posttoday

หอศิลป์ฯ ประกาศมาตรการรัดเข็มขัด หลังกทม.ไม่อุดหนุนงบ 2 ปี

26 กันยายน 2561

หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯประกาศดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด หลังกทม.ไม่อุดหนุนงบประมาณ 2 ปี ผู้ว่าฯแจงงบอุดหนุนติดอยู่ที่สภาฯเหตุมีข้อทักท้วงเรื่องกฎหมาย

หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯประกาศดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด หลังกทม.ไม่อุดหนุนงบประมาณ 2 ปี ผู้ว่าฯแจงงบอุดหนุนติดอยู่ที่สภาฯเหตุมีข้อทักท้วงเรื่องกฎหมาย

นายประวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สถานการณ์หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เนื่องจากกระแสข่าวเมื่อเดือน พ.ค.ว่ากทม.จะยึดหอศิลป์ฯ หลายคนคิดว่าปัญหาจบแล้ว แต่ขณะนี้ยังคงติดขัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งเดิมกทม.เคยอุดหนุนงบให้หอศิลป์ฯ 7 ปีก่อน ต่อมาสภากทม. ไม่อนุมัติงบประมาณปี 2562 เพราะท้วงติงว่าขัดสัญญาโอนสิทธิตามข้อ 8 ระบุว่า ให้ทางมูลนิธิบริหารจัดการงบเอง อีกทั้ง สภากทม.ให้ กทม.แก้ไขสัญญาดังกล่าว แต่กทม.ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสัญญา จึงไม่สามารถจัดสรรงบอุดหนุนให้กับหอศิลป์ฯ ได้ เพราะไม่ถูกต้องตามระเบียบการเบิกจ่ายงบประมาณทางราชการ ทำให้หอศิลป์ฯ ไม่มีงบบริหารอีก 12 เดือนข้างหน้า

นายประวิตร กล่าวอีกว่า ล่าสุด การประปานครหลวง (กปน.) ส่งใบแจ้งหนี้ค่าน้ำชั่วคราว โดยจะทำการตัดน้ำ เพราะกทม.จ่ายค่าน้ำให้หอศิลป์ฯ เพียง 9 เดือน ตามที่จัดสรรงบให้ราว 8-9 ล้านบาท ซึ่งหอศิลป์ฯ ไม่ได้ตั้งงบประมาณส่วนนั้นไว้ เพราะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ทำให้ขณะนี้ ต้องตัดงบจัดนิทรรศการบางส่วนออก ดังนั้น หอศิลป์ฯ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด โดยจากการคำนวนค่าใช้จ่ายต่างๆ สามารถบริหารจัดการได้ถึงกลางปี 2562 เท่านั้น และอยู่ระหว่างพิจารณาผลดีผลเสีย ลดเวลาเปิดให้บริการ จากเดิมเปิดให้บริการเวลา 10.00-21.00 น. เป็นเปิด 11.00-20.00 น. เพื่อประหยัดค่าไฟและค่าน้ำ

ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ขอรับบริจาคเงินสนับสนุนหอศิลป์ฯ จากประชาชนที่เดินทางมาใช้บริการและร่วมกิจกรรมหอศิลป์ฯ ยืนยันยังคงจัดกิจกรรมทางศิลปะเช่นเดิม

“ที่ผ่านมา คณะกรรมการมูลนิธิที่หมดวาระแล้ว มองว่าการอุดหนุนงบประมาณในส่วนของข้อ 8 เป็นเรื่องชอบธรรมมาโดยตลอด กระทั่งสภากทม.ที่แต่งตั้ง โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเห็นว่าการสนับสนุนงบในข้อ 8 ที่มีปัญหาเป็นการดำเนินการไม่ชอบธรรม สภากทม.ชุดนี้ จึงไม่อนุมัติตามข้อ 8 อย่างที่เคยปฏิบัติกันมา ซึ่งปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่าน นายอภิรักษ์ ฐานะประธานมูลนิธิ เข้าหารือกับผู้ว่าฯกทม.เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต่อมาจึงตั้งคณะกรรมการ เพื่อสรรหาคณะกรรมการมูลนิธิชุดใหม่ เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป” ผศ.ประวิตร กล่าว

