posttoday

บิ๊กฉัตร” คุมเข้มมาตรการจัดสรรน้ำ “เขื่อนกระเสียว” พ้นวิกฤติแล้ง

17 ตุลาคม 2561

“บิ๊กฉัตร”ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนกระเสียว หลังปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือ 35% จี้หน่วยเกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือพร้อมแจ้งเตือนเกษตรกรล่วงหน้า มั่นใจน้ำอุปโภค-บริโภคไม่กระทบ

“บิ๊กฉัตร”ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนกระเสียว หลังปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือ 35%  จี้หน่วยเกี่ยวข้องเตรียมแผนรับมือพร้อมแจ้งเตือนเกษตรกรล่วงหน้า มั่นใจน้ำอุปโภค-บริโภคไม่กระทบ

วันที่ 17ต.ค.61 เวลา 8.30 น. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รอง นรม. พร้อมด้วยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) และนายทวีศักดิ์  ธนเดโชพล รองอธิบดี กรมชลประทาน ลงพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ําฤดูแล้ง ปี 2561/62 อ่างเก็บน้ํากระเสียว ต.ด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

พล.อ.ฉัตรชัย  เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ดังกล่าวว่าสถานการณ์น้ำในภาพรวม ณ วันที่ 16 ต.ค. 61 พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 56,915 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 มีน้ำใช้การได้ 33,372 ล้าน ลบ.ม. จัดว่ามีน้ำอยู่ในระดับดีมาก แต่ปริมาณฝนกระจุกตัว  ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 มี 16 แห่ง แต่ในขณะเดียวกัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 60 ก็มีถึง 8 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนแม่มอก เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ภาคอีสาน 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนมูลบน และ เขื่อนลำนางรอง ภาคกลาง 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนกระเสียว และ เขื่อนทับเสลา

 

บิ๊กฉัตร” คุมเข้มมาตรการจัดสรรน้ำ “เขื่อนกระเสียว” พ้นวิกฤติแล้ง

 

สำหรับการลงพื้นที่เขื่อนกระเสียวครั้งนี้ เนื่องจากเป็น 1 ใน 2 เขื่อนภาคกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 60 ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 105 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 เป็นน้ำใช้การได้ 65 ล้าน ลบ.ม. จึงถือโอกาสเน้นย้ำทุกหน่วยงาน เตรียมมาตรการลดผลกระทบความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุดไว้ล่วงหน้า โดยการทำงานเชิงรุกในการคาดการณ์สภาพอากาศ วางแผนช่วยเหลือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง และสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนเกษตรกร และขับเคลื่อนแผนอย่างบูรณาการ โดยเน้นย้ำการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งต้องขอชื่นชมคณะกรรมการจัดการชลประทานโครงการ หรือ คณะกรรมการ JMC ของเขื่อนกระเสียว มีความเข้มแข็งมากที่เห็นได้ชัดเจนในปี 2558/59 ซึ่งเขื่อนกระเสียวมีน้ำน้อยมาก แต่สามารถบริหารจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี โดยขอความร่วมมือเกษตรกรผู้ใช้น้ำในการงดทำการเกษตรทั้งพื้นที่ ทำให้มีน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำรักษาระบบนิเวศ ผ่านวิกฤตแล้งไปได้ นับเป็นแบบอย่างการบริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่นำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ที่อาจจะต้องประสบปัญหาในช่วงฤดูแล้งเช่นเดียวกัน

 

บิ๊กฉัตร” คุมเข้มมาตรการจัดสรรน้ำ “เขื่อนกระเสียว” พ้นวิกฤติแล้ง

 

“นอกจากการบริหารจัดการน้ำต้องสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อจัดสรรน้ำที่มีอยู่ตามความเร่งด่วนตามลำดับ ได้แก่ น้ำอุปโภคบริโภค น้ำรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อการเกษตร/อุตสาหกรรม และ อื่นๆ แล้ว ต้องหาวิธีการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้แก่ การใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ การผันน้ำ การขุดเจาะบ่อบาดาล การจัดรถขนส่งน้ำ และ การปฏิบัติการฝนหลวง ขณะเดียวกันในระหว่างที่เกิดวิกฤตแล้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมให้คำแนะนำช่วยเหลือเกษตรกร ให้หลีกเลี่ยงการทำการเกษตรที่ไม่ได้ผล และมีทางเลือกในการทำการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย หรือประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ทดแทนรายได้ รวมถึงกระทรวงมหาดไทยที่จะให้การช่วยเหลือดูแลประชาชนในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ ซึ่งอาจจะพิจารณานำแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูแล้งปี 2558/59 มาดำเนินการปรับใช้ด้วย”พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว