posttoday

รมว.เกษตรฯกราบขอโทษประชาชนที่ไม่ได้ชี้แจงร่างกม.ตีทะเบียนหมา-แมว

12 ตุลาคม 2561

รมว.เกษตรฯกราบขอโทษประชาชนที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ หลังเสนอร่างพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมฯสัตว์เข้าครม.โดยไม่ชี้แจงก่อนเตรียมหารือกฤษฏีกาแก้ไขกำหนดจำนวนองค์กรที่ไม่ต้องเสียเงิน

รมว.เกษตรฯกราบขอโทษประชาชนที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ หลังเสนอร่างพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมฯสัตว์เข้าครม.โดยไม่ชี้แจงก่อนเตรียมหารือกฤษฏีกาแก้ไขกำหนดจำนวนองค์กรที่ไม่ต้องเสียเงิน 

นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กราบขอโทษประชาชนกรณีกระทรวงเกษตรฯได้เสนอร่างพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์(ฉบับที่....)พ.ศ.... ทำให้ประชาชนไม่พอใจต่ออัตราการเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงถึง 450 บาทต่อตัวทั้งสุนัข และแมว โดยเฉพาะค่าปรับที่สูงถึง25,000บาท   

ทั้งนี้ ในฐานะกระทรวงเกษตรฯเป็นเจ้าของร่าง โดยหลักการของกฏหมายนี้ต้องการจัดระเบียบดูแลสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งปัจจุบันมีการเลี้ยงกันมากแต่พอหมาแมวไม่น่ารัก ก็ปล่อย ละเลย ไม่เลี้ยง นำไปปล่อยวัด หรือที่สาธารณะ ซึ่งในร่างนี้การขึ้นทะเบียน ค่าปรับ ต่างๆยังไม่ชัดเจนยังไม่ยุติ เพราะต้องผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติก่อน

“ ในที่ประชุมครม.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีก็ท้วงติงว่าเห็นด้วยกับหลักการที่ดี แต่ขอให้กระทรวงนำกลับไปหารือปรับแก้กับกฤษฏีกาก่อน เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระประชาชน ผมก็รับมาจะหารือกับกฤษฎีกาแต่ในเรื่องนี้เผอิญว่ากระทรวงเกษตรฯไม่ได้ชี้แจงต่อประชาชน ผมเองก็ไม่คิดว่าจะมีคนสนใจกันมาก เพราะก่อนนำเสนอครม.ทางกรมปศุสัตว์ได้ขึ้นร่างนี้ในเว็ปไซต์ 1 เดือนที่ผ่านมาไม่มีคนสนใจ แต่พอเข้าครม.มีคนมาออกความเห็นเยอะแยะ มองอีกด้านเป็นเรื่องดีที่เราประสบความสำเร็จให้คนมาสนใจ หลังจากหารือกฤฏีกานำร่างเข้าสภาผมจะเสนอให้ตั้งตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง สมาคม ชมรม มูลนิธิ ภาคประชาชน เข้าร่วมด้วย"นายกฤษฏา กล่าว

รมว.เกษตรฯกล่าวว่า สำหรับค่าธรรมเนียมซึ่งมีการกำหนดราคาในการฝั่งชิพ 300 บาทต่อตัว ทำให้เห็นว่าแพง ตรงนี้ได้ถามเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ว่าทำไมต้องระบุราคาเพราะท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดการออกค่าธรรมเนียมซึ่งอาจจะไม่ถึงราคานี้หรือแพงกว่านี้ก็ได้ซึ่งจะเอาออกจากร่างพรบ.และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ไปออกข้อบัญญัติในกฏหมายลูก

นอกจากนั้นจะดูเรื่องยกเว้นไม่เก็บค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกับการประกาศให้นำปืนมาขึ้นทะเบียนปืน  ในช่วงแรกที่กฏหมายบังคับใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน   ซึ่งจะหารือกับกฤษฏีกาในการกำหนดเงื่อนเวลา  รวมทั้งแนวคิดตนจะแบ่งผู้เลี้ยงสัตว์ออกเป็น3 กลุ่ม องค์กร มูลนิธิ วัด ประชาชนที่เลี้ยงทั่วไป และเลี้ยงเพื่อการค้า เช่นกำหนดจำนวนสัตว์เลี้ยงในครอบครัวจะเป็นกี่ตัวที่ไม่เกินกำลัง สมาคม มูลนิธิ กลุ่มการค้าพาณิชย์ ที่ไม่เสียค่าธรรมเนียม และตัวที่เท่าไหร่ จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียน

ทั้งนี้ข้อเสนอของภาคประชาชน   จะนำมาดูชั้นคณะกรรมมาธิการวาระสอง  ซึ่งกระทรวงจะเสนอภาคประชาสังคม ชมรม ผู้เลี้ยง เข้าไปเสนอความเห็น ทั้งนี้จากที่ดูการคัดค้านแม้มีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก แต่เห็นด้วยหลักการของกฏหมาย เพียงแต่ให้กำหนดรายละเอียด ลดค่าธรรมเนียมค่าปรับที่ไม่เป็นภาระ ซึ่งการเสนอกฏหมายนี้ ยืนยันจะเดินหน้าในแนวทางเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนและมีความเหมาะสมการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ จะไม่ปล่อยให้ล่าช้า พยายามให้ทันรัฐบาลนี้