posttoday

จ้างงานวัยเกษียณ ความเบ่งบานของวันร่วงโรย

29 กันยายน 2561

30 ก.ย. ถือเป็นวันเกษียณอายุราชการ วันสุดท้ายของปีงบประมาณ ปีนี้ตรงกับวันเสาร์

โดย พรเทพ เฮง
 
30 ก.ย. ถือเป็นวันเกษียณอายุราชการ วันสุดท้ายของปีงบประมาณ ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ แสดงว่าข้าราชการที่เกษียณอายุก็ทำงานวันสุดท้ายในวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา
 
ว่าไปแล้ว โดยส่วนใหญ่ข้าราชการที่บรรจุเข้าทำงานในวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีอายุราชการระหว่าง 36-38 ปี เพราะฉะนั้นถือว่ายังอยู่ในวัยทำงานได้อย่างเปี่ยมคุณภาพได้อยู่
 
สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณว่า ในปี 2561 เป็นปีแรกที่ประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าวัยเด็กหลายแสนคน จากนั้นจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2564 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และมีสัดสวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20
 
ในปี 2579 ประชาชนจะมีจำนวนน้อยกว่าในปัจจุบันผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 สร้างภาระการพึ่งพิงวัยแรงงานในการดูแลวัยเด็กและผู้สูงอายุ
 

จ้างงานวัยเกษียณ ความเบ่งบานของวันร่วงโรย

 
นอกจากนี้ สศช.ได้ดำเนินการศึกษาเรื่อง “การทำงานของผู้สูงอายุ : ความจำเป็นที่ต้องผลักดัน” พบว่าผู้สูงอายุประมาณ 70% ยังมีความต้องการทำงานอยู่ เพราะยังมีความชำนาญ และมีประสบการณ์การทำงาน ที่ยังเป็นประโยชน์กับองค์กร แต่ต้องตกลงเงื่อนไขใหม่กับนายจ้าง
 
ในปีสองปีที่ผ่านมา การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงานผู้สูงอายุเป็นมาตรการถาวรเป็นที่ยอมรับและกำลังเริ่มขยายการจ้างงานผู้สูงอายุในแผนกต่างๆ ขององค์กรมากขึ้น เพราะหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดก็สามารถใช้สิทธิในการหักรายจ่ายได้ถึง 2 เท่าของจำนวนที่ได้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุไปจริง แต่ไม่เกินจำนวน 1.5 หมื่นบาท ดังนั้นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็จะมีสิทธิหักรายจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้สูงสุดถึง 3 หมื่นบาท
 
สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิตามกฎหมายนี้ นอกจากจะช่วยประหยัดภาษีให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการสร้างงานให้แก่ผู้สูงอายุที่มากความสามารถและยังคงมีกำลังกายที่สามารถทำงานให้แก่ผู้ประกอบการ และที่สำคัญเป็นการช่วยลดงบประมาณภาครัฐด้านสวัสดิการชราภาพในระยะยาวได้อีกด้วย
 
คนสูงวัยไฟทำงานยังร้อนแรง
 

จ้างงานวัยเกษียณ ความเบ่งบานของวันร่วงโรย

 
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 มุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุวัยเกิน 60-69 ปี มีงานทำ มีรายได้ที่เหมาะสม ขณะเดียวกันแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ได้มีมาตรการส่งเสริมด้านการทำงานและหารายได้ของผู้สูงอายุในส่วนของการทำงานเต็มและไม่เต็มเวลาทั้งในระบบและนอกระบบ รวมถึงการฝึกอาชีพและการจัดหางานที่เหมาะสมอีกด้วย
 
ปัจจุบันเริ่มมีการจ้างงานในวัยเกษียณมากขึ้น วิธีการนี้แม้จะสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับผู้สูงอายุ แต่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เตือนว่าภาคเอกชนต้องมีวิธีการในการปรับระบบการคิดค่าแรงใหม่ ขณะที่ภาครัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมที่ชัดเจน เพราะหากไม่เตรียมความพร้อม อาจกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจได้
 
หากย้อนกลับไปในปี 2559 กระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสถานประกอบการ 12 แห่ง อาทิ บริษัท โฮมโปรดักส์เซ็นเตอร์ บริษัท ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ บริษัท ไทย วี.พี. คอร์ปอเรชั่น บริษัท ไทยรุ่งพาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป บริษัท สยาม เด็นโซ่ แมนูแฟคเจอริ่ง ฯลฯ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบาย : การขยายอายุการจ้างแรงงานผู้สูงวัยในสถานประกอบการ เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลไปสู่สถานประกอบการอื่นๆ โดยมีองค์กรภาคีร่วมเป็นสักขีพยาน ได้แก่ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยถือเป็นโครงการนำร่องที่เป็นแม่แบบและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
 
นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยให้สัมภาษณ์ถึงการจ้างงานผู้สูงอายุในเมืองไทย และให้ข้อเสนอเแนะภาพรวมไว้ในปี 2559 ว่า ภาคเอกชนต้องมีวิธีการในการปรับระบบการคิดค่าแรงใหม่ในการจ้างงานวัยเกษียณ ส่วนภาครัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมที่ชัดเจน เพราะหากไม่เตรียมความพร้อม อาจกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจได้ สะท้อนว่าในด้านเศรษฐศาสตร์ วิธีนี้อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจ เพราะภาคเอกชนจะมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น
 
“การจ้างงานต่อเนื่องควรเป็นไปตามความพร้อมและความสมัครใจทั้งของนายจ้างและลูกจ้าง แต่หากจะใช้วิธีนี้ นายจ้างต้องเริ่มใช้ระบบประเมินคุณภาพให้ค่าจ้างตามประสบการณ์ ไม่ใช่ตามวุฒิการศึกษา ควบคู่การปรับย้ายตำแหน่งที่มีความเหมาะสม เช่น ให้ผู้สูงอายุเป็นที่ปรึกษาคนรุ่นใหม่และยอมรับค่าจ้างที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ ควรมีมาตรการรัฐเข้ามาส่งเสริมและแบ่งเบาภาระในการปรับระบบสู่การทำงานรองรับผู้สูงวัย”
 
การปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานสำหรับผู้สูงอายุ นณริฏ ชี้ว่าเพื่อให้สามารถทำงานต่อเป็นแนวคิดที่คณะทำงานระดับปฏิบัติการส่งเสริมให้เกิดการทำงานสำหรับแรงงานสูงวัย ต้องพยายามผลักดันให้ภาคเอกชนนำมาปรับใช้ เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพราะเห็นว่าวิธีนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้และลดภาระรัฐด้านสวัสดิการ
 
สอดคล้องกับ ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งเห็นด้วยว่า โมเดลจ้างงานผู้สูงอายุหลังเกษียณเป็นแนวคิดที่ดี และควรเร่งทำให้เสร็จภายใน 5 ปี เพราะปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี และอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็
เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มตัว
 
ข้อมูลสถิติจำนวนผู้สูงอายุประเทศไทยปี 2559 ของกรมการปกครอง พบว่า จังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดจาก 5 อันดับ คือ กรุงเทพมหานครมี 936,865 คน รองมาคือ จ.นครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น นครศรีธรรมราช ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุที่น้อยที่สุดคือ จ.ระนอง มี 23,543 คน
 
สำหรับความก้าวหน้าของการจ้างงานผู้สูงอายุในเมืองไทย โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา ปัจจุบันเครือเซ็นทารามีโรงแรมและรีสอร์ทในเครือกว่า 70 แห่งทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้มีนโยบายถึงการดูแลรักษาพนักงานที่มีศักยภาพให้อยู่กับองค์กรจวบจนเกษียณอายุยกระดับให้เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว และทำงานอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลานาน มักจะมีความรู้ความชำนาญ มีประสบการณ์ชนิดหาตัวจับยาก เปรียบเสมือนทรัพยากรทรงคุณค่าที่มิอาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้ 
 
ร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ ได้เปิดโครงการ “อายุ 60 ปี มีไฟในการทำงาน” รับสมัครผู้สูงอายุ วุฒิการศึกษาตั้งแต่ ม.3 ขึ้นไป เข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ร้านหนังสือ หรือแม้แต่ อิเกีย ซึ่งเปิดสโตร์แห่งใหม่ ปี 2561 จึงต้องเปิดรับสมัครงานพาร์ตไทม์กว่า 250 ตำแหน่ง โดยระบุชัดว่า ไม่จำกัดอายุ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน ซึ่งเจาะจงพนักงานผู้สูงอายุเช่นกัน
 
ถึงเวลาเร่งเครื่องจ้างคนสูงวัยไทยแบบเต็มกำลัง
 

จ้างงานวัยเกษียณ ความเบ่งบานของวันร่วงโรย

 
พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เปิดเผยผลสรุปโครงการนำร่องเครือข่ายพัฒนารูปแบบ การขยายอายุการจ้างแรงงานผู้สูงวัยในสถานประกอบการ ที่มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ว่าการจ้างแรงงานสูงวัย จะช่วยแก้ปัญหาวัยแรงงานที่หายไปจากระบบและที่สำคัญยังช่วยลดภาวะการพึ่งพิงได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ เพื่อรองรับประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 สอดรับกับสัดส่วน “วัยแรงงาน” กับ “วัยสูงอายุ” ที่กำลังลดลงจากจากเดิมวัยแรงงาน 4.3 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน จะปรับลดลงกว่าครึ่งเหลือ วัยสูงอายุ 2 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในอีก 20 ปีข้างหน้า
 
ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2561 ได้จัดโครงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ 1.กิจกรรม 1 อำเภอ 1 ภูมิปัญญา ภายใต้การดำเนินงาน “ผู้สูงอายุทรงคุณค่า สร้างภูมิปัญญา เพื่อไทยนิยมยั่งยืน” โดยจะจ้างงานผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีความรู้ มีภูมิปัญญาท้องถิ่นในสาขาต่างๆ มาถ่ายทอดความรู้ให้คนในชุมชน เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดและประกอบอาชีพต่อไป เป้าหมายผู้สูงอายุได้รับการจ้างงาน 150 คน
 
กำหนดดำเนินการใน 11 จังหวัดนำร่อง คือ นนทบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ขอนแก่น เชียงราย นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช และสงขลา
 
2.กิจกรรมส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุในอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว เป้าหมายคือผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานทั้งแบบเต็มเวลาและบางช่วงเวลา จำนวน 1,200 คน
 
ในช่วง 6 เดือน (ต.ค. 2560-มี.ค. 2561) กรมการจัดหางานได้จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับผู้สูงอายุ 1,435 อัตรา มีผู้สูงอายุมาใช้บริการ 2,037 คน ได้รับการบรรจุงานแล้วจำนวน 869 คน ในจำนวนนี้แยกเป็นแรงงานด้านการผลิตมากที่สุด 225 คน รองลงมาเป็น แม่บ้าน 131 คน พนักงานดูแลความปลอดภัย 113 คน ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการสอนอื่นๆ 56 คน และเสมียนพนักงานทั่วไป 26 คน ตามลำดับ
 

จ้างงานวัยเกษียณ ความเบ่งบานของวันร่วงโรย

 
ในส่วนของภาครัฐได้มีการจ้างงานผู้สูงอายุตั้งแต่ 60-75 ปี ใน 20 หน่วยงานของกรมการจัดหางานเพื่อเป็นต้นแบบในการจ้างงานผู้สูงอายุ จำนวน 20 ราย ระยะเวลาทำงาน 144 วัน วันละ 3 ชั่วโมง ค่าตอบแทน 250 บาท/ชั่วโมง มีรายได้ 108,000 บาท/คน
 
