posttoday

มรสุมรุม มหา’ลัย ในภาวะเด็กไทย I don’t care…

15 กันยายน 2561

โลกดิจิทัลส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายสิ่ง

โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม 

โลกดิจิทัลส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายสิ่ง แม้แต่การเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาปัจจุบัน

ผลกระทบที่เกิดกับมหาวิทยาลัยทั่วโลก หลายแห่งต้องปิดตัวจากหลักสูตรออนไลน์ที่กระหน่ำเข้ามา และปัจจัยเด็กเกิดใหม่ที่ลดลง

ปรากฏการณ์เหล่านี้สร้างแรงสั่นสะเทือน กลายเป็นวิกฤตอุดมศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างน่าห่วง

อะไรคือสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวถ้าอยากอยู่รอดในยุคเปลี่ยนผ่าน หรือจะบ๊ายบายขายยกเข่งให้กับกลุ่มทุนจีนอย่างที่เป็นข่าว

มหาวิทยาลัยในไทยมีอยู่ 170 แห่ง ไม่เฉพาะกลุ่มสายป่านสั้น ต้นทุนน้อยที่ได้รับผลกระทบหนัก แต่พายุดิจิทัลยังซัด มหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐให้เร่งปรับตัวขนานใหญ่เช่นกัน

พฤติกรรม “ผู้เรียน” ยุคใหม่ ในยุค Gen Y ที่โตมากับอินเทอร์เน็ต ไม่สนใจใคร “I don’t care” ได้เป็นตัวกำหนดทิศทางมหาวิทยาลัย เป้าหมายของเด็กยุคนี้มุ่งมั่นกับความสำเร็จที่ต้องเร็ว“ใบปริญญาตรี” ดูจะไม่สำคัญ เท่ากับออกไปหาประสบการณ์จริง ทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่กลาดเกลื่อนในตลาด

“เด็กสมัยนี้มีความคิดเปลี่ยนไปเยอะ เด็กอยู่ในภาวะ I don’t care ไม่สนใจ มีอิสระในความคิดในลักษณะสุดโต่งมากขึ้น สมัยก่อนเราฟังพ่อแม่ ท่านอยากให้เราเรียนอะไร เราก็เรียน แต่เด็กสมัยนี้นั่งกินข้าวไม่ได้นั่งดูหน้าพ่อแม่ แต่ดูมือถือเด็กจะ Extreme ทุกอย่าง” +ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “อาจารย์เอ้” อธิการบดีหนุ่มยุคใหม่ในวัย 46 ที่เป็นข่าวปฏิวัติการรับน้องโชว์เต้นแร็ปปฐมนิเทศเด็กปี 1 ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าว

“เด็กดูยูทูบตั้งแต่เด็ก ถูกสะกดจิตในโลกเสมือนจริง ไม่ได้สัมผัสจริง อันตรายมาก ดังนั้น วันนี้เราต้องให้เขาสัมผัสจริง ทำงานจริง มีมิติของคน มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยน เป็นที่ให้เขาปล่อยพลัง ออกไปทำงานแล้วนับเป็นเกรดได้ด้วย”

เด็กขาดโรลโมเดลรู้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมากกว่า 1

มรสุมรุม มหา’ลัย ในภาวะเด็กไทย I don’t care…

“อาจารย์เอ้” ยังวิพากษ์ว่า เด็กไทยยุคนี้ไม่โฟกัส น่ากลัวมาก ทั้งสมาธิและสปิริต เริ่มต้นแล้วไปไม่จบ และก็ไม่มีโรลโมเดล เหมือนสมัยก่อนเวลาเราเรียน เช่น ในอเมริกายุคเฟื่องฟูได้ นีล อาร์มสตรอง เหยียบดวงจันทร์ มี ไอน์สไตน์ เป็นโรลโมเดล ผู้นำก็มี จอห์น เอฟ เคนเนดี ตอนนี้เด็กก็ยังคิดไม่ออกอยากจะเป็นใคร เหมือนสมัยก่อน เวลาเรียนเด็กจะมีหนังสือผู้นำโลก นักวิทยาศาสตร์โลก แต่ปัจจุบันมันไม่รู้ควรเป็นใคร เรียนไปเลยเหนื่อย ไม่มีเป้าหมาย จึงเลิกดีกว่า และถ้าสังเกตร้านหนังสือในเมืองไทยก็จะมีหนังสือขายดีประเภททำอย่างไรให้รวยเร็ว ซึ่งผิวเผินมาก และการออกมาเป็นเจ้าของกิจการเร็ว ทำสตาร์ทอัพ มันก็จริง แต่มันเป็นภาพลวงตา เพราะเมืองไทยสตาร์ทอัพไม่ประสบความสำเร็จ

