posttoday

จี้รัฐหยุดจ้างงานเอาเปรียบ เหตุถูกจ้างเหลือแค่ปีต่อปีขาดความมั่นคง

08 ตุลาคม 2561

เหล่าชาวลูกจ้าง เดินขบวนเรียกร้องรัฐดูแลสภาพการจ้างไม่ให้ถูกเอาเปรียบ หลังราชการ-เอกชน ใช้เทคนิคจ้างงานแค่ปีต่อปี

เหล่าชาวลูกจ้าง เดินขบวนเรียกร้องรัฐดูแลสภาพการจ้างไม่ให้ถูกเอาเปรียบ หลังราชการ-เอกชน ใช้เทคนิคจ้างงานแค่ปีต่อปี

เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน อาทิ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. ได้นัดรวมตัวกันเนื่องในวัน “งานที่มีคุณค่าสากล 2561 World Day for Decent Work 2018” ก่อนเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นรายชื่อมากกว่า 1 หมื่นคน เรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้ายกเลิกการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมทุกรูปแบบ

นายสาวิทย์ กล่าวว่า สภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมมีอยู่จำนวนมาก แม้กระทั่งหน่วยงานราชการ อย่างกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม ก็ไม่มีการจ้างข้าราชการเพิ่มแล้ว แต่แปลงเป็นพนักงานลูกจ้างสัญญารายปี รายวัน ซึ่งไม่เป็นธรรม จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกการจ้างงานไม่เป็นธรรมทุกรูปแบบ และเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ ให้ออกมาใช้เร็วที่สุด โดยจะจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะมีรายงานว่ามีผู้ประกอบการพยายามขัดขวาง

นายชาลี กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การจ้างที่ไม่มีความมั่นคง การจ้างเหมาค่าจ้าง และจ้างซับคอนแทรกต์มีมากขึ้นในทุกสถานประกอบการ สัดส่วนมากกว่าพนักงานประจำ ประมาณ 60 ต่อ 40 ซึ่งคนทำงานเหล่านี้ไร้หลักประกันความมั่นคง ขาดสวัสดิการที่ควรได้รับ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้เรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานมา 3 ปีแล้ว แต่ไม่มีการแก้ไขขนาดสำนักงานประกันสังคมก็ยังมีปัญหาโดยเปลี่ยนการจ้างงานระยะยาวจนเกษียณ มาเป็นการต่ออายุทุกๆ 4 ปี ถือเป็นการลิดรอนสิทธิ ไม่เป็นธรรม ดังนั้นทางเครือข่ายจะต่อสู้จนถึงที่สุด และขอให้รัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการให้ยกเลิกการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมทุกรูปแบบ และขับเคลื่อนการดูแลความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน เพราะปัจจุบันเรื่องนี้ถูกละเลยมาก จนเห็นความเจ็บป่วยจากการทำงานมากขึ้น เห็นได้จากการจ่ายเงินทดแทนที่เพิ่มมากขึ้น

นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธาน สลท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเคยเดินทางไปเรียกร้องที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้พิจารณาเรื่องการจ้างงานและอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม เป็นธรรมแล้ว ซึ่ง รมว.สาธารณสุข ยังได้ลงนามรับเรื่องไปแก้ไขปัญหาในนามของผู้แทนรัฐบาลแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นจะเตรียมตัวที่จะทวงถามความชัดเจน

นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับมอบหนังสือจากเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน กล่าวว่า จะนำเรื่องนี้รายงานให้ รมว.แรงงาน ทราบ เพื่อนำเรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบต่อไป ทั้งนี้ตามกระบวนการอาจจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว