posttoday

ปลดล็อก'กัญชา'ต้นปีหน้า

26 ตุลาคม 2561

สนช.คาดออกกฎหมายปลดล็อกกัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ช้าสุดต้นปี 2562 หนุนยกระดับสู่มาตรฐานสากล

สนช.คาดออกกฎหมายปลดล็อกกัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ช้าสุดต้นปี 2562 หนุนยกระดับสู่มาตรฐานสากล

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีเนื้อหาเรื่องการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จากพืชกัญชาอยู่ในช่วงการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาของวิป สนช.ได้ประมาณกลางเดือน พ.ย. และเมื่อที่ประชุม สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายไม่เกิน 45 วัน ก็จะบรรจุระเบียบวาระเพื่อพิจารณาวาระ 2-3 ได้ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จได้ทันสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ หรืออย่างช้าต้นเดือน ม.ค. 2562

ทั้งนี้ นายสุรชัย กล่าวภายหลังเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ นำโดย นางสายชล ศรทัตต์ ผู้ประสานงาน ยื่นหนังสือเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไม่ให้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการศึกษาวิจัยในมนุษย์ และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จากพืชกัญชาในการรักษาผู้ป่วย

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประชุมร่วมกับคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่มี นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อหาข้อดีข้อเสียก่อน หากพบว่าข้อดี มีมากก็จะประกาศปรับสถานะของสารสกัดน้ำมันกัญชาจากยาเสพติดประเภท 5 เป็นประเภทที่ 2 แทน เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางการปลดล็อกที่ต้องทำในขั้นต้น ทั้งนี้ คาดว่า ข้อสรุปจะได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ แล้วจะพิจารณาออกเป็นประกาศยกสถานะต่อไป

นพ.สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย กล่าวว่า กรณีที่ รองประธาน สนช. คาดว่า จะปลดล็อกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด ให้โทษ เสร็จทันอย่างช้าต้นเดือน ม.ค. 2562 จากการประเมินเชื่อว่าไม่สามารถทำได้ทัน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องอย่างสหประชาชาติจะต้องมีการตรวจสอบข้อกฎหมายว่าเป็น ไปตามอนุสัญญาด้วยหรือไม่ ดังนั้นแค่ ขั้นตอนการทำนี้เชื่อว่าครึ่งปีก็เสร็จไม่ทัน

"สนช.ดำเนินการไม่ทันแน่นอน นอกจากนี้ยังมีเรื่องข้อกฎหมายที่กระทบอีกหลายมาตรา จึงไม่น่าเป็นไปได้ ถ้าแก้ไขกฎหมายไม่ทัน เชื่อว่ารัฐบาลเองอาจจะออกข้อกฎหมายขึ้นมาเพื่อผ่อนปรนให้ใช้ ยาเสพติดได้" นพ.สมนึก กล่าว

ทั้งนี้ ต้องดูด้วยว่ากฎหมายที่จะออกมาเอื้อให้มีการผ่อนปรนได้เพียงใด ซึ่งการผ่อนปรนยาเสพติดมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.เป็นยาแผนปัจจุบัน ก็สามารถทำการเพื่อวิจัยเพียงอย่างเดียว และ 2.ยาสมุนไพร อันนี้สามารถปรุงใช้ได้ตามตำรับ ซึ่งมีการปรุงใช้กันมานานหลายร้อยปีแล้วเพื่อการรักษาได้ จึงขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีว่าจะมีให้ผ่อนปรนได้ถึงขั้นใด

นพ.สมนึก กล่าวว่า ถ้าประเทศจะได้ประโยชน์จากการปลูก สกัดกัญชา ก็ควรพัฒนาสู่มาตรฐานสากล หรือพัฒนายา ขึ้นมาใช้เองได้