posttoday

ต่อลมหายใจหอศิลป์หน้าที่รัฐต้องอุดหนุน

23 ตุลาคม 2561

"ไม่มีหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ใดในโลกสร้างกำไรได้ ทำได้เพียงลดค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนจากรัฐเท่านั้น"

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

หอศิลป์ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และโรงละคร สถานที่ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน องค์ประกอบที่ช่วยจรรโลงสังคม ช่วยรังสรรค์ให้นิยามของคำว่า "มหานคร" สมบูรณ์แบบในทุกแง่มุม เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ศึกษา สัมผัส ศิลปะ วัฒนธรรม อันเป็นรากฐานสำคัญสำหรับเรียนรู้ ต่อยอดนำไปใช้พัฒนาจิตวิญญาณของแต่ละบุคคล พัฒนาทั้งทางด้านจิตใจไปจนถึงสร้างสรรค์ ให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในอนาคต

ทว่าในอดีตที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) ถือเป็นเมืองใหญ่อันดับต้นของโลก ยังขาดแคลนองค์ประกอบด้านการสนับสนุนงานศิลปะเหล่านี้ กระทั่งการผลักดันจากเหล่าศิลปิน ประชาชน และภาครัฐ ร่วมมือกันทำให้เกิดเป็นหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครขึ้น ในที่สุดบนทำเลย่านปทุมวันสถานที่ตั้งใจกลางกรุง

ภราเดช พยัฆวิเชียร รักษาการคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เล่าถึงที่มาที่ไปของหอศิลป์ว่าพื้นที่ของหอศิลป์และตัว อาคารเป็นของ กทม. แต่ด้วยลักษณะโครงสร้างการทำงานของ กทม. ไม่ได้มีขีดความสามารถเพื่อบริหาร หอศิลป์แบบสากล ไม่ใช่ว่าทำงาน ไม่เก่ง แต่เขาไม่มีบุคลากรทำงานเฉพาะทางในด้านที่เกี่ยวกับงานศิลปะ

ถึงกระนั้นหากจะใช้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารหอศิลป์ก็ทำได้ แต่เขาจะต้องเล็งเห็นถึงผลกำไรเป็นหลักเพื่อทำให้อยู่รอด แตกต่างจากการทำเพื่อประชาชนเป็นหลัก จึงเห็นได้ว่าร้านค้าที่อยู่ภายในหอศิลป์ไม่ใช่ร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ หรือสินค้าอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะแม้แต่น้อย จึงจำเป็นต้องมีมูลนิธิฯ ที่ไม่แสวงหาผลกำไร เข้ามาบริหารแทน เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายดังนั้น เมื่อหอศิลป์ไม่ใช่พื้นที่สำหรับหาผลกำไรเป็นหลัก ทาง กทม.จึงควรให้เงินสนับสนุนเช่นเดียวกับการใช้เงินสร้างสวนสาธารณะ หรืองานลักษณะตกแต่งประดับไฟในเทศกาลต่างๆ ล้วนแต่ใช้เงินงบประมาณของแผ่นดินทั้งสิ้น หากมองในแง่ของเม็ดเงิน อย่างไรเสียหอศิลป์ก็ต้องขาดทุนแน่นอน เพราะมีข้อจำกัดเรื่องของการเก็บเงินรายได้ แต่ถ้ามองที่ตัวเนื้องานจะเห็นว่าหอศิลป์เปิดพื้นที่แสดงศิลปะระดับโลกทรงคุณค่าเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง ฉะนั้นสิ่งที่หอศิลป์ทำได้ คือ ลดภาระค่าใช้จ่ายจาก กทม.บางส่วนเท่านั้น แต่ยังคงต้องขอรับเงินสนับสนุนต่อไปไม่ใช่ไม่มีเลย

"ไม่มีหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ใดในโลกสร้างกำไรได้ ทำได้เพียงลดค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนจากรัฐเท่านั้น เช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ แม้ว่าคนทั่วโลกจะเดินทางไปเยี่ยมชมเยอะ แต่ก็ต้องใช้งบประมาณสูงมากเพื่อให้ได้มาซึ่งงานศิลปะมาเก็บรักษาไว้ ขณะเดียวกันมันคือความภาคภูมิของชาติ เป็นสิ่งที่สามารถดึงศักยภาพคนของเขาในมิติที่ฝั่งอยู่ในศิลปะ วัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ จิตใจ และพัฒนาสมอง ถือเป็นเรื่องที่ต้องลงทุน ทั้งหมดรัฐให้การอุดหนุนทั้งนั้น" ภราเดช กล่าว

ต่อลมหายใจหอศิลป์หน้าที่รัฐต้องอุดหนุน ภราเดช พยัฆวิเชียร รักษาการคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ภราเดช กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 10 ปี ทาง กทม.ให้เงินสนับสนุนมาโดยตลอด อาศัยอำนาจ ของผู้ว่าฯ กทม. จนในที่สุดเมื่อมีการ ตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งว่าการใช้เงินสนับสนุนหอศิลป์ไม่ได้มีกฎหมายรองรับไว้ แล้วจะให้ทำอย่างไรเพราะหอศิลป์ปิดตัวลงไม่ได้ จนในที่สุดเกิดการหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหาร กทม.กับผู้บริหารหอศิลป์ เพื่อหาทางออกระยะสั้น โดย กทม.ตกลงจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนวงเงิน 30-40 ล้านบาท มาช่วยแก้ปัญหาให้ก่อน ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว จะต้องประชุมติดตามผลการทำงาน ทุก 3 เดือน และพิจารณาขั้นตอน ระเบียบจัดทำแผนเสนองบประมาณให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ทางออกเช่นนี้จึงจะทำให้หอศิลป์ยังคงเดิน ต่อไปได้ด้วยดี

อย่างไรก็ตาม จากการที่มีผู้บริหารหอศิลป์เรียกร้องให้ กทม.แก้ไขหนังสือสัญญาปี 2554 ข้อ 8 ที่ระบุว่า บรรดาค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม หรือค่าภาษีใดๆ ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการ หอศิลป์ฯ ตกเป็นความผิดชอบของผู้รับสิทธิ (มูลนิธิหอศิลป์) และผู้รับสิทธิมี หน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ทันตามเวลาที่กำหนด โดยให้เปลี่ยนเป็น กทม.เข้ามารับผิดชอบแทน ภราเดช อธิบายว่า นั้นเป็นความเข้าใจผิดของ ผู้บริหารหอศิลป์ที่เข้าใจไปเองว่าเมื่ออาคารเป็นของ กทม. ดังนั้น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า จึงควรเป็นภาระของ กทม.ตามไปด้วย ทั้งที่ความจริงหนังสือสัญญาเป็นไปตามมาตรฐานอยู่แล้ว เช่นเดียวกับสัญญาการเช่าบ้านที่ผู้อยู่อาศัยจะต้องเป็นผู้ชำระค่าสาธารณูปโภคเอง ซึ่งหากมีการแก้ไขสัญญาก็สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย เรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายยืนยันแล้วว่าแก้ไขสัญญาให้ไม่ได้แน่นอน

"ในอนาคตทั้ง กทม.และมูลนิธิ มองว่าต้องบริหารผ่านรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่มูลนิธิ อาจเป็นบรรษัทหรือกิจการเพื่อสังคม หรือโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ แต่ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ดังนั้น การ สรรหาคณะกรรมมูลนิธิชุดใหม่ ไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด แต่จะต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาให้ผ่านวิกฤตไปได้ เพื่อให้เมืองยังคงมีพื้นที่ด้านศิลปะ วัฒนธรรม หลากหลาย และถูกยอมรับในระดับสากล" ภราเดช กล่าว

รักษาการคณะกรรมการมูลนิธิฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า หน้าที่ของความเป็นเมืองควรตระหนักถึงพื้นที่สาธารณะประโยชน์ เป็นพื้นที่ให้คนมาเยี่ยมชม นั่งถกเถียงกัน เกิดปัญญา เรียนรู้สร้างแรงบันดาลใจ มากกว่าใช้งบประมาณไปทำสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ดังนั้นถ้าประชาชนได้เข้าถึงศิลปะที่ เป็นรากเหง้าของชีวิต ในอนาคตจะได้ศิลปินรุ่นใหม่ หรือนักคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมสมัยใหม่ขยายการพัฒนาประเทศได้อีกมาก