posttoday

มหา’ลัยปรับตัว สู่งานวิจัยกินได้ มุ่งศูนย์กลางนวัตกรรมระดับชาติ

20 ตุลาคม 2561

การนำผลงานวิจัยของครูอาจารย์มาพัฒนาต่อยอดใช้ได้จริง ไม่อยากให้ผลงานหรือนวัตกรรมดีๆ ต้องถูกเก็บ “ขึ้นหิ้ง” ไว้อย่างน่าเสียดาย

เรื่อง : เอกชัย จั่นทอง

ประเทศไทยมีผลงานวิจัยหลายชิ้นถูกดองเก็บไว้บนชั้นวางหนังสือแบบไร้ประโยชน์ ถือว่าน่าเสียดายที่ผลงานวิจัยเหล่านั้นน่าจะสร้างประโยชน์นำมาต่อยอดพัฒนาประเทศได้หลายรูปแบบ จนกลายเป็นคำฮิตเรียกติดปากกันในแวดวงวิชาการว่า “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” ทั้งที่ความจริงแล้วผลงานวิจัยหลายชิ้นน่าจะตอบโจทย์โอกาสของประเทศได้อย่างลงตัวหลายด้าน แถมยังเป็นการต่อยอดผลงานวิจัย “ไม่ขึ้นหิ้ง” อีกด้วย ในห้วงเวลาที่มีความท้าทายและการแข่งขันสูง ความสำคัญสู่การต่อยอดขยายผลงานวิจัยชั้นเลิศเหล่านั้นให้ใช้ได้จริงเพื่อสังคมและประเทศของเราน่าจะเกิดเป็นรูปธรรม

ศ.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา งานบริการวิจัย และวิชาการ การสร้างระบบนิเวศผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมบ่มเพาะให้เกิดงานนวัตกรรมที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง

เท่านั้นยังไม่พอ ยังตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและงานนวัตกรรมที่มั่นคงและยั่งยืน โดยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ที่สำคัญยังมีเป้าหมายในการส่งเสริมนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการสร้างนวัตกรรมในระดับนานาชาติ สถาบันจึงสร้างแบรนด์ให้มีภาพลักษณ์ความโดดเด่น แตกต่าง สร้างความมั่นใจในคุณภาพงานนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยมหิดล จึงกำหนดแบรนด์ของสถาบันใหม่ภายใต้แบรนด์ “inT”

มหิดลปัดฝุ่นผลงาน สู่การพัฒนาประเทศ

ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีฯ ขยายภาพต่อว่า มหาวิทยาลัยยังสร้างแบรนด์สำหรับพื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกัน หรือ CO-working space เป้าหมายต้องการส่งเสริมบรรยากาศการสร้างนวัตกรรมใหม่ ภายใต้ชื่อ “MaSHARES” เป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับอาจารย์ นักวิจัย บุคลากร นักศึกษาของมหาวิทยาลัย ที่จะเข้ามาใช้บริการสร้างความคิด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศและกลายเป็นมหาวิทยาลัยมุ่งสร้างผู้ประกอบการซึ่งมีอยู่ 2 แห่ง โดยแห่งแรกตั้งอยู่ที่ชั้น 1 อาคารสาธารณสุขวิศิษฏ์ อาคาร 1 คณะสาธารณสุขศาสตร์ พญาไท และล่าสุดแห่งที่สองตั้งอยู่ในวิทยาเขตศาลายา ชั้น 2 อาคารอาทิตยาทร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งหมดใช้เป็นพื้นที่แชร์ความคิด แชร์ไอเดียร่วมกัน

“ผลตอบรับถือว่าเติบโตกว่า 10% หลายภาคส่วนให้ความสนใจ ที่สำคัญล้วนเข้าใจเปลี่ยนทัศนคติใหม่ให้ตรงกันว่า ไม่ใช่การทำงานวิจัยขึ้นเพื่อตีเป็นสิ่งพิมพ์แล้วนำมายัดเก็บไว้นั่นอาจเป็นภาพในอดีตที่หลายคนเข้าใจ แต่ทุกวันนี้ภาพเหล่านั้นถูกลบออกจากความทรงจำความคิดผิดๆ แล้ว ผลงานวิจัยจะต้องต่อยอดจนเป็นงานนวัตกรรมสร้างสรรค์จริงได้ โดยเฉพาะในด้านการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีความโดดเด่นเฉพาะตัวอยู่แล้ว”

ศ.นพ.ภัทรชัย กล่าวเสริมด้วยว่า ตอนนี้มหาวิทยาลัยเรามีงาน “นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” หลายผลงานที่เหมาะสมกับยุคสมัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยและทุกกลุ่มวัยที่เน้นความเป็นนวัตกรรมที่โดดเด่นสร้างชื่อเสียงไปสู่นานาชาติได้ เช่น ผลงานด้านอาหาร สุขภาพ เช่นตัวอย่างเกี่ยวกับอาหาร เหมาะกับกลุ่มคนสูงวัยรับประทานได้ โดยวิเคราะห์จากแรงกด 4 ระดับในช่องปาก ตอบโจทย์เรื่องการรับประทานอาหารที่เหมาะสมไม่ส่งผลเสียต่อระบบเหงื่อและฟันของผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันยังพัฒนาผลงานวิจัยของครู อาจารย์ ในมหาวิทยาลัยมหิดลมานานหลายสิบปีแล้ว เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม โดยพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยนวัตกรรมชั้นดีที่ถูกเก็บไว้ นำขึ้นมาปัดฝุ่นล้างน้ำสู่การใช้และปฏิบัติจริง ไม่ให้ผลงานของคนทำวิจัยต้องถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างไร้ประโยชน์ ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่มีข้อจำกัดอุปสรรคของนักวิจัยเมื่อทำงานวิจัยเสร็จเรียบร้อย

“อย่างแรกเลยนักวิจัยทำงานเยอะ ไม่มีเวลา ถัดมาเรื่องทุนวิจัยผลงาน ซึ่งภาครัฐต้องเข้ามาช่วยส่งเสริมให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ สุดท้ายคือการสร้างบรรยากาศในการทำงานและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เราต้องการให้นักวิจัยมีเงิน สามารถขายสินค้าต่อยอดให้กับธุรกิจได้ หรือการขายไลเซนส์ ทางมหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมจับมือกับทุกมหาวิทยาลัยในการพัฒนาต่อยอดงานนวัตกรรมต่างๆ ที่มาจากผลงานวิจัย”

ศ.นพ.ภัทรชัย ยกภาพงานวิจัยในปัจจุบันว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ การนำผลงานวิจัยของครูอาจารย์มาพัฒนาต่อยอดใช้ได้จริง ไม่อยากให้ผลงานหรือนวัตกรรมดีๆ ต้องถูกเก็บ “ขึ้นหิ้ง” ไว้อย่างน่าเสียดาย โดยที่เราไม่นำมาปัดฝุ่นพัฒนาต่อยอดงานวิจัยดีๆ ที่มีอยู่จำนวนมหาศาล

อย่างมหาวิทยาลัยมหิดลมีครูอาจารย์และนักวิจัยจำนวนหลายพันคน นักศึกษาอีกหลายหมื่นคนและคณะเรียนแต่ละสาขาวิชาต่างๆ อีกจำนวนมาก โดยแต่ละคณะต่างมีความเชี่ยวชาญและมีผลงานวิจัยนวัตกรรมดีๆ หลายชิ้นแตกต่างกัน หลายผลงานถูกนำมาพัฒนาสู่การปฏิบัติจริงและไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างลงตัว บนแนวทางการพัฒนาร่วมมือระหว่างเอกชน ภาครัฐ และประชาชนทั่วไป ส่วนกลุ่มสตาร์ทอัพที่สนใจทำธุรกิจแต่ขาดไอเดียขาดองค์ความรู้ มีทุนทรัพย์สามารถมาปรึกษากับมหาวิทยาลัย ให้ช่วยคิดออกแบบต่อยอดไปสู่การใช้จริงได้

สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดลนั้นได้เปิดพื้นที่ปรับปรุงทัศนียภาพสร้างบรรยากาศพูดคุยแลกเปลี่ยนต่อยอดงานวิจัยให้กับบุคลากรในมหาวิทยาลัยเองและบุคคลภายนอก ก็สามารถเดินเข้าใช้พื้นที่ตรงนี้ได้เช่นกัน ตอนนี้เราเปิดพื้นที่ความคิด แลกเปลี่ยนไอเดียการต่อยอดผลงานวิจัยนวัตกรรมต่างๆ ให้กับทุกคน เพราะวันนี้เราอยู่ในยุคไทยแลนด์ 4.0 กันหมดแล้ว

มหา’ลัยปรับตัว สู่งานวิจัยกินได้ มุ่งศูนย์กลางนวัตกรรมระดับชาติ

ถั่งเช่าสีทองไร้สารเคมี สร้างภูมิป้องกันโรคหวัด

เพื่อให้ภาพผลงานวิจัยที่ถูกพัฒนาต่อยอดจนยกระดับสู่นวัตกรรมทางสุขภาพชัดเจนขึ้น หลังจากเปิดตัว แบรนด์ “inT” ของสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีฯ เริ่มต้นที่ผลงานวิจัย “สูตรอาหารเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทอง” โดย ปฐมาวรรณ ฉิมมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้วิจัย อธิบายว่า การทำวิจัยถั่งเช่าสีทองเริ่มต้นจากการศึกษาเกี่ยวกับโรคมาลาเรีย ทำให้ต้องศึกษาสารสกัดจากสารถั่งเช่าสีทองเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดต้านโรคมาลาเรีย สำหรับถั่งเช่าสีทองมีการใช้มานานนับพันปีในประเทศจีนแล้ว

“เราพัฒนาถั่งเช่าฯ ด้วยความบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีสารเคมีผสมเข้ามาเกี่ยวข้อง มีแต่โปรตีนทางพืช และยังได้รับการจดอนุสิทธิบัตรไปตั้งแต่ปี 2559 ถือเป็นถั่งเช่าสีทองในรูปแบบชาชงดื่มเพื่อสุขภาพ เนื่องจากปัจจุบันเราเข้าสู่ภาวะผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ยังขายไลเซนส์ให้กับบริษัทเอกชนนำไปจำหน่ายพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เช่นกัน งานชิ้นนี้จึงเริ่มต้นจากการบริจาคร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเข้ากองทุนเพื่อการวิจัยสมุนไพรและเห็ดวิทยาทางการแพทย์ ศิริราชมูลนิธิ”

ปฐมาวรรณ ยังเผยสรรพคุณพิเศษของถั่งเช่าสีทองที่ถูกกลั่นรองออกมาจากงานวิจัยชิ้นนี้ว่า อย่างแรกคือช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยเพิ่มออกซิเจน นอกจากนี้ยังเสริมภูมิคุ้มกันต่อต้านสู้กับเชื้อไข้หวัดได้อย่างดี จากการทดลองพบว่าถ้าเราดื่มชาเหล่านี้เป็นประจำทุกวัน จะช่วยต่อต้านการอักเสบจากแบคทีเรียนั่นคือคุณสมบัติพื้นฐาน ขณะเดียวกันในถั่งเช่าสีทองยังแก้โรคภูมิแพ้โดยเฉพาะทางจมูก ยืนยันโดยผลทดสอบจากห้องทดสอบที่ระบุว่าช่วยลดสารคัดหลั่งของผู้ที่เป็นภูมิแพ้ได้อย่างดี

อนาคตต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อพัฒนาต่อเป็นยารักษาโรค แต่วันนี้สิ่งที่เราจะบอกทุกคนได้คือ “รับประทานก่อนป่วย” และในปลายปีนี้จะมีการออกผลิตภัณฑ์ชาถั่งเช่าสีทองต้านไขมัน ความดัน และเบาหวาน ทั้งหมดนี้เราปลูกทดลองทดสอบเอง โดยเช่าพื้นที่ทำฟาร์มต่างจังหวัดเพาะปลูก และเราเป็นเจ้าแรกของโลกที่มีการจดอนุสิทธิบัตรได้ และจะยื่นจดสิทธิบัตรในส่วนอื่นๆ ต่อไป ที่น่าสนใจกว่านั้นยังสามารถนำถั่งเช่าสีทองไปปรุงเป็นเมนูอาหารได้หลายเมนูเช่น ซุปกุ้งขาวจักรพรรดิ ข้าวกล้องต้มขุนนาง ซีซาร์สลัดฮ่องเต้ ฯลฯ ที่ล้วนเป็นเมนูเห็ดถั่งเช่าสีทองเสริมสุขภาพทั้งสิ้น

ปฐมาวรรณ ยังระบุด้วยว่า ราคาของถั่งเช่าสีทองมีราคาตั้งแต่ 6 หมื่น-2 แสนบาท/กิโลกรัม ปกติในสมัยก่อนจะมีราคาประมาณ 4 แสนบาท แต่ปัจจุบันมีคนปลูกเพิ่มมากขึ้น ส่วนมหาวิทยาลัยมหิดลมีศักยภาพในการปลูกทดลองประมาณ 500 ขวดเท่านั้น ซึ่งจะได้ถั่งเช่าสีทองประมาณครึ่งกิโลกรัม แม้ว่าจะมีหลายประเทศติดต่อขอซื้อแต่สินค้าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ อนาคตจะพัฒนาประโยชน์ในด้านต่างๆ ต่อไป ย้ำว่าถั่งเช่าสีทองไม่ได้มีสารเคมีเป็นส่วนผสมแต่อย่างใด และใช้เวลาวิจัยผลงานนานหลายปี

นอกจากนี้ น้ำผึ้ง รุ่งเรือง ทีมวิจัยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในผลงานวิจัย “โครงการอาหารครบ 5 หมู่ในรูปแบบพุดดิ้ง” อธิบายให้ฟังว่า เนื่องจากปัจจุบันมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจำนวนมากและมีปัญหาเรื่องการสูญเสียฟันในการรับประทานอาหาร ทำให้ลักษณะการรับประทานไม่เหมาะสม จึงเกิดเป็นความคิดว่าต้องพัฒนาอาหารขึ้นมาเพื่อให้การรับประทานอาหารของผู้สูงวัยมีลักษณะที่เหมาะสม โดยมีสารอาหารครบถ้วนทุกหมู่เพียงพอ ผู้สูงอายุสามารถรับประทานได้ จึงเกิดเป็นพุดดิ้งสำหรับผู้สูงอายุขึ้นมา

มหา’ลัยปรับตัว สู่งานวิจัยกินได้ มุ่งศูนย์กลางนวัตกรรมระดับชาติ

“โดยพุดดิ้งนี้เสริมขึ้นมาจากสารอาหารพวกมันหวาน ฟักทอง ข้าวโพด เป็นพืชที่ผู้สูงอายุคุ้นเคยกับพืช แน่นอนพุดดิ้งนี้มีความแตกต่างกับพุดดิ้งทั่วไปอย่างแน่นอน เนื่องจากมีสารอาหารครบถ้วน ประกอบด้วยไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ในสัดส่วนที่ครบถ้วนเหมาะสม สามารถรับประทานเสริมระหว่างมื้ออาหารได้แม้ไม่ใช่อาหารหลักก็ตาม โดยผลงานนี้ใช้เวลาวิจัยมานานกว่า 1 ปี” ทีมวิจัยฯ กล่าว

เช่นเดียวกับผลงานวิจัยที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนทุกเพศวัย “โครงการการพัฒนาต้นแบบวิศวกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์เครื่องตรวจกระดูกข้อเข่าเสื่อม” นำทีมวิจัยโดย ดร.คัดนานต์ สรุงบุญมี คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แจงที่มาที่ไปของโครงการฯ นี้ให้ฟังว่า จากปัญหากระดูกหุ้มข้อเสียหายบาดเจ็บ กระดูกอ่อนเหล่านี้เมื่อมีการสึกหรอร่างกายจะไม่รู้สึกเจ็บ เนื่องจากไม่มีเส้นประสาทตรงส่วนนี้ ดังนั้นเราควรจะรู้ก่อนที่เราจะปวดหัวเข่า เพราะเมื่อมีอาการปวดหมอผู้รักษาจะให้ผู้ป่วยทำอะไรไม่ได้มาก อย่างเช่น การออกกำลังต่างๆ ฯลฯ เพราะมีอาการปวดนั่นเอง