ต่อมาเวลา 16.00 น. หลังจบงานแถลงข่าว ทางผู้บริหารหอศิลป์ฯ ได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เดินทางมาร่วมรับฟังปัญหาและรับมอบหนังสือดังกล่าว โดยนายพุฒิพงษ์ กล่าวว่า โดยนายกรัฐมนตรี รับทราบปัญหาดังกล่าว พร้อมมอบหมายให้ตนเดินทางร่วมรับฟังปัญหา อีกทั้ง มีความห่วงใยและติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด

ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด มีตนร่วมเป็นประธานกรรมการชุดนี้ เพื่อสรรหาบุคคลที่เหมาะสม เข้ามาเป็นคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่หมดวาระลงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันยังคงทำหน้าที่บริหารหอศิลป์ฯ ทำให้กทม.ต้องดำเนินไปตามขั้นตอน สำหรับหลักเกณฑ์ ประกอบด้วย คณะกรรมกรรมการไม่เกิน 12 ราย โดยกทม.จำเป็นต้องสรรหาคณะกรรมการอย่างเหมาะสม ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของมูลนิธิ กำหนดกรอบเวลา 2 เดือน อีกทั้ง ยังมอบหมายให้กรรมการสรรหาผู้เหมาะสมตามเกณฑ์ แต่การบริหารหอศิลป์ฯ กทม.จะไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จากนั้น คณะกรรมการมูลนิธิหอศิลป์ฯ นั้นจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารหอศิลป์ฯ ซึ่งปัจจุบันมี ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต เป็นประธาน และชุดนี้จะหมดวาระลงในปี 2564

“สำหรับการอุดหนุนงบประมาณให้แก่หอศิลป์ฯ นั้น ที่ผ่านมากทม.ได้อุดหนุนงบประมาณต่อเนื่อง ในปี 2560 อุดหนุนเงิน ราว 45 ล้านบาท อยู่ในหมวดรายจ่ายอื่นของสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ต่อมาปี 2561 ได้จัดสรรงบ 8-9 ล้านบาท เป็นค่าน้ำค่าไฟ ขณะที่ การเสนอแผนเพื่อขอรับเงินอุดหนุนดังกล่าวก็ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน มีเพียงตัวเลขที่เสนอเข้ามาเท่านั้น ทำให้ปี 2562 สภากทม.มีข้อท้วงติงบางประการ จึงไม่สามารถอุดหนุนงบได้ อย่างไรก็ตาม กทม.ไม่นิ่งนอนใจ มีการจัดตั้งคณะกรรมการวิสามัญ เพื่อศึกษาแนวทางและวิธีการว่ากทม.ต้องทำอย่างไรบ้าง คาดอีกไม่นานนี้จะได้ข้อสรุป” นายทวีศักดิ์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสัญญาให้สิทธิในตัวอาคารหอศิลป์ฯ ระหว่างกทม.กับมูลนิธิหอศิลป์ฯ ทำขึ้นเมื่อปี 2554 นั้น ในสัญญาตามข้อ 6 ระบุว่า เงินรายได้ที่ผู้รับสิทธิ (มูลนิธิหอศิลป์ฯ) ที่ได้ไปจากการดำเนินการในทรัพย์สินให้นำไปใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันได้ เฉพาะในกิจการของหอศิลป์ฯ ข้อ 7 ระบุว่า ผู้ให้สิทธิ (กทม.) ยินยอมให้ผู้รับสิทธิ นำพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของหอศิลป์ฯ และทรัพย์สินไปให้เช่าหรือจัดหาผลประโยชน์อื่นใด ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหอศิลป์ฯ และให้อยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 96 พ.ร.บ.บริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 และข้อ 8 ระบุว่า บรรดาค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม หรือค่าภาษีใดๆ ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการหอศิลป์ฯ ตกเป็นความผิดชอบของผู้รับสิทธิ และผู้รับสิทธิมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ทันตามเวลาที่กำหนด โดยข้อตกลงหรือกฎหมายแล้วแต่กรณี รวมถึงข้อ 9 ผู้รับสิทธิยินยอมจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ให้สิทธิเป็นรายปี โดยผู้ให้สิทธิจะคิดคำนวณและแจ้งให้ผู้รับสิทธิทราบภายในเดือนมีนาคมของทุกปี และผู้รับสิทธิจะต้องชำระค่าตอบแทนตามจำนวนที่ได้รับแจ้งภายใน 30 วัน

นอกจากนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ผู้ว่าฯอัศวิน” ระบุว่า “ผมอยากให้ทุกท่านแยกกรณีหอศิลป์ฯออกเป็น 2 ประเด็นครับ ประเด็นแรก การยึดหอศิลป์ฯกลับมาบริหารจัดการเองนั้น จบไปแล้วตั้งแต่หลายเดือนก่อน ตามความเห็นส่วนใหญ่ของพี่น้องประชาชน ซึ่ง ณ วันนี้ผมก็ยังยืนยันว่า กทม.จะไม่เข้าไปบริหารจัดการใดๆในกิจการของหอศิลป์ฯ แน่นอน

ส่วนประเด็นเรื่องการให้งบฯอุดหนุน ไม่ใช่ว่า กทม.ไม่ให้นะครับ แต่เราให้ไม่ได้ทั้งๆที่ก็ได้พยายามแล้วถึง 3 ครั้ง โดยได้ขอบรรจุเข้าวาระงบประมาณประจำปี ในการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร คือ ครั้งที่ 1 เสนอขอจัดสรรเป็นงบฯหมวดเงินอุดหนุน แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาเงินอุดหนุนครั้งที่ 2 เสนอขอจัดสรรเป็นงบฯหมวดรายจ่ายอื่น แต่คณะกรรมการวิสามัญของสภาฯมีมติว่าเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย และขัดต่อสัญญาให้สิทธิและครั้งที่ 3 เสนอเข้าวาระขอแปรญัตติฯ แต่ก็ยังคงไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ เนื่องจากได้รับข้อทักท้วงในประเด็นด้านกฎหมาย

พล.ต.อ.อัศวิน ระบุอีกว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปัจจุบันมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินอุดหนุนของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2560 ใช้บังคับเพิ่มเติม ซึ่งกำหนดให้ผู้ขอรับเงินอุดหนุนต้องจัดทำโครงการเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาเงินอุดหนุนเพื่อให้ความเห็นชอบ และนำเสนอต่อสภา กทม.บัญญัติเป็นงบฯประจำปีต่อไป หากหอศิลป์ฯต้องการงบอุดหนุนจากกทม. ก็จำเป็นต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายครับ”

ทั้งนี้ สำหรับคณะกรรมการเพื่อสรรหาคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลป์ฯ ประกอบด้วย 1.นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ 2.พล.ร.อ.ณะ อารีณิจ 3.พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ 4.พล.อ.ชาตอุดม ติดถะศิริ 5.นายวัลลภ สุวรรณดี และ 6.รศ.สุธี คุณาวิชานนท์

ส่วนคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลป์ฯ ที่หมดวาระลง ประกอบด้วย 1.นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน 2.นายปัญญา วิจินธนสาร 3.นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ 4.นางชฎาทิพ จูตระกูล 5.นายฐาปน สิริวัฒนภักดี 6.ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ 7.นายเพชร โอสถานุเคราะห์ 8.นายจุมพล อภิสุข 9.นายภราเดช พยัฆวิเชียร 10.นางวรรณพร พรประภา และ 11.นายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที