posttoday

ยูแอลเสนอรัฐ ยกระดับความปลอดภัย

08 พฤศจิกายน 2561

การเก็บข้อมูลทางสถิติของยูแอล ตั้งแต่ อุบัติเหตุไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ พบไทยมีอัตราการบาดเจ็บ-เสียชีวิตจากการจมน้ำระดับสูงและรัฐบาลไทยได้มีการแก้ไขส่งผลให้มีอัตราที่ลดลง

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

การเก็บสถิติด้านมาตรฐานความ ปลอดภัยของสภาพแวดล้อมการใช้ ชีวิตและสภาพแวดล้อมการทำงานของผู้คนในเมือง, รัฐ หรือประเทศต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหาผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ซึ่งใช้วิธีการคำนวณทางวิทยาศาสตร์และแปรค่าออกมาเป็นค่าเฉลี่ยทางเรขาคณิตเพื่อสะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมของ ประเทศนั้นๆ

เดวิด วร็อธ ผู้อำนวยการแผนกวิทยาศาสตร์ข้อมูลของ อันเดอร์ไรเตอร์ แลบอราทอรี่ส์ (ยูแอล) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและทำงานเพื่อยกระดับความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง และสวัสดิภาพของประชาชนด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านการบาดเจ็บจากการเดินทาง ซึ่งในแต่ละวันการบาดเจ็บจากการเดินทางสูงกว่า 5 เท่าของการบาดเจ็บจากการกระทำที่ไม่ได้ตั้งใจ

ทั้งนี้ การเก็บข้อมูลทางสถิติขององค์กรครอบคลุมในทุกด้านตั้งแต่ อุบัติเหตุไปจนกระทั่งภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งที่ผ่านมาในประเทศไทยมีอัตราการ บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำอยู่ในระดับที่สูงและรัฐบาลประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงประเด็นดังกล่าวซึ่งได้มีการแก้ไขส่งผลให้มีอัตราที่ลดลงมา โดยองค์กรอยากเสนอให้รัฐบาลนำโมเดลดังกล่าวไปปรับใช้กับปัญหาการบาดเจ็บจากการเดินทาง ซึ่งควรมีการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจังโดยผู้มีอำนาจทั้งในแง่ของการคาดเข็มขัดนิรภัย และการสวมหมวกกันน็อก เป็นต้น

นอกจากนั้น ในการประชุมขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการหยิบยกประเด็นด้านความปลอดภัยบนท้องถนนขึ้นมา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาด้านดังกล่าว และในวันที่ 9 พ.ย. 2561 องค์กรจะมีการจัดการประชุมซึ่งร่วมกับหน่วยงานรัฐ, องค์กรภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (เอ็นจีโอ) จำนวนกว่า 80 คน เข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนและให้ความรู้ รวมถึงการเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในการลดอุบัติเหตุในประเทศไทย

ขณะที่บริษัทจะนำเสนอแผนแม่บทมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศไทยไปสู่ระดับสากล และการสร้างยุทธศาสตร์ชาติในการร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการช่วยลดอุบัติเหตุ อาทิ การปลูกฝังความรู้ให้กับเยาวชน, การให้กลุ่มองค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรมจัดอบรมด้านความปลอดภัยบนท้องถนนเพื่อลดปัญหาด้านดังกล่าวได้อย่างตรงจุด

"จากแนวโน้มความร่วมมือในการตอบรับเข้าร่วมประชุมของทุกฝ่าย สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางที่ดีของการตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยจะต้องมีการติดตามผลระยะยาวในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า" วร็อธ กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม องค์กรมีการจัดเก็บข้อมูลใน 187 ประเทศทั่วโลก โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ธนาคารโลก, สหประชาชาติ, สภาเศรษฐกิจโลก, องค์กรผู้บริโภคสากล และองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกทั้งในด้านภูมิศาสตร์, มูลค่าจีดีพีต่อหัว, ระดับการศึกษา ประสิทธิภาพของรัฐ และเทคโนโลยี สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมและปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศต่างๆ ซึ่งดัชนีดังกล่าวถูกเผยแพร่อย่างสาธารณะเพื่อให้ทุกฝ่ายนำไปปรับปรุงด้านความปลอดภัย