posttoday

สทนช.ชี้พายุ “จ่ามี”ไม่มีผลกระทบไทย

22 กันยายน 2561

ศูนย์เฉพาะกิจฯ เผย 8 จังหวัดภาคใต้ เสี่ยงภัยฝนตกหนัก ชี้ พายุลูกที่ 28 “จ่ามี” ในมหาสมุทรแปซิฟิกไม่มีผลกระทบไทย

ศูนย์เฉพาะกิจฯ เผย 8 จังหวัดภาคใต้ เสี่ยงภัยฝนตกหนัก ชี้ พายุลูกที่ 28 “จ่ามี” ในมหาสมุทรแปซิฟิกไม่มีผลกระทบไทย

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ประจำวันที่ 15 ก.ย. 61 ว่า วันนี้ต่อเนื่องถึงวันที่ 23 ก.ย. 61  ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนลดลง ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมากใน 8 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ขณะที่ฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา  มีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ 71 มม. น่าน 64 มม. แพร่ 48 มม. ตาก 39 มม. พะเยา 36 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น 49 มม. ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา  41 มม. ภาคใต้ จ.พัทลุง 57 มม. นครศรีธรรมราช 52 มม. ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี 43 มม. ส่วนภาคตะวันตก มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง

 “การคาดการณ์แนวโน้มฝนระหว่างวันที่ 22 - 27 ก.ย. 61 เป็นช่วงที่ฝนน้อยลง เกือบทุกภาค มีบ้างบางพื้นที่แต่ไม่มากนัก เนื่องจากระยะนี้ลมมรสุมที่ปกคลุมประเทศไทยมีกำลังอ่อน โดยคาดว่าจะมีมวลอากาศเย็นปกคลุม และคาดว่าจะแผ่ลงมาอีกกระลอกช่วงวันที่ 28 - 29 ก.ย. 61 ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนและฝนฟ้าคะนองในระยะแรกๆ แต่ปริมาณฝนที่จะตกลงมาเติมน้ำในเขื่อนหรือลุ่มน้ำต่างๆ นั้นไม่มีผลมากนัก แต่ยังคงต้องติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดต่อไป ขณะที่การติดตามสถานการณ์พายุในมหาสมุทรแปซิฟิกลูกที่ 28 ชื่อว่า “จ่ามี” (Trami) ล่าสุดได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนแล้ว กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือ คาดว่าไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย” นายสำเริง กล่าว

นายสำเริง กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกิน 80% ของความจุ จำนวน 7 แห่งปัจจุบันยังเร่งพร่องน้ำเพื่อให้กลับสู่ระดับควบคุมปกติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนครปริมาณน้ำ 526 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 101% ปริมาณน้ำไหลเข้า 2.61 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 4.33 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 684 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 96% ปริมาณน้ำไหลเข้า 5.64 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 8.67 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง ปริมาณน้ำ 159 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 93% ปริมาณน้ำไหลเข้า 2.33 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 1.92 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ปริมาณน้ำ 270 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 92% ปริมาณน้ำไหลเข้า 2.96 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 6.52 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 202 ล้าน ลบ.ม.  คิดเป็น 90% ปริมาณน้ำไหลเข้า 2.65 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 1.34 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 2.78 ม. เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ปริมาณน้ำ 263 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% ปริมาณน้ำไหลเข้า 1.99 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 0.32 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทราปริมาณน้ำ 347 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 83% ปริมาณน้ำไหลเข้า 2.12 ล้าน ลบ.ม. ไม่มีปริมาณน้ำไหลออก 

ขณะที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำต่างๆ ที่มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง ได้แก่ แม่น้ำป่าสัก อ.หล่มสัก อ.เมืองเพชรบูรณ์ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ แนวโน้มเพิ่มขึ้น แม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร แนวโน้มลดลง ห้วยหลวง จ.อุดรธานี แนวโน้มลดลง แม่น้ำนครนายก บริเวณ อ.องครักษ์ จ.นครนายก แนวโน้มทรงตัว แม่น้ำบางปะกง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา แนวโน้มทรงตัวและคลองพระปรง อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว แนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ให้เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำภาคตะวันออกเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกสะสมที่ผ่านมา และยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ส่วนภาคกลางและภาคใต้ไม่มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง