posttoday

ขยายเวลาปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเกษตรไทยประสบภัยแล้ง

19 ตุลาคม 2561

เกษตรกรไทยยังประสบภัยแล้ง กรมฝนหลวงปรับแผนขยายเวลาปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศจากเดิม31ต.ค.ให้ขยายเวลาไปถึงกลางพ.ย.นี้

เกษตรกรไทยยังประสบภัยแล้ง กรมฝนหลวงปรับแผนขยายเวลาปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศจากเดิม31ต.ค.ให้ขยายเวลาไปถึงกลางพ.ย.นี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์พื้นที่การเกษตรในหลายภูมิภาคของประเทศพบว่าเกษตรกรเริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง  จึงทำให้ในพื้นที่การเกษตรยังคงมีความต้องการน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงพืชอีกหลายชนิดที่อยู่ระหว่างการเจริญเติบโต อาทิ ข้าว ข้าวโพด อ้อยและมันสำปะหลัง พบว่าพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพ.ย. 2561 ถึงเดือนม.ค. 62 ซึ่งขณะนี้เกษตรกรและอาสาสมัครฝนหลวงได้ขอรับบริการฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั่นเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ยังมีความต้องการปริมาณน้ำเก็บกักให้มากยิ่งขึ้น กรมฝนหลวงฯ จึงต้องเร่งเพิ่มปริมาณน้ำให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้สอดรับกับโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา

"กรมฝนหลวงฯจึงได้ปรับแผนขยายเวลาปฏิบัติการฝนหลวงจากแผนเดิมกำหนดปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศในวันที่ 31 ต.ค. ให้ขยายเวลาไปถึงกลางพ.ย.นี้ และอาจขยายการปฏิบัติการต่อเนื่องไปจนกว่าสภาพอากาศจะไม่เหมาะสม โดยกรมจะติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ตลอด 24 ชม. ถ้าพบว่าสภาพอากาศเหมาะสมก็จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงทันที ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้ระดมกำลังไปปฏิบัติการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนี้แล้ว"นายสุรสีห์กล่าว

สำหรับผลรวมการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวันที่ 1 มี.ค.– 18 ต.ค.61 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 218 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็น95.15 %ขึ้นบินปฏิบัติงานจำนวน 4,162 เที่ยวบิน ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 3502.63 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 1,809 นัด พลุแคลเซียมคลอไรด์จำนวน 84 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 58 จังหวัด และตามแผนการคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในภูมิภาคต่างๆ ระหว่างวันที่ 20 ก.ย. – 31 ต.ค. 61 สามารถปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ตามเป้าหมาย อาทิ

ภาคเหนือเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณน้ำไหลเข้า จำนวน 8 ล้าน ลูกบาศ์กเมตร(ลบ.ม.)จากแผนคาดการณ์ 10 ล้าน ลบ.ม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขื่อนลำแชะ จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำไหลเข้า จำนวน 4.6 ล้าน ลบ.ม.จากแผนคาดการณ์ 5 ล้าน ลบ.ม.

ภาคกลางอ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี มีปริมาณน้ำไหลเข้า จำนวน 10.5 ล้าน ลบ.ม.จากแผนคาดการณ์ 5 ล้าน ลบ.ม. และภาคตะวันออกอ่างห้วยยาง จังหวัดสระแก้ว มีปริมาณน้ำไหลเข้า จำนวน 3.12 ล้าน ลบ.ม.จากแผนคาดการณ์ 12 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนอื่นๆ จะเร่งปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้รองรับความต้องการของเกษตรกร

ขยายเวลาปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเกษตรไทยประสบภัยแล้ง

ขยายเวลาปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเกษตรไทยประสบภัยแล้ง