posttoday

เตือนซ้ำสารพิษในผักผลไม้! "หมอธี"ยันน้ำล้างไม่ออก

02 ตุลาคม 2561

"หมอธีระวัฒน์" แฉ กระทรวงเกษตรฯ-สาธารณสุข พูดความจริงไม่หมดกรณีสารตกค้างในผักผลไม้ 60% ล้างไม่ออก

"หมอธีระวัฒน์" แฉ กระทรวงเกษตรฯ-สาธารณสุข พูดความจริงไม่หมดกรณีสารตกค้างในผักผลไม้ 60% ล้างไม่ออก

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า สิ่งที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้บอกประชาชนกรณีแถลงผลสุ่มตรวจผักและผลไม้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ 1.ไม่ระบุว่าสารที่ตกค้างส่วนใหญ่ประมาณ 60% ล้างไม่ออก 2.ไม่บอกว่า ห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการตรวจนั้นวิเคราะห์สารพิษกำจัดศัตรูพืชได้กี่ชนิด

ทั้งนี้ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมีประมาณ 280 ชนิด แต่ส่วนใหญ่การสุ่มตรวจที่ผ่านมาของหน่วยงานราชการตรวจได้เพียง 10% ของจำนวนสารที่มีการใช้ในประเทศเท่านั้น

นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่หน่วยงานรัฐแถลงต่อประชาชนเรื่องความปลอดภัยของผักและผลไม้ จึงเต็มไปด้วยมายาคติหลายชั้น และแม้อ้างว่าจะมีสารตกค้างเกินมาตรฐาน แต่เมื่อประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่าปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่รับไม่ได้

นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานในผักผลไม้และอาหารนั้นก็ถือเป็นอาหารพิษ ดังนั้น ต้องเรียกร้องให้หน่วยงานราชการแถลงข้อมูลทั้งหมดต่อประชาชน การแถลงร่วมอำมหิต อัปยศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ครั้งนี้ สธ.ถูกลากเข้าไปอยู่ในเกมของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อโน้มน้าวให้เห็นว่าผักและผลไม้ไม่มีการตกค้างมากและปลอดภัย การล้างผักที่บอกกันก็ไม่ได้ใช้ความรู้ ดังที่เราทราบว่าสารพิษที่ตกค้างส่วนใหญ่เป็นสารดูดซึมและอีกอย่างคือวิธีการล้างผักแต่ละวิธีล้างออกได้ไม่เท่ากัน

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า ทุกวันนี้ในสังคมต้องเจอสารพิษตกค้างในผักผลไม้ ซึ่ง สธ.ไม่ได้อยากให้มี แต่เมื่อมีการออกไปสำรวจก็ต้องออกมาเปิดเผย และเสนอแนะว่าวิธีใดที่จะลดปัญหาได้ ซึ่งการที่บอกว่าให้ล้างผักผลไม้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาสารเคมีตกค้างลงไปได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า การล้างจะทำให้สะอาดหรือคลีนไปทั้งหมด 100% แต่ที่สื่อสารออกไปเพราะดีกว่าไม่บอกหรือไม่ทำอะไร อย่างน้อยก็เพื่อให้ประชาชนถูกสารเคมีน้อยลง และเรื่องนี้ต้องสื่อสารบ่อยๆ เพื่อให้คนตื่นตัวมากขึ้น สิ่งสำคัญหากร่วมมือกันเปลี่ยนด้วยการลดใช้สารเคมี และหันมาใช้สารจากธรรมชาติมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้สินค้ามีคุณภาพมากขึ้นและมีความปลอดภัยมากขึ้นในอนาคต

สำหรับการเลิกใช้สารเคมีนั้น โดยเฉพาะกรณีการแบนสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต สธ.ยืนยันตามนโยบายของ รมว.สาธารณสุข ว่าจะต้องแบน เพียงแต่อำนาจในการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่ สธ.เพียงอย่างเดียว

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ที่ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ที่พบมีสารตกค้างเกินมาตรฐาน 11% นั้น ทั้งสองกระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิตเพื่อตักเตือนให้คำแนะนำให้ใช้สารเคมีให้ถูกต้อง ซึ่งหากไม่แก้ไขก็จะถอนใบรับรองที่เกษตรกรได้รับ หรือใบอนุญาตของโรงคัดบรรจุ รวมทั้งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สำหรับสารพิษตกค้างในระดับเกินมาตรฐาน 11% ในจำนวนนี้มี 10 ตัวอย่างที่พบสารเคมีในระดับสูงเกินระดับที่ปลอดภัย หรือคิดเป็น 0.14% ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด ส่วนใหญ่พบในส้ม ซึ่งเมื่อนำส้มไปล้างทั้งผลและปอกเปลือกออกแล้ว สารพิษตกค้างลดลงมากกว่า 40-80% อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค