posttoday

ครม.เห็นชอบร่างกฎหมาย เลี้ยงหมา-แมวต้องขึ้นทะเบียนฝ่าฝืนโทษปรับ2.5หมื่น

10 ตุลาคม 2561

ครม.เห็นชอบร่างกม.ป้องกันทารุณกรรมสัตว์ บังคับเลี้ยงหมา-แมวต้องขึ้นทะเบียน ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2.5 หมื่นให้ท้องถิ่นออกข้อกำหนดจัดเก็บ

ครม.เห็นชอบร่างกม.ป้องกันทารุณกรรมสัตว์ บังคับเลี้ยงหมา-แมวต้องขึ้นทะเบียน ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2.5 หมื่นให้ท้องถิ่นออกข้อกำหนดจัดเก็บ

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมตรี มีมติเห็นชอบร่างพรบ.ป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ฉบับ พ.ศ... แก้ไขเพิ่มเติม 2557 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญคือกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) สามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดให้เจ้าของสัตว์เลี้ยง นำสัตว์เลี้ยงมาขึ้นทะเบียน และกำหนดโทษสำหรับความผิดของเจ้าของสัตว์เลี้ยงผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่น และเพิ่มอำนาจเปรียบเทียบให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพรบ. แต่โม่เกินกว่าที่พรบ.กำหนด โดยโทษปรับตามพรบ.อยู่ที่ไม่เกิน 25,000 บาทหากไม่ดำเนินการชำระค่าปรับให้ดำเนินคดีต่อไป

ก่อนหน้านี้กฏหมายเพื่อคุ้มครองสัตว์จากการทารุณกรรมจากมนุษย์ มีเพื่อจัดสวัสดิภาพสัตว์อย่างเหมาะสม เช่นพรบ.ปี 2535 ที่กำหนดให้ ท้องถิ่นสามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าด้วยการควบคุมสัตว์เลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ แต่ข้อบัญญัติดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมถึงการให้เจ้าของสัตว์มีหน้าที่ต้องนำสัตว์มาขึ้นทะเบียน ทำให้เกิดการทอดทิ้งสัตว์จำนวนมาก เนื่องจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่มีการคุมจำนวนสัตว์ของตนเอง และบางส่วนนำมาสู่การทำให้เกิดโรคระบาดในสัตว์และติดต่อถึงมนุษย์ จึงต้องมีการแก้ไขและเสนอมายังครม.เพื่อพิจารณา

กรมปศุสัตว์ได้มีการนำร่างพรบ.ไปรับฟังตาม มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ 16 ก.ค. 61-1 ส.ค. 61 ในเว็บไซด์ ทั้งนี้เมื่อร่างพรบ.ผ่านสภานิติบัญญัติแล้ว ให้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับ

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจะเริ่มที่สัตว์เลี้ยง 2 ชนิดคือ สุนัข และแมว ยังไม่ขยายไปยังสัตว์เลี้ยงในกลุ่มอื่น

ทั้งนี้ร่างพรบ.กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพรบ. ว่า คำร้องขอขึ้นทะเบียนฉบับละ50 บาท สมุดประจำตัวสัตว์ฉบับละ 100 บาท และเครื่องหมายประจำสัตว์ตัวละ 300 บาท

สำหรับความเห็นของหน่วยงานอื่นเช่น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ(สศช. ) เสนอว่า กรมปศุสัตว์ควรทำความเจ้าใจกับประชาชนในระยะแรก และให้ท้องถิ่นประชาสัมพันธ์เป็นระยะเพื่อสร้างความรับรู้เบื้องต้น และท้องถิ่นควรมีการติดตามการขึ้นทะเบียนทุกปี รวมถึงการฉีดวัคซีน และเชื่อมโยงกับข้อมูลสาธารณสุข

ในขณะที่เลขาธิการครม.เห็นว่าเมื่อมีการดำเนินการตามกฎหมายจะเป็นการลดภาระงบประมาณ ลดการเกิดโรคระบาดสัตว์ที่ติดมนุษย์