posttoday

ลุ้นใช้ม.44ให้ทดลองกัญชาในคนเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้

24 กันยายน 2561

เลขาธิการป.ป.ส.เผยไม่เกิน 10 วัน เสนอผลศึกษาการทดกัญชาในคน ให้รัฐมนตรียธ.ก่อนพิจารณาออกม.44อนุญาติ เผยพบข้อดีมากกว่าข้อเสีย

เลขาธิการป.ป.ส.เผยไม่เกิน 10 วัน เสนอผลศึกษาการทดกัญชาในคน ให้รัฐมนตรียธ.ก่อนพิจารณาออกม.44อนุญาติ เผยพบข้อดีมากกว่าข้อเสีย

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) กล่าวถึงการเสนอใช้คำสั่งคสช.ม.44 พืชเสพติดกัญชา ให้สามารถใช้ทดลองวิจัยในมนุษย์ได้ว่า หลังจากมีกฎหมายตั้งแต่ปี 2559 ที่อนุญาตให้พืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจได้ โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีกฏหมาย 2 ฉบับ ที่ให้อนุญาตหน่วยงานราชการ ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ ตั้งแต่ปี 2560 โดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้อนุญาตเพื่อผลิตปลูก นำเข้า ส่งออก จำหน่าย

ในส่วนของพืชกัญชานั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่การอนุญาตนั้นจะให้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น เช่น มหาวิทยาลัยรังสิต ขอมาเพื่อนำไปทดลองสกัดทำยา เพียงแต่ผลหรือการทดลองของพืชกัญชายังไม่สามารถนำมาทดลองในผู้ป่วยที่เป็นคนได้ เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมาย ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

นายศิรินทร์ยา กล่าวว่า ส่วนประเด็นข้อกังวลที่เกรงว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะออกกฎหมายเรื่องพืชกัญชาไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ และขอให้ใช้อำนาจ ม.44 นั้น ขณะนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบ หมายให้ ป.ป.ส. ไปศึกษาความเป็นไปได้ว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะเกรงว่ากฏหมายที่อยู่ในสภาจะล่าช้า ทั้งนี้คาดว่า ภายใน 7-10 วัน ป.ป.ส.จะเสนอรายละเอียดถึงความจำเป็นและเหตุผลในการเสนอว่าเป็นอย่างไร เพื่อเสนอให้คสช.พิจารณาต่อไป

"โอกาสในการใช้กฎหมายพิเศษนั้น ไม่สามารถตอบได้ แต่ ป.ป.ส.มีหน้าที่ทำตามที่ พล.อ.อ.ประจิน สั่งการ โดยกำลังให้เจ้าหน้าที่ศึกษาข้อดีข้อเสียทุกด้านอย่างละเอียด ซึ่งแนวโน้มคาดว่าจะต้องมี และก็ต้องมองข้อเสียอย่างรอบด้าน และจากการศึกษาพบว่ามีข้อดีเยอะกว่าข้อเสีย และพูดคุยตัวอย่างยากับ สธ. เพื่อพิจารณา" นายศิรินทร์ยา กล่าว

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า หากมีการนำไปใช้ทดลองในคนได้ตามกฎหมายจะรักษาผู้ป่วยได้และมีผู้ป่วยรอใช้ยาจากอาการเจ็บป่วย เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน แพ้คีโม ฯลฯ ซึ่งถ้ามันไม่ดีแล้วเราจะเสนอทำไม แต่เพียงแค่พิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเร็วมากขนาดไหนในการใช้กฎหมายพิเศษ

นายศิรินทร์ยา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จากการศึกษาดูงานในต่างประเทศพบว่าพืชกัญชาบางทีก็ไม่ได้รักษาโรคหายสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่าง ประเทศออสเตรียปลูกกัญชาก็ปลูกอยู่ในเฉพาะโรงเรือนเพื่อนำมาสกัดน้ำมันกัญชา ซึ่งปลูกกัญชาเพียง 2-3 ไร่ เท่านั้น เพื่อนำมาใช้สำหรับทดลอง ไม่ใช่ปลูก 5,000 ไร่ อีกทั้งต้องดูเรื่องสายพันธุ์ การผลิต การปลูก เพราะเรายังจัดกัญชาอยู่ในพืชยาเสพติดประเภท 5 โดยทางการแพทย์พบหากเสพมากจะกระทบต่อสมองผู้เสพ

นายศิรินทร์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการขออนุญาตต่างๆเกี่ยวกับพืชกัญชาต้องขอไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาต่อไป ส่วนการดูแลตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ทาง ป.ป.ส.เองมีความกังวลและต้องมีมาตรการจัดการดูแลอย่างรัดกุมสำหรับกลุ่มพืชกัญชา เนื่องจาก ป.ป.ส.กลัวดอกกัญชา จะถูกนำไปใช้ผลิตยาเสพติด เพราะมีการปลูกเป็นจำนวนมาก เรื่องกัญชาต้องมีความละเอียดกว่าเรื่องกัญชงในทุกมิติ อย่างไรก็ตามในรายละเอียดของคำสั่ง พิเศษ หากมีความจำเป็นจะต้องใช้ ก็ต้องระบุเรื่องการควบคุมการจัดเก็บ ผลผลิตปริมาณ คล้ายๆกับกัญชงที่กฎกระทรวง นั้นระบุรายละเอียดค่อนข้างชัดเจน ดังนั้นกัญชายิ่งต้องมีรายละเอียด อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

"รัฐมนตรีสาธารณสุขจะมีการกำหนดพืช ยาเสพติดประเภทไหนที่สามารถใช้ได้ แต่ปัญหาคือกฎหมายยาเสพติด ที่ยังห้ามนำกัญชาไปวิจัยใช้ทดลองในคนไม่ได้ ตรงนี้ต้องมีการพิจารณาดูอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อนำไปทดลองใช้ในคนได้ เรื่องข้อดีของกัญชา ตอนนี้ไม่มีใครเถียง ซึ่งในประมวลกฎหมายยาเสพติดก็มีการเขียนระบุการนำไปใช้ ดังนั้นถ้าไม่ดีก็คงไม่เสนอในกฎหมายใหม่ แต้ตอนนี้ที่เป็นประเด็นคือมีความจำเป็นเร่งด่วน มากน้อยแค่ไหน ในการออกกฎหมายพิเศษ ซึ่งต้องรอพล.อ.อ.ประจินเป็นผู้พิจารณาป.ป.ส.มีหน้าที่เสนอผลการศึกษาเท่านั้น " นายศิรินทร์ กล่าว

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ส่วนพืชกระท่อมนั้น ยังอนุโลมให้ใช้ในวิถีชีวิตกินเคี้ยวปกติยังอนุญาตให้สามารถทำได้ แต่ไม่ให้นำไปต้มกินเป็นยาเสพติดเด็ดขาดเพราะผิดกฎหมาย ส่วนประเด็นบริษัทเครื่องดื่มดัง ทำเบียร์กัญชาขายในต่างประเทศนั้นจาการตรวจสอบพบว่ามีจริง ซึ่งเป็นกระป๋องโดยมีสารกัญชาแต่ไม่แอลกอฮอล์ และขายในร้านขายยาในรัฐแคลิฟอร์เนี่ย สหรัฐอเมริกาเท่านั้น และต้องได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดช่วงอายุผู้ซื้ออย่างชัดเจน