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการจ้างงานให้กับผู้เกษียณอายุราชการและผู้เกษียณอายุจากรัฐวิสาหกิจอีกด้วย ซึ่งในปี 2561 (ต.ค. 2560-มี.ค. 2561) มีผู้เกษียณอายุได้รับการบรรจุงาน 14 คน ประกอบอาชีพอิสระ 51 คน
 
สำหรับการขับเคลื่อนการจ้างงานผู้สูงอายุตามแนวทางประชารัฐ ที่ตั้งเป้าปี 2561 ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ 15,600 คน ทำงานแบบมีนายจ้าง รับไปทำที่บ้าน และอาชีพอิสระ พร้อมพัฒนาทักษะฝีมือผู้สูงอายุเพิ่มเพื่อให้สามารถทำงานได้ 77,000 คน เดินหน้าปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับกับความต้องการของผู้สูงอายุและภาคเอกชน ออกมาตรการจูงใจเอกชนหันมาจ้างงานสูงอายุเพิ่ม
 
ในการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน “สานพลังประชารัฐ สร้างงาน สร้างอาชีพรองรับสังคมผู้สูงอายุ” ปัจจุบันประเทศไทยมีอยู่จำนวน 11 กว่าล้านคน ซึ่งเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนทั้งในเรื่องของการจ้างงานผู้สูงอายุ ที่อยู่อาศัย สินเชื่อรวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินกู้
 
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ได้กล่าวถึงอนาคตของการจ้างงานผู้สูงอายุไว้ว่า ในระยะต่อไปกระทรวงแรงงาน จะพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.การจ้างงานผู้สูงอายุ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงของผู้สูงอายุ
 
ขณะเดียวกัน จะมีการกำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อให้สามารถจูงใจภาคเอกชนในการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่ม ทั้งนี้ ในปี 2562 ระบบการจ้างงานผู้สูงอายุจะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งตำแหน่งงาน ประเภทของงาน ลักษณะงานที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ การพัฒนาทักษะฝีมือ การคุ้มครองและหลักประกันทางสังคม
 
กระทรวงแรงงานจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการพร้อมกับการแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปกับภาคเอกชนในหลายสถานประกอบการที่ได้มีการจ้างงานผู้สูงอายุก่อนหน้านี้ไปบ้างแล้ว เพื่อให้การส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรม อาทิ การกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบาย บริการจัดหางาน จ้างงานผู้สูงอายุในภาครัฐ ขยายโอกาสการมีงานทำ ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ ฝึกอาชีพและพัฒนาเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานผู้สูงอายุ ส่งเสริมสิทธิสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุ รวมทั้งสร้างหลักประกันทางสังคม เป็นต้น
 
เมื่อมาดูสถานการณ์ในปัจจุบัน ศูนย์จดทะเบียนจัดหางานผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีการจ้างงานผู้สูงอายุในตำแหน่งที่มีทักษะเฉพาะ เท่าที่อายุมากถึง 70 ปี ในรูปแบบสัญญาจ้างปีต่อปี หรือจ้างเหมาเป็นรายโครงการ ส่วนกลุ่มข้าราชการเกษียณทั่วไป ขณะนี้มีเปิดลงทะเบียนฝึกประกอบอาชีพ รวมถึงได้เปิดศูนย์รับลงทะเบียนผ่านศูนย์บริการจัดหางานคนพิการและผู้สูงอายุ ของกรมการจัดหางานแล้ว คาดว่าโมเดลนี้จะชัดเจนภายใน 6 เดือน เพื่อเตรียมตัวรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุในปี 2564
 
มีการคาดการณ์ว่ารายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึง 464,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุจะลดผลกระทบดังกล่าวได้ และยังทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่า เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและมีสุขภาพดี