posttoday

ศาลปกครองสูงสุดให้กทพ.จ่ายค่าเสียหายแก่BEMกว่า1.8พันล้าน

21 กันยายน 2561

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนให้กทพ.จ่ายชดเชยค่าเสียหายรวมกว่า 1.8 พันลบ.แก่ BEM ชี้การทำตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนให้กทพ.จ่ายชดเชยค่าเสียหายรวมกว่า 1.8 พันลบ.แก่ BEM ชี้การทำตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ชำระเงินแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เป็นบริษัทย่อยของบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) โดยจ่ายเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงแก่บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด สำหรับปี 2542 จำนวน 780.80 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ตามที่กำหนดในสัญญาและสำหรับปี 2543 จำนวน 1,059.20 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ตามที่กำหนดในสัญญา รวมจำนวนกว่า 1.8 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ได้ก่อสร้างทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด ตามสัญญาที่รัฐมนตรีมีมติให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ และกรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ – รังสิต ซึ่งบริษัทเห็นว่าเป็นทางแข่งขันกับทางด่วน สายบางปะอิน – ปากเกร็ด ตามที่กำหนดในสัญญา เนื่องจากไม่เข้าข้อยกเว้นที่ระบุไว้ว่าเป็นทางที่ไม่มีลักษณะแข่งขัน จึงร้องขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยชำระเงินค่าชดเชยที่ปริมาณจราจรและรายได้ลดลงจากที่ประมาณการไว้ ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดว่า ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ – รังสิต เป็นทางแข่งขันที่ทำให้ปริมาณการจราจรและรายได้ค่าผ่านทางของทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด ลดลงจากที่ประมาณการไว้ ซึ่งมีผลกระทบตามสัญญา จึงชี้ขาดให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ชำระเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงแก่บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด

ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ชำระเงินแก่บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด และยกคำร้องของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว

สำหรับบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการ ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด)