posttoday

“ประจิน” ปัดเสนอใช้ ม.44 ปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์

21 กันยายน 2561

รมว.ยุติธรรม ปัดเสนอใช้ ม.44 ปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ สั่ง ป.ป.ส.เร่งศึกษา รับสนช.อืดจริง ใช้เวลาพิจารณากม.มาตราละ 1 เดือน. จ่อประสาน “สุวพันธ์” ดึง ร่างประมวลยาเสพติด กม.เร่งด่วน

รมว.ยุติธรรม ปัดเสนอใช้ ม.44 ปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ สั่ง ป.ป.ส.เร่งศึกษา  รับสนช.อืดจริง ใช้เวลาพิจารณากม.มาตราละ 1 เดือน. จ่อประสาน “สุวพันธ์” ดึง ร่างประมวลยาเสพติด กม.เร่งด่วน

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวปฏิเสธถึงข้อเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 คลายล็อคให้ใช้กัญชาเพื่อทดลองรักษาอาการป่วยในมนุษย์ พร้อมระบุว่า ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้อนุญาตการปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก และครอบครองกัญชา เพื่อศึกษาวิจัยให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ ดังนั้น ก่อนที่จะก้าวไปสู่การผลิตกัญชาเพื่อใช้เป็นยารักษา ขอให้มีงานวิจัยรองรับก่อน และหากจะดำเนินการตามข้อเสนอเพื่อนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์จะต้องมีมาตรการควบคุมทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

"ข่าวที่ออกมาเข้าใจว่าเป็นการพูดคุยของกรรมาธิการที่อยากให้แยกเรื่องกัญชาออกมาดำเนินการก่อน ซึ่งกระทรวงยุติธรรมก็รับข้อเสนอมาแล้วสั่งการให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เร่งศึกษาวิจัย รายละเอียดมีอยู่เท่านี้ไม่มีการพูดคุยไปถึงการเสนอใช้มาตรา 44 “พล.อ.อ.ประจินกล่าว

เมื่อถามว่า มีข้อกังวลถึงความล่าช้าในการพิจารณาร่างกฎหมายของสนช. ซึ่งอาจไม่ทันในอายุของรัฐบาลนี้ พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ตนได้วางแนวทางแก้ไขไว้แล้ว โดยจะประสานไปยังนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปรัฐบาล) เพื่อนำร่างประมวลยาเสพติดขึ้นมาพิจารณาเป็นกฎหมายเร่งด่วน จากเดิมที่สนช.มีการพิจารณาสัปดาห์ละครั้ง และยอมรับว่าสนช.ใช้เวลาพิจารณาในแต่ละครั้งค่อนข้างนาน

ด้านนายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส) กล่าวถึงการเสนอคสช.ให้ใช้มาตรา 44 ประกาศให้กัญชามีผลทดลองรักษาวิจัยทางการแพทย์ หรือการใช้ทดลองรักษากับคนได้ว่า ป.ป.ส.ยังไม่เคยเสนอในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของป.ป.ส. แต่ผู้ที่จะเสนอได้คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ(ศอ.ปส.) ในกรณีที่เห็นว่า มีความจำเป็นหรือเร่งด่วนเพื่อใช้ในรักษาโรคก็สามารถเสนอให้หัวหน้าคสช.พิจารณาประกาศใช้ได้ และแม้จะอนุญาตให้ทดลองวิจัยในมนุษย์ได้ แต่ยังไม่สามารถนำใช้รักษาโรคในคนได้ทันที. จนกว่าจะมีผลการวิจัยทางการแพทย์รับรอง อย่างไรก็ตาม แม้จะแยกให้นำกัญชาไปใช้ในการทดลองวิจัยได้ แต่ก็คงสถานะเป็นยาเสพติดประเภท 5 เช่นเดิม ห้ามเสพหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อสันทนาการ

ทางด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการยกร่างกฎหมายยาเสพติด เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานป.ป.ส.อยู่ระหว่างการยกร่างข้อเสนอเฉพาะส่วนของการนำกัญชามาศึกษาวิจัยให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ ให้พล.อ.อ.ประจินพิจารณา ซึ่งเป็นรายละเอียดที่บรรจุอยู่ในร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด  เนื่องจากมีข้อกังวลว่าหากปล่อยให้การพิจารณาผ่านร่างกฎหมายเป็นไปตามขั้นตอนปกติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีความล่าช้าเพราะสนช.ใช้เวลาพิจารณาเฉลี่ยเดือนละ 1 มาตรา ผ่านมา 3. เดือน เพิ่งพิจารณาไปได้เพียง 3 มาตรา ขณะที่ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดมีเนื้อหามากกว่า 200 มาตรา. ดังนั้นจึงมีแนวคิดให้ปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ให้ผ่านออกมาก่อน เบื้องต้นพล.อ.อ.ประจินเห็นชอบในหลักการแล้ว แต่ก่อนที่จะใช้เสนอมาตรา 44 กับกัญชาเพื่อนำไปใช้เพื่อวิจัยทางการแพทย์. ต้องมีมาตรการควบคุมผลผลิตและผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด ไม่ใช่การปลดล็อกเพื่อใช้กัญชารักษาโรคในคนได้อย่างเสรี

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า สำหรับนโยบายการใช้พืชกัญชาเพื่อรักษาโรค ขณะนี้มีเพียง 30 ประเทศ จาก 190 ประเทศ เท่านั้นที่ผ่อนปรนให้มีการนำไปใช้ทางการแพทย์  ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงควบคุมและกำหนดให้กัญชาเป็นพืชเสพติด ผิดกฎหมาย ที่ผ่านมากฎหมายไทยควบคุมกัญชาเพราะเห็นแต่ด้านลบ โดยไม่ได้คำนึงถึงด้านบวก ซึ่งกรณีนี้หากอนุญาตให้นำมาใช้ด้านบวกโดยที่ผลกระทบในด้านลบยังมีอยู่ จึงจำเป็นต้องศึกษาวิจัยโดยให้อยู่ในการควบคุมของนักวิชาการและแพทย์

“ขอย้ำว่า กัญชาจะสามารถนำมาใช้เพื่อทดลองทางการแพทย์ และการวิจัยเท่านั้น ยังนำมารักษาผู้ป่วยทั่วไปไม่ได้  ส่วนพืชกระท่อม ตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด สาระสำคัญอนุญาตให้ใช้ได้วิถีชาวบ้านดั้งเดิม  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุที่มีความเชื่อว่าเคี้ยวใบกระท่อมเพื่อทำงานในแปลงเกษตรได้ยาวนานขึ้น  โดยจะต้องประกาศอนุญาตให้เคี้ยวใบกระท่อมได้เฉพาะรายพื้นที่ และหากร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดผ่านการพิจารณาของสนช. ในส่วนของใบกระท่อมคาดว่าจะดำเนินการได้ในกลางปี 62”แหล่งข่าวระบุ