้าส่องสว่าง ปูกระเบื้องดินเผา เสริมด้วยการปลูกต้นไม้ อาทิ ต้นกระดุมทอง เสลา ไทรเกาหลี ฯลฯ

พลิกฟื้น"คลองโอ่งอ่าง" ประเดิมเทศกาลลอยกระทง

“งานทั้งหมด กทม.ว่าจ้างบริษัท พี วาย เอส คอนสตรัคชั่น รวมงบประมาณปรับปรุงเนื้องานทั้งหมด 275 ล้านบาท เป็นงบอุดหนุนรัฐบาล โดยเริ่มก่อสร้างวันที่ 9 มิ.ย. 2561 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 3 มิ.ย. 2562 ขณะเดียวกัน กทม.ยังขุดลอกคูคลองให้ลึกขึ้น จากเดิมมีความลึก 1.80 เมตร เป็น 3.40 เมตร พร้อมควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ทั้งนี้กรมศิลปากรต้องการให้อนุรักษ์สภาพพื้นคลองให้เป็นดินเหมือนอดีตที่ผ่านมา งานก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงไม่มีการทำดาดท้องคลอง ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าเร็วกว่าแผนงานที่วางไว้” จักกพันธุ์ กล่าว

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า “กทม.กำชับให้ผู้รับจ้างก่อสร้างให้แล้วเสร็จก่อนเทศกาลลอยกระทง เพื่อให้ สอดคล้องกับนโยบายของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ที่มอบหมายให้เร่งรัดงานก่อสร้างช่วงแรก ตั้งแต่บริเวณสะพานดำรงสถิตถึงสะพานภาณุพันธ์ ความยาว 250 เมตร รวมตลอดสองฝั่งคลอง 500 เมตร เพื่อใช้พื้นที่จัดเทศกาลลอยกระทงในวันที่ 22 พ.ย. คาดว่าทุกอย่างจะเสร็จตามสัญญาก่อสร้าง” จักกพันธุ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการต้อนรับคลองโอ่งอ่างที่ได้ถูกยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมของย่านประวัติศาสตร์และโบราณสถานที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ กทม. จึงใช้โอกาสเทศกาลวันลอยกระทงจัดงาน “ประดิษฐ์กระทง นุ่งไทย ไหว้พระแม่คงคา” กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การแสดงทางวัฒนธรรม การประกวดหนูน้อยนพมาศ การประดิษฐ์กระทง การจัดซุ้มถ่ายภาพย้อนยุค งานศิลปะวาดภาพ

ขณะที่สำนักงานเขตที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ อยู่ระหว่างการออกแบบสถานที่จัดงาน โดยเบื้องต้นจะจัดเวทีกิจกรรมบริเวณสะพานดำรงสถิตคร่อมคลองโอ่งอ่าง รวมถึงเปิดพื้นที่ชั่วคราวให้ผู้ค้าเข้ามาจำหน่ายสินค้าของดี 50 เขต คาดสามารถรองรับประชาชนได้ อย่างน้อยไม่เกิน 5,000 คน

ทั้งนี้ สำนักการจราจรและขนส่ง จะนำเรือไม้หรือเรืออีแปะติดเครื่องยนต์ท้ายลำขนาด 30 แรงม้า 2 จังหวะ จำนวน 4 ลำ ซึ่งมีความยาว 7 เมตร ความกว้าง 1.8 เมตร และสูง 0.75 เมตร รองรับผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 10 ที่นั่ง มาทดลองให้บริการเป็นเรือท่องเที่ยวภายในคลองโอ่งอ่างด้วย

พลิกฟื้น"คลองโอ่งอ่าง" ประเดิมเทศกาลลอยกระทง

จักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า นับเป็นตัวอย่างของการทวงคืนพื้นที่สาธาณะ ก่อให้เกิดการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ส่วนร่วม โดยในอนาคตจะพัฒนาคลองโอ่งอ่างแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและถนนคนเดินที่มีอัตลักษณ์ ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณสองฝั่งคลองจะได้มีอาชีพ เป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชน เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวจะได้เห็นความสะอาดตา ความสวยงามของทัศนียภาพของริมคลองโอ่งอ่างแห่งนี้ เพื่อให้สมกับชื่อ “เวนิสตะวันออก”