ส่วนนี้เองทำให้เราคิดค้นวิจัยผลงานนวัตกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อส่วนนี้ให้เกิดขึ้นจริง กล่าวคือการทำงานของเครื่องวิเคราะห์ตรวจกระดูกหุ้มข้อเข่าเสื่อม จะสามารถวัดผลจากการสั่นสะเทือนของเข่าก่อนนำข้อมูลมาวิเคราะห์สภาพของเข่าว่ามีอาการรุนแรงเท่าไร โดยการทำ MRI เพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเข่า เครื่องนี้เหมาะกับทุกเพศทุกวัยและทุกช่วงอายุ เพราะมีโอกาสเข่าเสื่อมกันได้หมด ทั้งนี้เนื่องจากเราไม่ต้องการเห็นคนเจ็บปวดเข่าแล้วเพิ่งจะไปรับการรักษา เพราะเข่าเรามันสึกหรอก่อนที่เราจะปวด แต่ถ้าเราทราบอาการก่อนบำรุงรักษามันจะช่วยชะลอการสึกและเสื่อมของเข่าได้

กระดูกอ่อนหุ้มข้อใช้เวลากว่าจะสึกนานไม่ใช่เวลาระยะสั้นเท่านั้น มันใช้เวลาเป็นปี แต่ถ้าเรารู้อาการตั้งแต่เนิ่นๆ เราต้องควรระวัง หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อถนอมข้อเข่าให้แข็งแรง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ อายุ การใช้งานของข้อเข่า เชื่อว่าเครื่องตรวจกระดูกข้อเข่าจะช่วยลดปัญหาข้อเข่าเสื่อมลงได้แน่นอน หลังพยายามศึกษาวิจัยเครื่องนี้มานานกว่า 3 ปี หวังนำไปใช้ตอบโจทย์สังคมโดยเฉพาะผู้สูงวัยและคนทุกเพศวัย

มหา’ลัยปรับตัว สู่งานวิจัยกินได้ มุ่งศูนย์กลางนวัตกรรมระดับชาติ

ภารกิจมหา’ลัย สู้กับหุ่นยนต์ AI ไม่พอแล้ว

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยความตั้งใจการสนับสนุนงานวิจัยว่า มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญในการส่งเสริมงานวิจัยมาโดยตลอด เน้นการวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรมที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเองมีบุคลากรทีมนักวิจัยในหลายสาขาอาชีพ ตรงนี้เองทางมหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยทุกชิ้นทัดเทียมกับนานาชาติ และพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของประเทศไทยและในระดับนานาชาติ

ขณะที่ ศ.นพ.ภัทรชัย ย้ำชัดว่า ทั้งหมดเป็นภารกิจสำคัญของสถาบันโดยต่อยอดจากความเชี่ยวชาญของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาผลงานให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์พัฒนาสู่ระดับธุรกิจ “inT” จะทำหน้าที่ประสานงานทุกหน่วยในมหาวิทยาลัยมหิดลจนพัฒนางานเป็นลิขสิทธิ์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญา

ไม่ต่างจาก นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ภาพการสอนของมหาวิทยาลัยในอนาคตทิ้งท้ายว่า ทุกมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างมาก อนาคตครูอาจารย์ผู้สอนหนังสือต้องออกมาทำงานกับผู้ประกอบการ เพราะจะเห็นภาพทั้งหมด แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาถ่ายทอดสู่การปฏิบัติจริงในมหาวิทยาลัย ต้องก้าวข้ามรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อออกไปดูโลกข้างนอก

อย่างไรก็ตาม สำหรับอนาคตจะมี 3 ด้านสำคัญในการบริหารเพื่อให้อยู่รอด ข้อแรก คือ เราต้องปรับตัวอยู่กับหุ่นยนต์หรือ AI ที่มาแทนมนุษย์ให้ได้ และเราต้องสอนหนังสือในสิ่งที่ AI สอนหรือทำไม่ได้ ถัดมาต้องปรับรูปแบบการสอนใหม่ ยึดรูปแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป และสุดท้ายเรียนรู้การอยู่มนุษย์กับมนุษย์ อยู่ด้วยกันอย่างมีสติ มีธรรมะอยู่ในใจ อนาคต Innovation จะหมุนไปอย่างแน่นอน