posttoday

จ้างเหมารายปีแรงงานไทย อนาคตที่น่าเป็นห่วง

19 ตุลาคม 2561

เครือข่ายแรงงานกังวล เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ไขที่ดูเหมือนจะเหลื่อมล้ำเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน ส่งผลกระทบต่อชีวิตความมั่นคงทางครอบครัว

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ความไม่มั่นคงในอาชีพการงาน กำลังทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยสั่นคลอน เครือข่ายแรงงานกังวล เรียกร้องขอให้รัฐบาลช่วยแก้ไขที่ดูเหมือนจะเหลื่อมล้ำเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน ส่งผลกระทบต่อชีวิตความมั่นคงทางครอบครัว รวมถึงปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกประหยัดต้นทุนรายจ่าย จึงเน้นการจ้างเหมาตัดภาระสวัสดิการ

ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ มองประเด็นดังกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการหาวิธีการลดต้นทุนส่วนต่างๆ ถือว่าช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ระหว่างนี้จึงมีทางเลือกอยู่ไม่กี่ทาง เช่น การใช้แรงงานเดิมอยู่แล้ว แต่แรงงานเดิมที่มีอยู่เริ่มมีอายุสูงขึ้น มีค่าตอบแทนหรือต้นทุนที่สูงขึ้น สวนทางกับประสิทธิภาพการทำงาน ผู้ประกอบการจึงมีความรู้สึกว่าเป็นภาระต่อการจ้างงาน ฉะนั้นหากคิดจะนำแรงงานเหล่านี้ออกถือเป็นเรื่องยากลำบากเนื่องจากมีเงื่อนไขเช่นกัน

ในเมื่อกลุ่มผู้ใช้แรงงานเก่านำออกไม่ได้ และมีแรงงานใหม่เข้ามาทดแทน จึงส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่เป็นลักษณะวิธีการจ้างแบบครั้งคราว จึงกลายเป็นการเกิดปัญหาการรับช่วงซับคอนแทรกต์จึงขยายตัวต่อเนื่องเป็นระยะ ในส่วนนี้เองทำให้เห็นชัดเจนว่า มีความต้องการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่ยังใช้และรักษาแรงงานเก่าเป็นหลักเดิมทำงานไว้ส่วนหนึ่ง

นักวิชาการด้านแรงงานขยายภาพต่อว่า ความเกี่ยวโยงในเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันที่เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องของผลกำไร อย่างเช่นกิจการสิ่งทอ รองเท้า เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่ได้ทำเฉพาะในประเทศ แต่มีการเหมาช่วงส่งต่อให้แรงงานต่างประเทศทำ และส่งกลับมาประกอบกับแรงงานเดิมคนไทยที่มีอยู่แล้ว เป็นการใช้แรงงานนอกประเทศที่มีราคาถูกกว่า และเป็นแรงงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบในระยะยาว เช่น เรื่องสวัสดิการ รายได้ โบนัสต่างๆ ฯลฯ แต่เป็นหน้าที่ผู้รับเหมาที่ต้องบริหารจัดการ

"กลุ่มแรงงานเหมาจ้างมีลักษณะงานที่ด้อยกว่า การขึ้นเงินเดือนต่างๆ จึงถูกจำกัด เหมือนกับการเป็นลูกจ้างชั่วคราว รายได้ไม่สูงขึ้นตามระยะเวลาที่ทำงาน แม้ว่าจะนานแค่ไหน เพราะแรงงานนั้นไม่ได้อยู่ในฐานะลูกจ้างชั่วคราว ตามที่บริษัทนายจ้างรับเหมาส่งคนเข้ามา ส่วนใหญ่คือแรงงานระดับล่าง ทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีความรู้สึกไม่ชัดเจนเรื่องสวัสดิการเหมือนผู้ใช้แรงงานประจำเช่นกัน"

ยงยุทธ อธิบายเสริมว่า แม้ว่าแรงงานกลุ่มนี้จะมีฝีมือใกล้เคียงกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานประจำ ต่างรู้สึกถึงความไม่มั่นคงทางรายได้และอนาคต ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจนั้นๆ ด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีแรงงานคนจำนวนมาก เชื่อว่ายังไม่กล้านำแรงงานหลักที่มีอยู่ออกอย่างแน่นอน และส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา

"กลุ่มแรงงานซับคอนแทรกต์ยังไม่รู้สถิติแน่นอนว่าจำนวนเท่าใด แต่คิดว่ามีเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างสูง โดยในภาพรวมแล้วอุตสาหกรรมการผลิตยังจ้างคนไม่ถึง 7 ล้านคน หลายอุตสาหกรรมมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเกือบหมดแล้ว โดยเฉพาะภาพอุตสาหกรรมโดยรวม และจำนวนคนที่เติบโตในอุตสาหกรรมการผลิตน้อยและเกือบจะไม่เติบโต เฉลี่ยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเพียงประมาณ 0.7% และการจ้างงานไม่ได้เพิ่มขึ้น"

สำหรับกลุ่มใช้แรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรม จะทดแทนปรับเปลี่ยนไปตามกระบวนการอุตสาหกรรม บางส่วนจ้างแรงงานที่มีต้นทุนต่ำ หากมีแรงงานออกไปก็จะไม่มีการรับลูกจ้างมาทดแทนส่วนที่ขาดไป เนื่องจากเห็นว่าช่วยประหยัดเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายในกิจการ

ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ยังมองสถานการณ์แรงงานเพิ่มเติมอีกว่า อนาคตเรื่องความมั่นคงทางแรงงานเหล่านี้มีความน่าเป็นห่วงอย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องใช้เครื่องมือนี้อยู่ หากไม่ใช่รูปแบบนี้ก็อาจอยู่ไม่รอด เช่น ถ้าหากอุตสาหกรรมชนิดใดไม่ปรับตัวอาจกลายเป็นต้นทุนทางภาระของผู้ประกอบการเอง จึงเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับตัวผู้ประกอบการเองที่ไม่ยอมปรับตัวหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม

เช่นตัวอย่างในต่างประเทศอุตสาหกรรมหลายด้านพัฒนาต่อยอดสู่นวัตกรรม สร้างรายได้รูปแบบการค้าเพิ่มขึ้น มีคุณภาพขึ้น ได้ค่าตอบแทนสูง ทำให้มีเงินจ้างแรงงานอย่างเพียงพอ ตรงนี้เห็นชัดเจนว่าอุตสาหกรรมไทยยังปรับตัวไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นั่นยังคงเห็นผู้ประกอบการอาศัยหลักการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะรายจ่าย ต้นทุน จนกระทบสู่เรื่องความไม่มั่นคงทางแรงงานในอนาคต

ยงยุทธ เผยทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า เรื่องนี้อุตสาหกรรมทั้งหลายต้องปรับตัว ปัจจุบันแรงงานมีอายุเพิ่มขึ้น ถ้าหากอุตสาหกรรมต้องการแรงงานใหม่เข้ามา ต้องพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีกว่าเดิม ประเทศไทยเรามีอุตสาหกรรม (เอสเอ็มอี) เกินกว่า 50% กลุ่มนี้ยังมีกำลังไม่พอที่จะเข้ามาใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรกลต่างๆ นั่นคือสิ่งที่น่าห่วง ความจริงแล้วการจะปรับตัวได้จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากกว่า ขณะเดียวกันยังอาจกลายเป็นปัญหาสังคม เศรษฐกิจ เกิดตามมากลายเป็นผลกระทบได้อีก