posttoday

ครูเข้มแข็ง เด็กไทยแข็งแกร่ง

27 ตุลาคม 2561

เรื่อง : พรเทพ เฮง [email protected]

เรื่อง : พรเทพ เฮง
[email protected]

 

การศึกษาในเมืองไทยเท่าที่ผ่านมา พอประมวลปัญหาที่เกิดขึ้นได้คร่าวๆ ก็คือ เด็กมีพื้นฐานความรู้ไม่เท่ากัน แต่ต้องเรียนบนมาตรฐานที่ครู/โรงเรียนกำหนด เด็กมีความสามารถในการเรียนแตกต่างกัน เด็กมีความถนัดที่ไม่เหมือนกัน การประเมินผลไม่คำนึงถึงความแตกต่างดังกล่าว แค่เอาเกณฑ์มาตรฐานวัด

ผลลัพธ์ก็คือ เด็กส่วนมากได้กลายเป็นปัญหาของครู พ่อแม่ผู้ปกครอง และสังคมในที่สุด เพราะไม่ได้มาตรฐานของการศึกษาที่ยังล้าหลังแบบเก่า

ครูและการจัดระบบการศึกษายุคใหม่ที่ต้องเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อเด็กไทยในรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อๆ ไป

หยิบเอาการนำเสนอของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่บอกว่า การจัดการเรียนรู้ในยุคใหม่นั้น การมีจิตวิญญาณของความเป็นครูเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอเสียแล้ว ครูจำเป็นต้องมีทักษะและคุณสมบัติเพิ่มอีก 3 ข้อด้วยกันคือ 1.ครูต้องเข้าใจพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กและเข้าใจว่าการเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นอย่างไร 2.ครูต้องมีทักษะในการสอนแบบใหม่เพื่อให้เด็กมีทักษะในศตวรรษที่ 21 และ 3.มีความสามารถในการประเมินผลสำเร็จโดยดูผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นในเด็กแต่ละคน

รวมถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้เคยกล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาหัวข้อ “ครูยุคใหม่...สร้างเด็กไทย 4.0” ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้บุคคลและหน่วยงานทุกภาคส่วนต่างตระหนักและเห็นความสำคัญของ “ครูและบุคลากรทางการศึกษา” ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้เพื่อคุณภาพของผู้เรียนที่จะเป็น “คนคุณภาพ” และเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

เป็นประเด็นที่นักการศึกษาร่วมกันพิจารณาและสร้างการตระหนักร่วมกันถึงอนาคตทางการศึกษา ถึง 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก พัฒนาการทางเทคโนโลยีและกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป กับประเด็นที่ 2 จะเตรียมการอย่างไรเพื่อการรองรับโลกอนาคต

เพราะฉะนั้น จากคำกล่าวของ รมว.ศึกษาฯ การศึกษาสมัยใหม่ ต้องเน้นให้เด็กมีความสามารถในการเรียนด้วยตนเอง (Self-Directed Learning) การเรียนการสอนสมัยใหม่ นำความแตกต่างของเด็กมาเป็นปัจจัยสำคัญ บทบาทของครูยุคใหม่จึงต้องเปลี่ยนไป