posttoday

กทม.อาสาพร้อมดูแลซ่อมแซมอนุสาวรีย์ฯ-โบราณสถานทั่วกรุง

20 ตุลาคม 2561

พล.ต.อ.อัศวิน เผย ขออาสา ดูแลซ่อมแซมอนุสาวรีย์ฯ-โบราณสถานทั่วกรุง หลังสืบค้น หาหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

กลายเป็นเรื่องน่าประหลาดใจของ คนกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงคนไทยทั้งประเทศ เมื่อมีการประกาศตามหาว่าหน่วยงานใดเป็นเจ้าของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โบราณสถานที่คอยเตือนใจให้รำลึกถึงวีรกรรมเหล่าทหาร ตำรวจ และพลเรือน ผู้เสียสละชีวิตปกป้องมาตุภูมิ ตั้งตระหง่านฝ่าแสงแดด ท้าลมฝน กระทั่งทรุดโทรมลงทุกวัน แต่ไร้เจ้าของคอยดูแลรักษา

ตลอดหลายเดือนที่ กทม.ส่งหนังสือไปยังหน่วยงาน อาทิ กรมศิลปากร กรมธนารักษ์ และกรมทางหลวง ในฐานะที่เป็นหน่วยงานดูแลโบราณสถาน และหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ก่อสร้าง อนุสาวรีย์นั้นๆ ปรากฏว่าไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าเป็นเจ้าของแท้จริงหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ กทม.จึงตัดสินใจนำโบราณสถานมาดูแลโดยตรง

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า เมื่อสืบค้นเอกสารระบุถึงความรับผิดชอบต่อโบราณสถานที่มีอยู่ใน กทม.ไม่ได้ ดังนั้นข้อสรุปการดูแลและบำรุงรักษาอนุสาวรีย์ในที่สาธารณะจำนวนทั้งหมด 14 แห่ง กทม.จะเป็นผู้ดูแลและบำรุงรักษาเอง โดยเบื้องต้นทางสำนักผังเมืองจะปรับปรุงด้วยการประดับต้นไม้ ดอกไม้ และตัดกิ่งไม้บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์เพื่อความสวยงามและเป็นระเบียบก่อน

ทั้งนี้ โบราณสถานและสถานที่ที่คาดว่าเป็นโบราณสถานในพื้นที่ กทม. ประกอบด้วย 1.อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 2.อนุสาวรีย์หมู 3.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 4.อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลก ครั้งที่ 1 5.อุทกทาน (แม่พระธรณีบีบมวยผม) 6.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (บริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์) 7.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (บริเวณด้านหน้าพระราชวังสราญรมย์)

8.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า 9.วงเวียน 22 กรกฎาคม 10.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 11.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 12.อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (อนุสาวรีย์หลักสี่) 13.พระบรมราชา นุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และ 14.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

ศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. กล่าวว่า หลังการสืบค้นเอกสารปรากฏว่า อนุสาวรีย์ชัยฯ ไม่มีโฉนดที่ดินระบุ มีเพียงแต่ที่ดินรายรอบตัวอนุสาวรีย์ชัยฯ เท่านั้นที่มีโฉนดระบุชัดเจนว่าเป็นของกรมธนารักษ์ เนื่องจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นถนน ซึ่งตามกฎหมายที่ดินถนนถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ จึงทำให้ กทม.มีหน้าที่เข้าไปดูแลรักษาได้

ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กทม.ทำหน้าที่ดูแลความสะอาด ไฟฟ้าแสงสว่าง ความเรียบร้อย ทัศนียภาพ ฯลฯ ถือเป็นงานที่ทำมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะ แม้ไม่ใช่เป็นเจ้าของที่ได้รับมอบหมายโดยตรง

"ไม่เคยมีใครมาตั้งคำถามว่าอนุสาวรีย์นี้เป็นของใคร เพราะสมัยก่อนการก่อสร้างอนุสาวรีย์ใดถือเป็นเรื่องระดับชาติ เมื่อเห็นสมควรว่า ให้สร้างเป็นอนุสาวรีย์ก็จะแต่งตั้ง คณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่รับผิดชอบงบก่อสร้าง หาคนคุมงานก่อสร้าง ฯลฯ เสร็จแล้วไม่ได้มอบหมายให้หน่วยงานใดรับผิดชอบดูแลโดยตรง ไม่เหมือนในช่วงรัฐบาลหลังๆ เวลาก่อสร้างอะไรจะมอบหมายหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงทันที ถ้าเป็นโครงการใหญ่ต้องมีคณะกรรมการที่กำกับโดยนายกฯ หรือรองนายกฯ มาดูแลระดับนโยบาย" ศักดิ์ชัย กล่าว

นอกจากนี้ ทางกรมทหารผ่านศึกได้เคยหารือถึงแนวคิดการสร้างทางเดินลอดจากถนนรายรอบตัวอนุสาวรีย์ชัยฯ ที่มีอยู่ 4 เส้นทาง คือ ถนนราชวิถี ถนนพญาไท ถนนพหลโยธิน และถนนอโศก-ดินแดง แต่จากการศึกษาเบื้องต้นคาดว่าการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินทำได้ค่อนข้างยากและการขุดเจาะใต้ดินไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งไม่มีระบบดูแลรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะช่วงกลางคืนที่เสี่ยงต่ออาชญากรรมว่าหน่วยงานใดจะลงพื้นที่รับผิดชอบความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ทุกขั้นตอนของการปรับปรุงจะต้องชี้แจงต่อที่ประชุม คณะกรรมการปรับปรุงพัฒนาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อหารือถึงขั้นตอนของการดำเนินการอย่างละเอียด โดยเฉพาะเรื่องของการออกแบบการปรับปรุงพัฒนาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งต้อง หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมศิลปากร เนื่องจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นโบราณสถาน มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากกว่า เช่นการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่รายรอบ อาทิ การทำ ความสะอาด การปลูกต้นไม้ การ จัดพื้นที่ลานกิจกรรม การทาสีตัว อนุสาวรีย์ฯ เป็นต้น