ศ.สุชัชวีร์ ยังมีตำแหน่งประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ให้ข้อมูลที่ยืนยันว่า ปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบจากจำนวนเด็กที่ลดน้อยลง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน ทำให้เกิดการแย่งชิงนักศึกษา ในอดีตมีนักเรียนจบชั้น ม.6 มากถึง 1 ล้านคน แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 5 แสนคน และนักเรียนเหล่านี้เข้าสู่ระบบอุดมศึกษาเพียง 3 แสนคน

“การเรียนสมัยนี้ทุกแห่งต้องปรับเปลี่ยน จะให้เขารู้อย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องทำมหาวิทยาลัยให้แตกฉาน อย่างคุณจบวิศวะ แต่อยากทำสตาร์ทอัพ แต่ไม่รู้เรื่องบัญชี การเงิน การสื่อสาร การตลาด มันก็ไปไม่รอด ความรู้ต้องรวมทุกศาสตร์เข้าด้วยกันถึงจะประสบความสำเร็จในการทำงานจริง”

อาจารย์เอ้ บอกว่า ในเมืองนอกมันต้องมีความรู้แตกฉาน และก็ไม่ได้เรียนหนักเหมือนเด็กไทยที่ถูกปลูกฝังว่าต้องเรียนให้มากที่สุดถึงจะเก่ง ซึ่งเด็กไทยเรียนมากที่สุดในโลก วัดจากหน่วยกิต เพราะอย่าง MIT สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ Stamford เรียนร้อยหน่วยกิตต้นๆ ก็เป็นวิศวะแล้ว คนไทยต้องเรียนถึง 150 หน่วยกิตถึงเป็นได้ เมืองไทยก็สอบมาก ส่วนเมืองนอกเน้น Portfolio

มหิดล มุ่งเทรนด์ภาครัฐยุคใหม่หาประสบการณ์นอกห้อง

มรสุมรุม มหา’ลัย ในภาวะเด็กไทย I don’t care…

มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง “มหิดล” ที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 115 ของโลก และอันดับที่ 1 ของประเทศในสาขา Life Sciences & Medicine โดย QS World University Rankings by Subject 2017 เป็นตัวอย่างกรณีศึกษาในการปรับตัวยุคดิจิทัล

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ฉายภาพสถานการณ์ปัจจุบันว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีนักศึกษาลดลงจริง แต่เป็นเทรนด์ของโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยอย่างเดียว เนื่องจากอัตราการเกิดน้อยลง ปัญหานี้ทำให้เกิดการช่วงชิงเด็กจากมหาวิทยาลัยต่างๆ อีก ตรงนี้จะมีภาวการณ์จากรายได้จำนวนหัวนักเรียน เพราะรายได้จากจำนวนหัวนักเรียนน้อยลงกระทบไปถึงปัญหางบประมาณ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาล อาจพบกับความยากลำบาก ก็ต้องไปเพิ่มรายได้จากค่าหน่วยกิตต่างๆ เพื่อให้มหาวิทยาลัยอยู่รอด ซึ่งเป็นการผลักภาระให้เด็ก

