posttoday

คนจนลดเหลือ 1 ล้านคน แม่ฮ่องสอนหนาแน่น-น้อยสุดอยู่อัมพวา

22 กันยายน 2561

หน่วยงานรัฐจัดทำบิ๊กดาต้าสำรวจปริมาณคนจนแบบครบวงจรทั่วประเทศพบมีทั้งหมด 1.03 ล้านคน จ.เชียงใหม่ มีมากสุด 1.8 หมื่นคน น้อยสุดที่ จ.สมุทรสงคราม 903 คน

หน่วยงานรัฐจัดทำบิ๊กดาต้าสำรวจปริมาณคนจนแบบครบวงจรทั่วประเทศพบมีทั้งหมด 1.03 ล้านคน จ.เชียงใหม่ มีมากสุด 1.8 หมื่นคน น้อยสุดที่ จ.สมุทรสงคราม 903 คน

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดทำ บิ๊กดาต้าสำรวจปริมาณคนจนแบบครบวงจรทั่วประเทศครั้งแรกของประเทศไทยพบมีทั้งหมด 1.03 ล้านคน จ.เชียงใหม่ มีมากสุด 1.8 หมื่นคน น้อยสุดที่ จ.สมุทรสงคราม 903 คน

ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เนคเทค กล่าวว่า จากสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้เส้นความยากจนที่เป็นทางการคือ ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 2,667 บาท/คน/ เดือน ซึ่งหากมองย้อนไปในช่วง 30 ปี พบว่าปัญหาความยากจนในภาพรวมของประเทศไทยลดลงอย่างมาก โดยจำนวนคนจนลดลงประมาณ 28 ล้านคนใน ช่วงเวลาดังกล่าว จากจำนวนคนจน 34.1 ล้านคน ในปี 2531 เหลือเพียง 5.8 ล้านคน ในปี 2559 สัดส่วนคนจนลดลงจาก 65.2% เป็นเพียง 8.6% ในปี 2559

อย่างไรก็ตาม การประเมินสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยสามารถสะท้อนถึงสถานการณ์ที่แท้จริงได้ จำเป็นต้องใช้ตัวชี้วัดจากหลายด้านมาประกอบกัน นอกจากคิดจากรูปแบบตัวเงินแล้วยังพิจารณาในมิติอื่นๆ ด้วย

การสำรวจครั้งนี้ได้จัดทำขึ้นตามที่คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ มีมติเห็นชอบการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาการพัฒนาระบบบิ๊กดาต้าของภาครัฐและมอบให้ สศช.ร่วมกับเนคเทค พัฒนาระบบ TPMAP ซึ่งเป็นระบบบิ๊กดาต้าของภาครัฐในประเด็นการแก้ปัญหาความยากจนที่สามารถระบุความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ หรือปัญหาความยากจนรายประเด็น ทำให้เกิดการแก้ปัญหาความยากจนได้ตรงจุดมากขึ้น

ทั้งนี้ เนคเทคพร้อมทีมนักวิจัยลงพื้นที่จริงสำรวจข้อมูลเชิงสัมภาษณ์ และความจำเป็นพื้นฐาน พบว่ามีคนจนทั่วประเทศ 36.6 ล้านคน และจากการลงทะเบียนคนจน กระทรวงการคลังอีก 11 ล้านคน โดยนำทั้งหมดมาหาค่าผู้ที่ยากจนจากการวัดผลใน 5 มิติ คือ รายได้ การศึกษา สุขภาพ ความเป็นอยู่ และการเข้าถึงบริการทางภาครัฐ พบว่ามีคนจนใน 5 มิติ ทั่วประเทศ 1.03 ล้านคน ลดลงจากปี 2560 ที่พบ 1.3 ล้านคน

สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ นักวิจัยการวิเคราะห์ข้อมูลและการคำนวณ เนคเทค กล่าวว่า จังหวัดที่มีคนจนมากที่สุดคือ จ.เชียงใหม่ พบคนจน 1.8 หมื่นคน จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดคือ จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่ที่มีคนจนมากที่สุดคือ ต.นาปู่ป้อม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน มีคนจน 933 คน จังหวัดที่มีคนจนน้อยที่สุดคือ จ.สมุทรสงคราม มีคนจน 903 คน โดย ต.บางนางลี่ อ.อัมพวา มีคนจน 16 คน สำหรับจังหวัดที่มีสัดส่วนของคนจนน้อยที่สุดคือ จ.หนองบัวลำภู มีสัดส่วนคนจน 1,277 คน

หากแยกละเอียดลงไปตามมิติต่างๆ พบว่าในมิติด้านสุขภาพนั้น มีคนจน 2.17 แสนคน มิติความเป็นอยู่นั้น มีคนจน 2.44 แสนคน มิติการศึกษา มีคนจน 3.78 แสนคน มิติรายได้ คือรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 2,067 บาท 3.76 แสนคน และในมิติเข้าถึงบริการของรัฐมีคนจน 6,490 คน โดย จ.เชียงใหม่ มีสัดส่วนของคนจนมากที่สุด

สำหรับสัดส่วนของคนจนมาจากเอาจำนวนคนจนทั้งหมดหารด้วยปริมาณประชากรทั้งหมด โดย จ.แม่ฮ่องสอน มีสัดส่วนของคนจนมากที่สุด คือ 2.27 หมื่นคน อ.ปางมะผ้า มีคนจน 3,040 คน โดย อ.นาปู่ป้อม มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดคือ 933 คน และ จ.เชียงใหม่ มีจำนวนคนจนมากที่สุดคือ 5.4 หมื่นคน โดย อ.อมก๋อย มีจำนวนคนจนมากที่สุดคือ 4,441 คน

อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาความยากจนในมิติต่างๆ นั้น นักวิจัยจะพิจารณาจากข้อมูลทั้งของกระทรวงการคลังและกรมการพัฒนาชุมชน รวมกับการเข้าไปสัมภาษณ์รายบุคคลของเนคเทค เช่น มิติด้านสุขภาพ พิจารณาจากจำนวนเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ 2.5  กิโลกรัม ด้านการศึกษาพิจารณาจากเด็กอายุ 3-5 ขวบ ได้รับการเตรียมพร้อมวัยเรียนหรือไม่ 6-14 ปี ไม่ได้รับการศึกษาภาคบังคับกี่คน เป็นต้น ด้านรายได้ พิจารณาจากคนที่มีอายุ 15-59 ปี กี่คนที่ไม่มีอาชีพหรือไม่มีรายได้ เรื่องความเป็นอยู่ พิจารณาจากครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอหรือไม่ ที่อยู่อาศัยมั่นคงหรือไม่ และเรื่องการเข้าถึงบริการภาครัฐ พิจารณาจากจำนวนผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแล