posttoday

15 ปี Car Free Day... ฤๅจะไปไม่ถึงฝั่ง

30 กันยายน 2561

22 ก.ย.ของทุกปีถือเป็นวัน Car Free Day เป็นวันที่ 50 องค์กร

โดย/ภาพ : Withaya Heng
 
22 ก.ย.ของทุกปีถือเป็นวัน Car Free Day เป็นวันที่ 50 องค์กรทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทาง เปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งมวลชนหรือใช้การเดินและปั่นจักรยานแทน เพื่อลดมลภาวะทางอากาศอันเกิดจากการใช้พลังงาน ในสาระสำคัญจริงๆ จะรวมถึงการพัฒนาชุมชน การรณรงค์ให้ทำงานใกล้บ้าน ช็อปปิ้งในระยะที่สามารถเดินถึง เพื่อลดการใช้รถยนต์ในชีวิตประจำวัน แต่ในประเทศไทยเราพุ่งเป้าไปที่การใช้จักรยานเป็นหลักจนแทบจะเปลี่ยนเป็นวันจักรยานแห่งชาติก็ว่าได้
 
กิจกรรม Car Free Day ในประเทศไทยเริ่มจัดครั้งแรกในปี 2546 ในการจัดงานครั้งแรกๆ เป็นการจัดโดยภาคประชาชนโดยขอการสนับสนุนจากภาครัฐ มีผู้สนใจร่วมงานไม่มากอยู่ในหลักร้อย เมื่อมีการจัดต่อเนื่องมาทุกปี ก็มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้นตามลำดับจนเพิ่มขึ้นเป็น 3,000-4,000 คนในกรุงเทพฯ และมีการขยายไปจัดในจังหวัดต่างๆ แทบทุกจังหวัด ครั้นเมื่อกระแสจักรยานจุดติดในปี 2555 จำนวนผู้ร่วมกิจกรรมใน กทม. เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่น และไปสูงสุดถึงกว่า 3 หมื่นคนในปี 2557-2558 เรียกว่าเป็นวันจักรยานครองเมืองกันเลย
 

15 ปี Car Free Day... ฤๅจะไปไม่ถึงฝั่ง

 
ช่วงกระแสจักรยานฮิตติดลมบนนั้นแรงสนับสนุนหลั่งไหลมาจากทุกสาย หน่วยงานต่างๆ แย่งกันมาเป็นเจ้าภาพ ข้อเสนอข้อเรียกร้องของชาวจักรยานที่เรียกร้องกันมาตลอด คืออยากจะให้มีทางจักรยานที่ใช้งานได้จริง ได้รับการขานรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย นำไปสู่ความฝันที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองจักรยานในแบบเดียวกับเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือกรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เกิดทางจักรยานในเกาะรัตนโกสินทร์ที่ไม่เพียงแต่ทาสีตีเส้น แต่ยังมีเสากั้นจราจรแบ่งเลนอย่างชัดเจนอีกด้วย
 
เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดูจะเข้มงวดกวดขันไม่ให้ทางจักรยานถูกนำไปเป็นที่จอดรถหรือกลายเป็นเลนมอเตอร์ไซค์ เป็นก้าวแรกที่ดูเหมือนจะนำไปสู่ทิศทางที่สดใส
 

15 ปี Car Free Day... ฤๅจะไปไม่ถึงฝั่ง

 
หากสถานการณ์การจราจรในเมืองกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทั้งลอยฟ้าและใต้ดินในถนนหลักหลายๆ เส้นทาง ยิ่งใน 2 ปีที่ผ่านมามีการขยายการก่อสร้างออกไปทั่วกรุงเทพฯ ถนนที่เดิมก็แทบจะไม่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณรถยนต์อยู่แล้วกลับต้องเสียพื้นผิวจราจรไปอีก ทำให้การปั่นจักรยานบนท้องถนนในบางเส้นทางแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
 
พร้อมกันนั้น กระแสจักรยานก็เริ่มแผ่วลงและดูเหมือนจะหมดแรงหนุนไปด้วย งาน Car Free Day ในปีนี้ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปจึงเงียบเชียบถึงขนาดที่ผู้จัดประมาณการในตอนแรกว่าจะมีผู้ร่วมงานประมาณ 500 คนเท่านั้น แต่เมื่อเปิดให้ลงทะเบียนก็ปรากฏว่าเต็มอย่างรวดเร็วจนต้องขยายเป้าหมายไปที่ 2,000 คน ซึ่งในวันงานจริงมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 5,000 คน (ตัวเลขที่ผู้จัดประกาศในงาน) แสดงถึงประชากรจักรยานที่ยังคงมีอยู่ไม่น้อย
 

15 ปี Car Free Day... ฤๅจะไปไม่ถึงฝั่ง

 
หากมองไปในอนาคตอีก 3-4 ปีข้างหน้า เมื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้วเสร็จทั้งระบบ ผิวการจราจรบนถนนหลักที่ได้กลับคืนมาก็ยังคงลดน้อยลงกว่าเดิม ความคิดที่จะเจียดถนนหนึ่งเลนให้เป็นทางจักรยานนั้น แทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย
 
ทว่า ในความไร้ระเบียบของผังเมืองกรุงเทพฯ ได้สร้างตรอกซอกซอยต่างๆ ไว้มากมาย และในหลายๆ พื้นที่ซอยย่อยเหล่านี้ก็มีการเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่สามารถใช้เดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ทางจักรยานรุ่นแรกที่เขตคลองสานทำไว้โดยการตีเส้นไปตามซอยย่อยๆ ที่เชื่อมต่อกันจากท่าน้ำคลองสานสามารถลัดเลาะไปถึงสะพานพุทธ ต่อทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงวัดกัลยาณมิตรได้โดยไม่ต้องออกถนนใหญ่เลย
 

15 ปี Car Free Day... ฤๅจะไปไม่ถึงฝั่ง

 
หรือทางเลียบคลองบางพรหมจากถนนราชพฤกษ์ สามารถลัดเลาะไปได้ถึงพุทธมณฑลสาย 5 เส้นทางเหล่านี้หากมีการสำรวจอย่างจริงจังและประชาสัมพันธ์ให้คนได้รู้จัก ในอนาคตสามารถใช้เป็นโครงข่ายการเดินทางร่วมกับระบบรถไฟฟ้าได้เป็นอย่างดีโดยที่ไม่ไปต้องพึ่งถนนหลัก และหากเสริมด้วยที่จอดจักรยานที่มีความปลอดภัยก็เท่ากับครบวงจรในการเดินทาง
 
ถึงตอนนี้คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ แล้วงานนี้ใครจะเป็นเจ้าภาพล่ะ...