posttoday

“บิ๊กฉัตร” เผย“แผนบริหารจัดการน้ำ”ช่วยรัฐประหยัด 5 เท่า

05 ตุลาคม 2561

รองนายกรัฐมนตรี เผย แผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว สามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้ตรงจุดและช่วยรัฐลดงบประมาณในการเยียวยาผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก

รองนายกรัฐมนตรี เผย แผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว สามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้ตรงจุดและช่วยรัฐลดงบประมาณในการเยียวยาผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก 
 
พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลใช้วิธีการบริหารจัดการน้ำจนส่งผลให้ลดการใช้จ่ายงบประมาณในการเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นจำนวนมากสะท้อนให้เห็นว่า การทำความเข้าใจกับประชาชนและใช้การบริหารจัดการน้ำทำให้แก้ปัญหาได้ตั้งแต่ปี 2558 - 2560 รัฐบาลได้มีการประกาศภัยแล้งแต่น้อยลงทำให้งบประมาณในการเยียวยาลดน้อยลงตาม ซึ่งถือว่าเป็นแผนบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ  โดยรัฐบาลได้ปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำ จัดตั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ การจัดทำแผนยุทธ์ศาสตร์ การจัดทำร่างกฏหมายน้ำ และการตั้งองค์กรกลาง ในการกำกับดูแล คือ กนช.และ สทนช. ประกอบกับการจัดทำระบบ Area Based 66 พื้นที่ รวม 29.70 ล้านไร่ ตอบโจทย์ น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็มรุก พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว   ส่งผลให้การทำงานได้ผลงานเร็วกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาถึง 4 เท่า และประหยัดงบประมาณในการดำเนินการได้กว่า 25,000 ล้านบาท  และในผลระยะสั้น ทำให้บรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้อยลง และรัฐบาลใช้งบประมาณในการช่วยเหลือ/เยียวยาลดลงมาก

ซึ่งงบประมาณในการช่วยเหลือ/เยียวยารวม ตั้งแต่ปี 2551-2561 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 158,630 ล้านบาท แยกเป็นด้านการเกษตร 86,314 ล้านบาท ด้านอื่นๆ 72,316 ล้านบาท  ขณะที่รัฐบาลนี้ ใช้ในการช่วยเหลือ/เยี่ยวยา ด้านการเกษตรกับด้านอื่นๆ ตั้งแต่ ก.ค.57-ก.ย.61 ใช้งบประมาณรวม 18,594 ล้านบาท แยกเป็น ด้านการเกษตร 10,261 ล้านบาท ด้านอื่นๆ 8,333 ล้านบาท  ซึ่งถือว่ารัฐบาลนี้ ใช้งบประมาณน้อยกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาถึง 5 เท่า 

รองนายกรัฐมนตรี  ยังกล่าวว่า รัฐบาลได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา”มาบริหารจัดการน้ำทั้งระบบในทุกพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง สามารถลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด ถึงแม้จะอยู่ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก็ตาม  โดยจะเห็นว่า ตั้งแต่ปี 2551-2561 แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา มีการประกาศเขตให้การช่วยเหลือภัยแล้ง ช่วงปี 2551-2554 จำนวน 22,813 หมู่บ้าน /ปี 2555-2557 จำนวน 20,915 หมู่บ้าน และปี 2558-2560 มีการประกาศภัยแล้งแต่น้อยลง เหลือเพียง 3,030 หมู่บ้าน ส่วนปี 2561 ไม่มีการประกาศภัยแล้งเลย ซึ่งเป็นผลมาจากแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลปัจจุบัน 

สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมและได้การประกาศเขตช่วยเหลือน้ำท่วม พบว่า มีการประกาศเขตพื้นที่น้ำท่วมลดลดลง โดยเฉพาะในปี 2560 มีปริมาณน้ำฝน 1,829 มม. ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2554 ที่ปริมาณน้ำฝน 1,948 มม. แต่มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายต่างกัน โดยปี 2554 มีพื่นที่เสียหายถึง 12.23 ล้านไร่ และปี 2560 มีพื้นที่เสียหายเพียง 4.83 ล้านไร่ ลดลงประมาณ 2.5 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงการทำงานของรัฐบาลที่ต้องการให้การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเกิดความยั่งยืน