posttoday

เจาะเวลาหาสังคโลก ฟื้นหาอนาคตของศิลปะเครื่องถ้วยโบราณ

06 ตุลาคม 2561

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในกลางปี 2559 มีงานเสวนา 4 ทศวรรษแห่งการอนุรักษ์

โดย ทีม@Weekly
 

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในกลางปี 2559 มีงานเสวนา 4 ทศวรรษแห่งการอนุรักษ์ และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยมีการอนุรักษ์เตาทุเรียง ซึ่งกรมศิลปากรใช้งบประมาณหลายสิบล้านบาทขุดแต่งเตาทุเรียง ที่เผาเครื่องสังคโลก ถ้วยชามเครื่องเคลือบสีต่างๆ ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ บริเวณคันดินรอบวัดพระพายหลวง ที่มีกว่า 50 เตา ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2565 ซึ่งโชว์ภูมิทัศน์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แหล่งเตาทุเรียงได้ชัดเจนและสวยงาม

เตาทุเรียง เป็นเศษเสี้ยวของซากอดีตในยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมสังคโลกของสุโขทัย เมื่อ 600-700 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีการสืบทอดการทำเครื่องสังคโลก และเกิดการซื้อขายในกลุ่มนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น การพลิกฟื้นเครื่องสังคโลก ศิลปะโบราณ ที่มีคุณค่าสู่การค้าสากล สินค้าส่งออกอันเลื่องชื่อในอดีต ให้ได้รับการพัฒนาทางด้านการออกแบบ คุณภาพ และยังคงความงามด้วยวิธีการเขียนแบบโบราณ ผสานกับการทำตลาดยุคใหม่

ในยุคปัจจุบัน เครื่องสังคโลกจะกลับมาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอีกครั้ง

กลับสู่อดีตอันรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมสังคโลก

 

เจาะเวลาหาสังคโลก ฟื้นหาอนาคตของศิลปะเครื่องถ้วยโบราณ

ข้อมูลจากนิทรรศการจัดแสดงถาวรในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จ.สุโขทัย เกี่ยวกับ “สังคโลก” เป็นชื่อเรียกเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งแบบโบราณที่ผลิตขึ้นในสุโขทัย เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20 มีทั้งชนิดไม่เคลือบและเคลือบสีต่างๆ เช่น สีน้ำตาล สีเขียวไข่กา สีขาว

การตกแต่งลวดลายบนสังคโลก พบทั้งการขูดขีดให้เป็นลวดลาย การปั้นแปะ และการเขียนสีดำให้เป็นลวดลาย โดยเคลือบน้ำเคลือบใสทับอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งลวดลายที่พบมาก ได้แก่ ลายปลา ลายกงจักร ลายสังข์ และลายดอกไม้ก้านขด เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์สังคโลก มีมากมายหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เป็นต้นว่า

1.ใช้เป็นภาชนะใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น จาน ชาม ถ้วย ขวด ไห ตลับ กระปุก ตะเกียง เป็นต้น

2.ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น คนโทที่มีรูปแบบพิเศษ รูปเคารพทางศาสนา ไหบรรจุอัฐิ และตุ๊กตาเสียกบาล เป็นต้น

3.สำหรับเป็นเครื่องประดับตกแต่งสถาปัตยกรรม ซึ่งพบทั้งช่อฟ้า หรือปั้นลม กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น บราลี หางหงส์ ราวลูกกรง แปครอบ รูปโทวาริกที่ทำเป็นรูปยักษ์เฝ้าศาสนสถานและรูปมกรสำหรับตกแต่งราวบันได

4.ใช้เป็นของเล่น เช่น รูปตุ๊กตาผู้ชายอุ้มไก่ แม่อุ้มลูก รูปสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ช้าง สุนัข ไก่ เต่า และรูปตุ๊กตามวยปล้ำ เป็นต้น

5.อื่นๆ ได้แก่ ท่อน้ำสำหรับการชลประทาน เป็นต้น

 

เจาะเวลาหาสังคโลก ฟื้นหาอนาคตของศิลปะเครื่องถ้วยโบราณ

 

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 เครื่องสังคโลกได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพดีขึ้น ทั้งเนื้อดิน น้ำเคลือบ รูปทรง ตลอดจนการตกแต่งลวดลาย สามารถส่งออกไปจำหน่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยได้พบเครื่องสังคโลกสุโขทัยเป็นจำนวนมากในซากเรืออับปางบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยและชายฝั่งทะเลตอนใต้ ในลักษณะเป็นทั้งภาชนะใช้สอยในชีวิตประจำวันและเป็นสินค้า

นอกจากนั้น ยังได้พบเครื่องสังคโลกในแหล่งฝังศพของชุมชนโบราณในประเทศฟิลิปปินส์ แสดงถึงการแพร่กระจายของเครื่องสังคโลกยังต่างแดนได้เป็นอย่างดี

จากสมมติฐานเรื่องสังคโลกจากการสัมมนา “การค้าสังคโลก” รายงานการสัมมนาวิเคราะห์เรือโบราณที่ค้นพบในอ่าวไทย สำหรับการเกิดของสังคโลก ที่ประชุมมีการตั้งข้อสงสัยว่า สังคโลกอาจเกิดขึ้นหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหง อาจเป็นสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยก็ได้ ทั้งนี้เพื่อใช้ภายในอาณาจักร และส่งไปขายเป็นสินค้าออกแทนของจีนที่ขาดตลาด

การส่งออกที่แท้จริงนั้น น่าจะเป็นสมัยอยุธยาตอนต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยราชวงศ์สุพรรณบุรี ตลาดสังคโลก มีผู้ส่งออกคือ อยุธยา ซึ่งส่งไปขายที่หมู่เกาะอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เป็นสำคัญ มีปัญหาว่าสังคโลกนั้นไม่น่าจะมีตลาดมากในอินเดีย เปอร์เซีย อาระเบีย แอฟริกา หรือจีน ญี่ปุ่น ถึงแม้จะมีการพบสังคโลกอยู่บ้างแต่ก็เป็นจำนวนน้อย

นอกจากนั้น หลักฐานทางด้านโบราณคดีก็ชี้ให้เห็นว่า สังคโลกนั้นถูกส่งไปขายตามหัวเมืองชายทะเลในอ่าวไทยด้วย มีการเสนอว่า เรือขนส่งนั้นเป็นเรือสำเภาที่ได้รับอิทธิพลจีน เรือเหล่านี้เป็นเรือทั้งขนาดกลางเดินเลาะชายฝั่ง หรือขนาดใหญ่เดินทะเล เจ้าของเรือน่าจะเป็นเจ้านายไทย โดยความร่วมมือของลูกเรือจีน ลูกจีนหรือคนไทยแถวหัวเมืองชายทะเลก็ได้

เรือขนส่งนั้นอาจมีเรือต่างชาติด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรือจีน ญี่ปุ่น ญวน และบรรดาชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะชาติในหมู่เกาะอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

สำหรับเส้นทางการค้าสังคโลก มีการเสนอว่าเส้นทางภายใน ใช้เรือเล็กลำเลียงสินค้าจากสุโขทัย ผ่านแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ ออกสู่เมืองท่าในอ่าวไทย

จากนั้นจึงขนส่งโดยเรือสำเภาไปยังหัวเมืองชายทะเลในอ่าวไทย และออกสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งที่สำคัญน่าจะเป็นแหลมมลายูหมู่เกาะอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ส่วนเส้นทางบกที่ออกสู่เมาะตะมะ มะริด และตะนาวศรีนั้น น่าจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัญหาการขนส่ง ค่าจัดการ และสภาพทางการเมือง

การสิ้นสุดของสังคโลก มีการเสนอว่าน่าจะสิ้นสุดลงในสมัยก่อนเสียกรุงครั้งที่ 1 ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ประมาณสมัยของพระมหาจักรพรรดิ สาเหตุของการเสื่อมของสังคโลก 1.เนื่องจากความต้องการสังคโลกในตลาดลดลง เพราะว่ามีพ่อค้าชาวจีนนำเครื่องเคลือบจีนเข้ามาแย่งตลาดคืนไปราวประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 20

2.ชาวตะวันตกเข้ามายึดเมืองท่าต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำการควบคุมการค้า และเน้นการค้าขายเครื่องเคลือบจีนและญี่ปุ่น

และ 3.สภาพสงครามไทย-พม่า อันเป็นผลให้เกิดความปั่นป่วนในอาณาจักรอยุธยา จนถึงการเสียกรุงครั้งที่ 1 ซึ่งนำความยุ่งยากและความเสื่อมสลายมาสู่อุตสาหกรรมสังคโลก

สังคโลก สืบทอดอย่างยั่งยืน

 

เจาะเวลาหาสังคโลก ฟื้นหาอนาคตของศิลปะเครื่องถ้วยโบราณ

 

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีเทคโนโลยีการทำเครื่องปั้นดินเผาอื่นๆ ได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการผลิตทำให้ผู้บริโภคมีสินค้าทดแทนที่สามารถเลือกซื้อได้หลากหลายและมีราคาถูกกว่าเครื่องสังคโลกมาก ส่งผลกรรมวิธีในการทำเครื่องสังคโลกแบบดั้งเดิมที่เกิดจากภูมิปัญญาในท้องถิ่นเริ่มค่อยๆ สูญหายไป ผู้ประกอบการทยอยปิดตัวหันไปทำอาชีพอื่น

ความสำคัญของเครื่องสังคโลกเป็นมากกว่าวัตถุสิ่งของ แต่คือตัวแทนของการบอกเล่าเรื่องราวในอดีต ความเจริญ และความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักรสุโขทัย

สังคโลก คือสิ่งที่ชาวเมืองสุโขทัยภาคภูมิใจ เพราะงานทุกชิ้นที่ผลิตถือเป็นหัตถศิลป์ที่มีชิ้นเดียวไม่ซ้ำกัน ช่างแต่ละคนมีความคิดสร้างสรรค์เป็นของตนเอง มีความภูมิใจในงานที่ตนเองผลิตขึ้น โดยออกแบบผลิตเครื่องสังคโลกเป็นถ้วยชาม ของที่ระลึกที่สวยงามและมีความงดงามประณีตมาก

ผลงานแต่ละชิ้นจะต้องใช้ช่างถึง 3 คนในการทำงาน คือ ช่างปั้น ช่างเขียนลาย ลงสีจากธรรมชาติและช่างเก็บรายละเอียด ใช้เวลาตั้งแต่ 2 ชั่วโมงขึ้นไปจนถึงหลายเดือน ตามขนาดและความยากง่ายของผลิตภัณฑ์

ความงามของเครื่องสังคโลกที่ข้ามกาลเวลากว่า 700 ปี ที่ศิลปะและภูมิปัญญาการทำเครื่องสังคโลก ของดี จ.สุโขทัย ได้สืบทอดกันมานานจากรุ่นสู่รุ่น และยังคงเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้าไปชื่นชม ซื้อหา เป็นของฝากของที่ระลึก ปัจจุบันมีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ พัฒนาการผลิตเครื่องสังคโลก ให้มีความทันสมัย สดใสขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของเครื่องสังคโลก

เมื่อองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เข้าไปพัฒนาสุโขทัย ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เป็นต้นแบบเมืองมรดกโลก จึงต้องพัฒนาทั้งคน ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม

พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิทผู้อำนวยการ อพท. ได้วางแนวคิดของการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนไว้ว่า ต้องไม่ใช่เพียงแค่การอนุรักษ์ และต้องสร้างให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน บางอย่างจึงต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง

“การพัฒนาครั้งนี้ อพท.ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากเชียงใหม่ศิลาดล มาร่วมออกแบบ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ในเบื้องต้นทำ 3 แบบ คือ ชามสลัด ถ้วยซุป และจาน เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำ ปรับรูปแบบให้มีความร่วมสมัย สวยงาม สะดวกต่อการใช้งาน และปรับลวดลายให้มีความประณีต แต่ยังคงเอกลักษณ์ของสังคโลกสุโขทัยเอาไว้โดยรวม และยังเพิ่มเทคนิคการเขียนลายและการเคลือบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์”

เป้าหมายสำคัญคือให้เครื่องสังคโลกยังคงอยู่และสืบสานต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น ได้รับความร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) ในการพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สังคโลกเพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

 

เจาะเวลาหาสังคโลก ฟื้นหาอนาคตของศิลปะเครื่องถ้วยโบราณ

การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการปรับปรุงทั้งกระบวนการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบ เช่น การเตรียมดินสำหรับปั้น เนื้อดินต้องเนียนละเอียดสม่ำเสมอเป็นเนื้อเดียวกัน มีคุณภาพคงที่ แนะนำวิธีการควบคุมความชื้น โดยต้องมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ทั้งกระบวนการผลิต เพราะการเปลี่ยนแหล่งวัตถุดิบจะส่งผลให้การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบทำได้ยาก มีผลต่อคุณภาพของชิ้นงานที่ได้ภายหลังเผา

โชติกา ตันติวัฒนกุลชัย นักพัฒนาธุรกิจอาวุโส กองบริการธุรกิจนวัตกรรม วว. ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงาน บอกว่า ความสำเร็จในการดำเนินงานเรื่องพัฒนาสังคโลกให้ร่วมสมัยครั้งนี้ คือการที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและร่วมมือกันช่วยให้เครื่องสังคโลกยังคงอยู่และสืบสานต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น

“การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการแปลงคุณค่าให้เป็นมูลค่า นอกจากจะพัฒนาคุณภาพ รูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์แล้วยังการปรับปรุงกระบวนการผลิต ลดต้นทุนการผลิตด้วยการลดของเสียในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในขั้นตอนการเผาถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากมรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ก็ย่อมส่งผลให้สังคโลกคงอยู่สืบต่อไปอย่างยั่งยืน”

ภายหลังที่ได้มีการควบคุมคุณภาพการผลิต พบว่าคุณภาพชิ้นงานสังคโลกดีขึ้นร้อยละ 19 ลดการแตกร้าวจากกระบวนการผลิตได้ร้อยละ 20-30 สามารถลดความหนาของชิ้นงานช่วยลดเวลาการเผาได้ร้อยละ 30-50 จึงประหยัดแก๊สได้ร้อยละ 30 และเมื่อผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักเบาขึ้นจึงช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งในการจัดจำหน่าย อีกทั้งยังพบว่าผลิตภัณฑ์มีจุดสีดำลดลง เนื้อดินเนียนและมีความสม่ำเสมอมากขึ้น

เกศ พูลดี ร้านเกศอนงค์ สังคโลก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย บอกว่า นอกจากเทคนิคต่างๆ ที่ได้เรียนรู้และพัฒนางานสังคโลกให้มีคุณภาพมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนลดลง

“สิ่งสำคัญเลยที่ได้รับคือแรงบันดาลใจ เชื่อมเราไปสู่เครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีที่ปรึกษาและแนวคิดดีๆ จากบทเรียนความสำเร็จของคนในสายอาชีพเดียวกัน ได้รับพลังจากคนที่มีมุ่งมั่นตั้งใจเหมือนกันกับเรา ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสืบสานงานศิลป์ของชาติบวกกับความร่วมแรงร่วมใจขององค์กรภาครัฐ สังคโลกไม่มีวันตายแน่นอนครับ”

การสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการออกแบบและจัดทำบรรจุภัณฑ์ให้มีสวยและแข็งแรงทนทานต่อการขนส่งระยะไกล ช่วยเพิ่มมูลค่าและช่วยป้องกันการเกิดความเสียหายแก่ผลิตภัณฑ์ในการขนส่งจัดจำหน่าย และร่วมมือกับสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย พัฒนาศักยภาพด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบออนไลน์ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สังคโลก

สำหรับการเน้นการเรียนรู้เทคนิคการตลาดออนไลน์สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ในระบบออนไลน์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีการพัฒนาศักยภาพถึงขั้นเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการถ่ายภาพ การเขียนเนื้อหาที่จะนำเสนอ และการใช้แพลตฟอร์มที่เป็นนวัตกรรมทางการตลาดออนไลน์ โดยหวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถยกระดับการตลาดและช่องทางการขายของการท่องเที่ยวไทย ทำให้ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวของชุมชนที่เป็น Offline สามารถเข้าสู่โลก Online ได้ในอนาคต