posttoday

มหา'ลัยต้องปิดตัวอีกมากภาวะล้มทั้งกระดาน ตั้งเกินจำเป็น

18 กันยายน 2561

วิกฤตอุดมศึกษากรณีที่ผู้เรียนลดลงจะ ส่งผลให้ไม่มีผู้เรียนในบางสถาบันจนต้องปิดตัวไป กำลังเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงมากขึ้น

โดย... ธเนศน์ นุ่นมัน

วิกฤตอุดมศึกษากรณีที่ผู้เรียนลดลงจะ ส่งผลให้ไม่มีผู้เรียนในบางสถาบันจนต้องปิดตัวไป กำลังเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงมากขึ้น เพราะหลายคน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยเรียนได้ประจักษ์แล้วว่า ในคณะของสถาบันที่กำลังเรียน ในอดีตเคยมีผู้สอบเข้าแข่งขัน แย่งที่นั่งเรียนเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันแทบไม่มีผู้เรียน การคัดเลือก ถูกลดบทบาทเหลือเพียงการแข่งกับตัวเองคือ ต้องมีคะแนนสอบสูงพอที่จะเรียนได้เท่านั้น

ปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นปัญหาที่หลายฝ่ายเคยรู้มานานแล้ว

"เราเคยมีประชากรเกิดใหม่ปีละ 1.5 ล้านคน ติดต่อกันมา 30 ปี จึงกลายเป็นช่วงเวลาที่ต้องเร่งผลิตครู เปิดสถาบันการศึกษา เปิดมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับ แต่หลังจากปี 2535 เป็นต้นมา ก็เริ่มลดลง สังเกตได้ว่าเรามีประชากรคงที่อยู่ที่ 65 ล้านคน มากว่า 20 ปี คน ไม่อยากมีครอบครัว ไม่อยากมีลูกเพราะเชื่อสโลแกน มีลูกมากจะยากจน ซึ่งก็ถือว่าเป็นสโลแกนที่ช่วยไม่ให้ไทยมีประชากรล้น เท่ากับว่าแม้จะแก้เรื่องหนึ่งได้ แต่ก็เลี่ยงปัญหาที่กำลังเหวี่ยงไปอีกทาง สร้างอีกโจทย์หนึ่งไม่ได้" อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ขยายความ

อานนท์ อธิบายว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะประชากรถดถอย ซึ่ง ในอีกไม่กี่ปีนี้จะยิ่งเห็นภาพผลกระทบชัดจากที่เคยเห็นว่า กระทบกับโรงเรียนประถม มัธยมเอกชนหลายแห่งที่ต้องปิดตัวลง เริ่มขยายไปสู่มหาวิทยาลัยเอกชนที่เริ่มปิดตัวลง และกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งบางสาขามีผู้เรียนน้อยเพียงหลัก 10 คน และในที่สุดก็จะกระทบกับมหาวิทยาลัยทั้งหมด แบบล้มทั้งกระดาน

ทั้งนี้ สภาวะประชากรถดถอยเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ก็ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนขยับเพื่อแก้ปัญหานี้ เพราะไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เคยฉายภาพเรื่องนี้มาแล้ว เคยบอกว่าเด็กจะลด แต่ก็ไม่มีหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเอามาตระหนักคิด ไม่เอามาถกกันเพื่อวางแผน

ภาพใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ จะมีมหาวิทยาลัยหายไปประมาณครึ่งหนึ่ง ของจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เราเป็นประเทศเล็กแค่นี้ แต่มีมหาวิทยาลัยเกือบ 300 แห่ง เกินกว่าความจำเป็นมาก จนเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปิดตัวลงอีกมาก เพราะเราจะไม่เจอแค่ปัญหาเด็กลด แต่จะเจอกับปัญหาอื่น เช่น เด็กจำนวนมาก เลือกที่จะไปเรียนต่อในต่างประเทศ ปัจจุบันสามารถไปเรียนต่อได้ง่ายกว่าในอดีต เพราะหลายประเทศอย่าง ญี่ปุ่น อเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฯลฯ ก็ประสบปัญหาประชากรวัยเรียนลดลง จนต้องใช้มาตรการสารพัด เพื่อจูงใจ ผู้เรียนจากประเทศอื่นๆ พูดง่ายๆ ว่า นอกจากมหาวิทยาลัยไทยต้องแย่งเด็กกันเองแล้ว ยังต้องรับมือจากคู่แข่งในต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งค่าใช้จ่าย ค่าเรียนในบางประเทศ ไม่ได้สูงกว่าบ้านเรามาก

อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ ระบุอีกว่า แม้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีอิสระในการเปิดสอนหรือเปิดรับนักศึกษา โดยรัฐไม่สามารถบังคับให้แต่ละแห่งเปิดสอนเฉพาะสาขาที่มีตลาดแรงงานรองรับได้ หากแต่ละสถาบันไม่สามารถผลิตคนเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานที่ยังขาดแคลนอยู่ ก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่มีผู้เรียนจนต้องถูกปิดไปในอนาคตอันใกล้ ขณะเดียวกันเงื่อนไขที่จะช่วยให้อยู่รอดได้ เช่น ต้องไม่เลือกเปิดรับเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยเรียนเท่านั้น แต่ต้องหันไปเปิดรับคนในวัยทำงาน ซึ่งมีอยู่ประมาณกว่า 38 ล้านคน ก็เป็นเรื่องที่อาจทำได้เพียง บางสถาบันเท่านั้น

"อย่าลืมว่า อาจารย์หลายสถาบันอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สบาย อยู่แต่ในโลกของตัวเอง ขณะที่โลกภายนอกนั้นเปลี่ยนเร็วมาก หลายคนไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานจริงที่มากพอที่จะไปสอนให้ตอบโจทย์ใหม่ๆ ตอบโจทย์การเรียนเพื่อทำงาน สิ่งที่บางคนเคยสอน อาจจะไม่มีอะไรที่เอาไปทำงานจริงได้ บางสถาบันเท่านั้นที่ทำอย่างนี้ได้ เพราะมีนโบยายให้เรียนไปพร้อมๆ กับการลงไปทำงานกับชุมชน  สอนแบบสหกิจ ศึกษา ที่ผสมผสานระหว่างความรู้ที่ใช้ในห้องเรียน กับการทำงานที่ใช้ประสบการณ์จริง ให้นักศึกษาไปทำงานจริงในระหว่างภาคเรียนการศึกษา"

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอยู่กับมหาวิทยาลัยจำนวนมากในขณะนี้คือ มี อาจารย์สร้างอาณาจักร สร้างคณะของตัวเองโดยไม่สนว่ามีอาจารย์สอนวิชาต่างๆ ที่ซ้ำซ้อนกันเองเยอะมาก เช่น แต่ละคณะมีผู้สอนภาษาอังกฤษของตัวเอง ทำให้มีปัญหาผู้สอนเกินความจำเป็นตามมา และเมื่อต้องมีการปรับเปลี่ยนการบริหารเพื่อความอยู่รอด ก็จะมีอาจารย์อีกจำนวนมากที่ปรับตัวไม่ได้