posttoday

พ่อให้ลูกดื่มเบียร์งานเข้า! เครือข่ายเยาวชนฯจี้พม.เอาผิด

19 ตุลาคม 2561

ต้องลงโทษจริงจัง!เครือข่ายเยาวชนฯนำหลักฐาน จี้พม.เอาผิดพ่อให้ลูกดื่มเบียร์ลงโซเชียลชี้งานวิจัยระบุดื่มในวัยเด็กเป็นเหตุติดสุรา ทำลายสมองรุนแรง หวั่นพฤติกรรมเลียนแบบอ้างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ระบาด

ต้องลงโทษจริงจัง!เครือข่ายเยาวชนฯนำหลักฐาน จี้พม.เอาผิดพ่อให้ลูกดื่มเบียร์ลงโซเชียลชี้งานวิจัยระบุดื่มในวัยเด็กเป็นเหตุติดสุรา ทำลายสมองรุนแรง หวั่นพฤติกรรมเลียนแบบอ้างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ระบาด


เมื่อวันที่ 19ต.ค.61 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวันชัย พูลช่วยผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน  นางสาวปาลิณี ต่างสี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ นำกลุ่มเยาวชนจากหลากหลายสถาบัน กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายอนุกูล  ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนเพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำความผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กพ.ศ.2546กรณีพ่อโพสต์ภาพลูกชาย 4 ขวบ กำลังดื่มเบียร์ และโพสข้อความท้าทาย

นายวันชัย กล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าวอาจมีความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546  มาตรา 26 ถือเป็นปรากฎการณ์คึกคะนองเอาลูกมานั่งดื่มเหล้าเบียร์ และมีการนำมาสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ ท้ายที่สุดผู้ก่อเหตุมักจะอ้างว่าเป็นน้ำชาบ้าง น้ำหวาน น้ำผลไม้บ้าง ในครั้งนี้ก็เช่นกัน แต่แม้ผู้เป็นพ่อจะอ้างว่าเป็นน้ำหวานที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ ก็ต้องพิสูจน์กันให้ชัดเจนตามกระบวนการ และต้องดูอีกว่าผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วยหรือไม่ เรื่องนี้อยากให้ผิดว่าไปตามผิด อย่ามองเป็นเรื่องเล็กน้อยที่จบลงแค่คำขอโทษ หรืออ้างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้ในส่วน พม.เองก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องเร่งหาแนวทางการทำงานที่รอบด้าน มีการดูแลเยียวยาเด็กที่ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำ และควรทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น ไม่ต้องรอให้ใครมาร้องเรียนก่อนถึงจะดำเนินการ บางเรื่องเป็นข่าวใหญ่โตก็ควรมีปฏิบัติการที่ทันท่วงที

ด้านนางสาวปาลิณี  กล่าวว่า เครือข่ายฯ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะงานวิจัยระบุว่า ถ้าสอนให้เด็กดื่มตั้งแต่อายุน้อย มีแนวโน้มโตขึ้นจะติดสุรา หรือดื่มอย่างมีปัญหาได้  ที่สำคัญแอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ทำลายสมองของเด็กอย่างรุนแรง จากพฤติกรรมของผู้เป็นพ่อ ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างแพร่หลายทางสื่อสังคมออนไลน์ ทางเครือข่ายฯ  มีข้อเสนอต่อกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. ซึ่งเป็นองค์กรหลัก รับผิดชอบตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯดังนี้

1.ตรวจสอบการกระทำดังกล่าว และเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ และกฎหมายอื่นเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง หยุดกล่าวอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งจะเป็นการปกป้องคุ้มครองเด็กตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

2.เร่งส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ร่วมกับสหวิชาชีพ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย ในการเข้าไปเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กและครอบครัว เพื่อประเมินตามหลักวิชาชีพ โดยยึดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นตัวตั้ง และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ยุติการส่งต่อหรือเผยแพร่  คลิปหรือภาพเด็กในลักษณะดังกล่าว รวมถึงภาพที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ด้วย

3.ขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง แจ้งเหตุ ป้องกันมิให้เด็กถูกคุกคาม ละเมิดสิทธิ หรือยุยงส่งเสริมให้มีพฤติกรรมเสี่ยง ร่วมสร้างสังคมที่ปลอดภัยให้เด็ก

ขณะที่ นายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของผู้ปกครองตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก ในส่วนพม.ขณะนี้ได้ส่งทีมเข้าไปดูแลเด็กแล้ว แต่สิ่งที่อยากให้สังคมรับรู้คือ เมื่อผู้ปกครองไม่มีความสามารถในการดูแลเด็ก มีข้อจำกัดในการดูแลลูก จึงอยากให้สังคมชุมชนเข้ามามีบทบาท เฝ้าระวังเป็นหูเป็นตา ดูแลเด็กร่วมกัน รวมถึงอยากให้ตระหนักถึงกฎหมายคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะเรื่องควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆตามมามากมาย ทั้งนี้พม.จะเร่งทำความเข้าใจวางมาตรการเพื่อกำชับสื่อสารไปยังเครือข่าย หน่วยงานต่างๆให้ตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น