posttoday

นางแบบฟ้องแบงก์หลังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงินสูญเกือบ 2 ล้าน

15 พฤศจิกายน 2561

"นางแบบสาว" ฟ้องแพ่งธนาคาร ไม่แจ้งมีธุรกรรมผิดปกติในบัญชี หลังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โอนเงินหาย 1.6 ล้าน ศาลนัดไกล่เกลี่ย ก.พ.ปีหน้า 

"นางแบบสาว" ฟ้องแพ่งธนาคาร ไม่แจ้งมีธุรกรรมผิดปกติในบัญชี หลังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โอนเงินหาย 1.6 ล้าน ศาลนัดไกล่เกลี่ย ก.พ.ปีหน้า 

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา น.ส.ธนิตา นางแบบ-นักแสดงอิสระ เดินทางมาพร้อม นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้อง ธนาคารดังแห่งหนึ่ง และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแห่งหนึ่ง เป็นจำเลยที่ 1-2 ต่อแผนกคดีผู้บริโภค ในความผิดเรื่ิองกระทำละเมิด , เรียกทรัพย์คืน ภายหลังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่แอบอ้างใช้รหัสยืนยันตัวโอนเงินออกจากบัญชีผ่านแอพลิเคชั่นของธนาคารจนโจทก์สูญเงินจากบัญชีไปนับล้านบาทจึงให้จำเลยชดใช้ เงินจำนวน 1,670,200 บาทของโจทก์ที่สูญเสียไป พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี (เงินรวมดอกเบี้ยทั้งสิ้น 1,780,830 บาท)

โดยศาลรับฟ้องคดีไว้ และนัดเจรจาไกล่เกลี่ยคู่ความวันที่ 16 ก.พ.62 เวลา 09.00 น.

นางแบบอิสระสาว  เล่าย้อนเหตุการณ์ให้ฟังว่า เรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปลาย 2560 โดยตนถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์มาหลอกว่า ตนถูกดำเนินคดีกู้เงินไปซื้อที่ดิน ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อนหลอกพูดคุยเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน จนถามรหัสยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้แอพลิเคชั่นธนาคารทางโทรศัพท์ โดยภายหลังจึงทราบว่าเงินในบัญชีของตนที่ฝากไว้กับธนาคารดังกล่าวถูกโอนไปทั้งหมด 50 ครั้ง ในระยะเวลาเพียง 9 วัน เมื่อสอบถามไปยังธนาคารกลับไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ จึงออกมาฟ้องศาลในวันนี้

"ในฐานะประชาชนผู้ใช้บริการ อยากให้ธนาคารมีวิธีป้องกันที่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะหากพบว่ามีการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ ควรต้องรีบแจ้งหรือตรวจสอบกับเจ้าของบัญชี เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งทุกครั้งที่มีการเข้าระบบเพื่อทำธุรกรรม ควรมีข้อความหรืออีเมลแจ้งมายังเจ้าของบัญชี แต่กรณีนี้กลับไม่มีการดำเนินการใดๆเลย กระทั่งตนมาตรวจสอบบัญชีเองจึงทราบเรื่องและสูญเงินจำนวนมหาศาลไปแล้ว"นางแบบสาวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค.49 โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กับธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาเอกมัย พร้อมเปิดบัตรเอทีเอ็ม ต่อมาวันที่ 26 มิ.ย.50 โจทก์เปิดใช้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนเปิด กับจำเลยที่ 2   ที่สาขาเหม่งจ๋าย แล้ววันที่ 14 ก.ย.57 ก็ได้เปิดใช้บริการซื้อขายหน่วยลงทุน และกองทุนตราสารหนี้กับจำเลยที่ 2  ที่สาขาเซ็นทรัลพระรามเก้า และเมื่อวันที่ 29  มิ.ย.59  โจทก์เปิดบัญชีออมทรัพย์กับจำเลยที่ 1 สาขาบิ๊กซีรัชดาภิเษก เอาไว้  แต่แล้วในเดือน ธ.ค.60 มีกลุ่มคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้หลอกลวงเอาข้อมูลของโจทก์ เช่นหมายเลขบัตรประชาชน , ข้อมูล ATM , รหัส OTP แล้วสมัครอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ผ่านแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนของคนร้าย แล้วเข้าทำธุรกรรมทางการเงินกับจำเลยโดยช่องทางแอพพลิเคชั่น

คนร้ายได้โอนเงินโจทก์ออกจากบัญชีไปรวม 50 ครั้ง ระหว่างวันที่  27 ธ.ค.60 - 4 ม.ค.61 ครั้งละ 10,000  - 373,000 บาท รวม 1,670,200 บาท ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ตรวจสอบ รักษาความมั่นคงปลอดภัยควบคุมการเข้าถึงข้อมูล แต่กลับไม่แจ้งเตือน ไม่ตรวจสอบ ภายหลังมาทราบภายหลังจึงแก้ไขระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง การกระทำของจำเลยในฐานะผู้รับฝากเงิน ควรใช้ความระมัดระวังตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูล แต่จำเลยกลับไม่ได้ระมัดระวังทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ที่เงินในบัญชีถูกโอนออกไป

ภาพจาก อสมท.