posttoday

สทนช.เตือนใต้ตอนล่าง 11 – 14 พ.ย.เฝ้าระวังฝนตกหนัก

10 พฤศจิกายน 2561

สทนช.ให้ทุกหน่วยเร่งระบายน้ำท่วมลดผลกระทบพื้นที่ เพชรบุรี ประจวบฯ ชุมพร คาดฝนจะเริ่มลดลงตั้งแต่วันพรุ่งนี้

สทนช.ให้ทุกหน่วยเร่งระบายน้ำท่วมลดผลกระทบพื้นที่ เพชรบุรี ประจวบฯ ชุมพร คาดฝนจะเริ่มลดลงตั้งแต่วันพรุ่งนี้

นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ซึ่งขณะนี้ปกคลุมทะเลอันดามัน ส่งผลให้เกิดฝนหนักมากบริเวณโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก และมีฝนตกหนักมากในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และเพชรบุรี ปริมาณฝนสะสมย้อนหลัง 3 วัน ได้แก่ ชุมพร  462 มม. ประจวบคีรีขันธ์ 406 มม. และเพชรบุรี 124.5 มม. ซึ่งปริมาณฝนสะสมต่อเนื่องส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งต่ำบริเวณปากแม่น้ำเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ได้แก่ จ.เพชรบุรี น้ำท่วมขัง บริเวณ 2 อำเภอ 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เมืองฯ และชะอำ ถนนหลายสายในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีถูกน้ำท่วมขัง  ขณะนี้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จ.ประจวบคีรีขันธ์  น้ำล้นตลิ่ง จากคลองขนาน แม่น้ำบางสะพาน ส่งผลเกิดน้ำท่วมขัง ในพื้นที่  3 อำเภอ 12 ตำบล 78 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.บางสะพาน บางสะพานน้อย  และ อ.ทับสะแก ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 3,500 ครัวเรือน 10,000 คน อ.บางสะพานประกาศ ปิดโรงเรียน จำนวน 11 แห่ง ขณะที่ จ.ชุมพร เกิดน้ำท่วมขังบริเวณ 7 อำเภอ 45 ตำบล 267 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.ปะทิว สวี ท่าตะโก รับร่อ ละแม หลังสวน และ อ.เมืองชุมพร ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,427 ครัวเรือน 5,210 คน เสียชีวิต 1 ราย สูญหาย 1 ราย โรงเรือน 1 หลัง ถนน 260 สาย สะพาน 10 แห่ง ฝาย 10 แห่ง ประปา 3 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ท่อระบายน้ำ 20 แห่ง นา 170 ไร่สวน 1,958 ไร่ พืชไร่ 107 ไร่ บ่อปลา 8 บ่อ

สำหรับปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากในพื้นที่ 4 จังหวัด สูงสุดที่ อ.บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ 182 มม. อ.นบพิตำ นครศรีธรรมราช 173 มม. อ.ปะทิว จ.ชุมพร 145 มม. และ อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี 144 มม. ตามลำดับ ซึ่งในวันนี้ (10 พ.ย.) จะยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต โดยเฉพาะในพื้นที่เดิมที่มีน้ำท่วมขัง และต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  ซึ่งจากการติดตามระดับน้ำในแม่น้ำสำคัญๆ ใน 3 จังหวัดที่มีปริมาณฝนตกต่อเนื่องและประสบปัญหาน้ำท่วมขณะนี้ ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในพื้นที่ลุ่มต่ำใกล้ปากอ่าวไทย บริเวณบ้านท่ามะนาว บ้านล่าง (กลางนา) พบว่า ระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จ.นครศรีธรรมราช คลองท่าดี บ้านนาป่า อ.เมืองนครศรีธรรมราช ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ 10.66 ม. ต่ำกว่าตลิ่ง 0.14 ม. โดยระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องชั่วโมงละ 4 ซม. ขณะที่ จ.ชุมพร สถานีสะพานเทศบาล 2 คลองท่าตะเภา อ.เมืองชุมพร ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ 3.54 ม. ต่ำกว่าตลิ่ง 0.26 ม. ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องชั่วโมงละ 4 ซม.เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยทหาร ได้เร่งการระบายน้ำ ผลักดันออกสู่ทะเลโดยเร็วอย่างต่อเนื่องแล้ว ตามข้อสั่งการของพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ลงพื้นที่ติดตามแผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยภาคใต้ ณ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเน้นย้ำแผนงานมาตรการของทุกหน่วยงานในการตามแผนเตรียมการรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ที่เสี่ยงน้ำท่วมเป็นประจำ 16 จังหวัดของภาคใต้ ทั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เรือ รถแทรกเตอร์ รถขุด และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ เพื่อระบายน้ำ การอพยพประชาชน และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรเป็นการเร่งด่วน แต่ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 11-14 พ.ย. 61 ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ภาคใต้มีฝนกระจายทั่วไป แต่จะมีฝนหนักบางแห่งในบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ซึ่ง สทนช.ยังคงติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อากาศ และปริมาณฝนจาก กรมอุตุนิยมวิทยา และสสนก. เพื่อประสานหน่วยงานในพื้นที่แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงกำชับทุกหน่วยงานเร่งสำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำระยะที่สองโดยเร่งด่วนเพื่อให้การระบายน้ำในพื้นที่ออกสู่ทะเลรวดเร็วขึ้น

นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว พบว่า อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 90% ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ วันละ 2.70 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายวันละ 3.46 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ในช่วง 1-2 วัน มีแนวโน้มคงเดิม ขณะที่อ่างเก็บน้ำปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 83% ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ วันละ 3.83 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายวันละ 2.36 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ในช่วง 1-2 วัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ และยังรองรับปริมาณฝนที่ตกมาในพื้นที่ในช่วงนี้ได้อยู่
 ทั้งนี้ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้าขณะนี้ สทนช.ได้กำหนดจัดให้มีการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครั้งที่ 10/2561 ในวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2561  ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำในภาคใต้ การบรรเทาผลกระทบในพื้นที่เป็นการเร่งด่วน ซึ่งรองนายกฯ พลเอกฉัตรชัย มีข้อห่วงใยต่อสถานการ์อุทกภัยทางภาคใต้ รวมถึงแผนเตรียมการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2561/2562 ด้วย สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว สทนช ได้เร่งบูรณาการแผนงานเชิงพื้นที่ทั้งระบบ (Area Based) เนื่องจากพื้นที่ อ.บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี และ จ.ชุมพร อยู่ในร่างแผนแม่บทน้ำที่กำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนแล้ว