posttoday

เตือน 15-17 พ.ย. ภาคใต้เจอฝนหนักอีกรอบ

12 พฤศจิกายน 2561

สำนักทรัพยากรน้ำฯ เตือนช่วง 15-17 พ.ย.ภาคใต้มีฝนเพิ่มและฝนตกหนักมากบางแห่ง

สำนักทรัพยากรน้ำฯ เตือนช่วง 15-17 พ.ย.ภาคใต้มีฝนเพิ่มและฝนตกหนักมากบางแห่ง

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แถลงว่า วันที่ 15-17 พ.ย. 61 ภาคใต้ จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไปบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช แต่ปริมาณฝนไม่มากเหมือนช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนวันที่ 18-19 พ.ย. 61 อาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดฝนและลมแรง ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ชุมพร ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย คลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก ไม่มีระดับน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง

ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สทนช.วิเคราะห์แล้ว พบว่า พื้นที่เสี่ยงได้อาจจะรับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งปี 2561/62 แบ่งเป็น 1.พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ปี 2561/62 เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งพิจารณาการมีทั้งสิ้น 11 จังหวัด 27 อำเภอ 71 ตำบล ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และศรีสะเกษ และ 2. พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยพิจารณาจากพื้นที่ที่มีปริมาณฝนสะสมในช่วง 1 ม.ค.-31 ต.ค.61 น้อยกว่า 20 % ของค่าเฉลี่ย รายภาค ยกเว้นพื้นที่ในเขตชลประทาน พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ลำปาง สุราษฎร์ธานี และหนองบัวลำภู

ขณะที่แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี2561/62 ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน ข้าวนาปรังปี 61/62 ประมาณ 8.3 ล้านไร่ ซึ่งได้มีการปรับลดพื้นที่ลงจากปี 60/61 จำนวน 4.5 แสนไร่ พืชไร่พืชผักอื่นๆ 6 แสนไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.7 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน 5.6 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรังปี61/62 จำนวน 3.3 ล้านไร่ พืชไร่พืชผักอื่นๆ 1.4 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 8 แสนไร่

ทั้งนี้เตรียมทำบัญชีแหล่งน้ำ พร้อมติดตามแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ผลการเพาะปลูกพืชจริงตามแผนการจัดสรรน้ำ โดยแยกเป็นรายลุ่มน้ำประกอบด้วย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำชี-มูล ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำภาคตะวันออก เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในวันที่ 19 พ.ย. 61 ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการตั้งคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ (Rule Curve) สำหรับอ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ใน 2 กรณี ได้แก่ 1) น้ำมาก น้ำปานกลาง และน้ำน้อย และ 2) น้ำวิกฤติ โดยให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการน้ำที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปและวัตถุประสงค์ของการจัดสรรน้ำ ในรูปแบบเกณฑ์การควบคุมที่เหมาะสมตามสถานการณ์ และเกณฑ์การควบคุมตามสภาวะปกติ