posttoday

"ลดชั่วโมงการทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตและผลงานที่ดีกว่า"ข้อคิดจากอาจารย์เศรษฐศาสตร์

10 ตุลาคม 2561

รองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์แนะสหภาพแรงงานเรียกร้องนายจ้างให้มีการลดชั่วโมงการทำงาน เพื่อคุณภาพชีวิตและผลงานที่ดีขึ้นของลูกจ้าง

รองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์แนะสหภาพแรงงานเรียกร้องนายจ้างให้มีการลดชั่วโมงการทำงาน เพื่อคุณภาพชีวิตและผลงานที่ดีขึ้นของลูกจ้าง

รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Voravid Charoenloet" แสดงความเห็นเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานของคนไทย และการผลักดันให้มีการลดชั่วโมงการทำงานโดยไม่ลดค่าจ้างเพื่อให้คนทำงานมีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

ในขบวนการแรงงานมีความขัดแย้งระหว่างความคิดชุดหนึ่งที่เห็นว่า​ ควรมีการจำกัดชั่วโมงการทำงาน​ กับความเห็นที่ว่า​ นอกจากการทำงานในชั่วโมงปกติแล้ว​ ควรเปิดโอกาสให้คนงานสามารถทำโอทีได้เพื่อมีรายได้เสริม​

ถ้าเห็นตามแนวคิดที่สอง​ คนงานไทยจะมีชั่วโมงการทำงานที่สูง​ (ที่สุดในโลก!)​ คือ​ 8​ ชั่วโมงเวลาทำงานปกติ​ + โอที​ 4​ ช.ม​ (ตามกฎหมาย)​ ทำงาน​ 6​ วันต่ออาทิตย์​ รวมแล้วชั่วโมงการทำงานสูงถึง​ 72 ช.ม​ ต่ออาทิตย์​

ถ้าเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายวันในบริษัทที่​ outsource​ งานของรัฐ​ เช่น​ การให้บริการบางอย่างที่โรงพยาบาลของรัฐไม่ทำ​ มี​ พยาบาลชำนาญการที่ถูกจ้างเข้ามาแบบลูกจ้างชั่วคราว​รายวัน ยิ่งมีชั่วโมงการทำงานที่สูงมาก​ๆคือ​ เริ่มงานตั้งแต่​ 6โมงเช้า​ (แทงเข็มแรก)​ เลิกงานตอน​ 2​ทุ่ม​ ทำ​ 6วันต่ออาทิตย์​ หรือ​อาทิตย์หนึ่ง​ จะทำงานถึงอาทิตย์ละ​ 84 ช.ม​ ไม่มีการจ่ายโอที​ เข้าไม่ถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน​ เป็นกรณีที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายครับ แล้วเราจะให้คนทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี​ หรือ​ งานที่มีคุณค่าได้อย่างไร

จากการศึกษา​พบว่า​ การที่ลูกจ้างมีชั่วโมงสูงมีความสัมพันธ์​อย่างมากกับการเกิดอุบัติเหตุในการทำงานเพราะความเหนื่อยล้า​จากการทำงาน​ (ชั่วโมงทำงานสูง​ ทำงานอย่างเร่งรัดบนสายพานการผลิต ถูกตั้งเป้า)​การจ้างคนงานด้วยชั่วโมงการทำงานสูง​ บริษัทจึงหลีกเลี่ยงไม่ต้องจ้างคนงานเพิ่ม​

ดังนั้น​ ในประเทศยุโรป​ สหภาพแรงงานมีความเห็นร่วมกันและขับเคลื่อนเพื่อลดชั่วโมงการทำงาน​ จากอาทิตย์ละ​ 40 ชั่วโมงให้เหลือ​เพียง 35 โดยไม่มีการลดค่าจ้างเพื่อที่คนทำงานจะได้มีเวลาเป็นของตัวเอง​มากขึ้น เช่น​ เวลาพักผ่อน​ การแสวงหาความรู้ใหม่ๆ​หรือเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน เป็นต้น​

การเรียกร้องของสหภาพแรงงานสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงการจัดองค์กรการทำงานในโรงงานคือ​ การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้ร่วมกับคนงาน​ในการผลิตและการบริการ​

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า​ การทำงานใหม่​นี้ คนทำงานมีชั่วโมงทำงานน้อยลงแต่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำการเพิ่มผลิตภาพแรงงานมาเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการให้กับคนทำงาน​ ขณะเดียวกัน​ การลดชั่วโมงทำงาน​ จะทำให้ปัญหาคนว่างงานหมดไปซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมตะวันตก​ การแบ่งปันงานระหว่างคนมีงานทำกับคนที่ไม่มีงานทำ ดังนั้น​ การต่อสู้ของขบวนการสหภาพแรงงาน​ น่าจะเรียกร้องให้มีการลดชั่วโมงการทำงานครับ

 

ภาพ เอเอฟพี