posttoday

มติทปอ.เสนอ "ป.ป.ช." ทบทวนข้อกำหนดให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นทรัพย์สิน

07 พฤศจิกายน 2561

ทอป.มีมติเสนให้ป.ป.ช.ทบทวนข้อกำหนดให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ชี้ ไม่มีความจำเป็นเพราะไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง

ทอป.มีมติเสนให้ป.ป.ช.ทบทวนข้อกำหนดให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ชี้ ไม่มีความจำเป็นเพราะไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีการประชุมหารือกรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกาศกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 กำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.

ที่ประชุมอธิการบดี ได้มีมติเห็นควรเสนอให้ กรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาทบทวนข้อกำหนดในประกาศฉบับดังกล่าวให้มีความเหมาะสมกับการบริหารงานของมหาวิทยาลับย เนื่องจากการที่กำหนดให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านวิชาการเป็นหลักต้องยื่นทรัพย์สินด้วยนั้นไม่มีความจำเป็น เพราะกรรมการสภามหาวิทยาลัย มิได้มีอำนาจเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐโดยตรง อันอาจจะทำให้เกิดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ จึงไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารหรือเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร

ผลกระทบจากประกาศดังกล่าวทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยบางแห่งไม่ประสงค์จะปฎิบัติหน้าที่ต่อ เนื่องจากแม้การยื่นบัญชีทรัพย์สินจะเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจตามหลักการตรวจสอบเพื่อธรรมาภิบาล แต่สร้างภาระแก่ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินมากเกินควร รวมทั้งจำเป็นต้องยื่นทรัพย์สินของคู่สมรสและบุตรที่เป็นผู้เยาว์อีกด้วย ขณะที่ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศเพียง 60 วัน จึงไม่เพียงพอต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ถูกต้อง ครบถ้วนได้ หากยื่นบัญชีผิดพลาดแม้มิได้เจตนา ก็อาจมีโทษทางอาญาได้

การยื่นใบลาออกจากตำแหน่งของ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ทำให้สภามหาวิทยาลัยบางแห่งได้รับผลกระทบมีกรรมการสภาไม่ครบองค์ประชุม จึงไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ อันจะทำให้เกิดผลเสียต่อการบริหารงานของมหาวิทยาลัย