“เทรนด์ที่เกิดขึ้นเราเห็นจากเด็กเข้าสู่ประถมศึกษาและมัธยมน้อยลง ตามด้วยเข้าเรียนมหาวิทยาลัยน้อยลง มหาวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบ คือมหาวิทยาลัยที่เป็นตัวเลือกหลังๆ ส่วนมหาวิทยาลัยชั้นนำก็ยังไปอยู่ หรือได้รับผลกระทบช้าหน่อย มันเหมือนที่ดอน ถ้าน้ำท่วมที่ลุ่มมันโดนไปก่อน ดังนั้น มันจะไล่ไปจาก มหาวิทยาลัยภาคเอกชน แล้วค่อยไปถึงรัฐบาล ภาครัฐที่เป็นตัวเลือกท้ายๆ จะโดนก่อนแล้วก็มาเป็นโดมิโน เหมือนพีระมิดน้ำท่วมเรื่อยๆ”

มหิดลผลิตบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก แต่ละปีเฉลี่ยมีนักศึกษาใหม่ที่ 6,500-7,500 คน แต่รักษาการอธิการบดีฯมหิดล ยืนยันว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นแม้จะมีจำนวนนักศึกษาลดลงแต่ก็ไม่มาก

ศ.นพ.บรรจง กล่าวว่า มหิดลแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการตัดทอนในสิ่งที่คิดว่าไม่มีความสำคัญและไม่ตอบโจทย์ประเทศ เช่น สังคมศาสตร์ คนเรียนน้อยลง และจำนวนที่ต้องการไม่ได้มาก ขณะเดียวกันมหิดลเน้นเทรนด์ที่ภาครัฐกำลังมุ่งไป เช่น เรื่องการเดินทาง โลจิสติกส์ รถไฟ ไอซีที บิ๊กดาต้า รวมถึงด้านการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ไบโอเมดิคอล เอนจิเนียริ่ง รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้น มหิดลก็ต้องเรียนรู้ในตลาดแรงงานว่าอาชีพไหนที่ต้องการมากก็ต้องป้อนตลาดให้ทันกับความจำเป็นของประเทศ มิฉะนั้นเราจะไม่มีบุคลากรของเราไปตอบโจทย์

แม้หลายมหาวิทยาลัยจะได้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่ดีกรีหรือความรุนแรงที่แต่ละแห่งได้รับแตกต่างกัน เนื่องจากศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกัน ศ.นพ.บรรจง บอกว่า มหิดลผลิตบุคลากรทางแพทย์ส่วนใหญ่ ปัจจุบันแพทย์ยังต้องการมาก ไม่ว่า ทันตแพทย์ พยาบาล จึงมีผลกระทบช้า ที่สำคัญศาสตร์ของมหิดลเป็นไลฟ์สไตล์ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านโดยใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่สามารถทดแทนการเรียนการสอนในรูปแบบที่เรามีอยู่ได้ทั้งหมด

ศ.นพ.บรรจง ยังกล่าวถึงเด็กยุคใหม่และการปรับตัวของอาจารย์ว่า ครูผู้สอนต้องทำความเข้าใจจริตเด็กรุ่นใหม่ด้วย เพราะเขาเปลี่ยนไปจากรุ่นเรา เขาอยู่ในยุค Gen M (Millennium Generation) มีสมาธิสั้นลงต่างจากยุคก่อน ความตื่นเต้นในการเรียนรู้จะไม่เหมือนกับนักเรียนรุ่นเก่า ขณะเดียวกันครูผู้สอนอยู่ในยุคเบบี้บูมเมอร์ ก็ต้องให้สอดรับกับเด็กรุ่นใหม่ที่ชอบเทคโนโลยี ที่สำคัญผู้สอนอย่าคิดว่าตัวเองมีคอนเทนต์ทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่มันไปอยู่ในกูเกิล วิกีพีเดีย ที่เด็กสามารถดูที่บ้านได้เอง ฉะนั้น ครูผู้สอนไม่ใช่จะรอถ่ายทอดความรู้จากตัวผู้สอนอีกต่อไปเหมือนแต่ก่อน แต่ต้องทำหน้าที่แนะนำนักศึกษาได้ว่าจะต้องไปหาความรู้ที่ไหน แยกแยะข้อมูล สิ่งไหนถูกต้อง น่าเชื่อถือ

การปรับเปลี่ยนของ “มหิดล” ซึ่งเน้นผลิตบุคลากรเฉพาะทางด้านแพทย์เป็นหลัก เช่น ฟัน กายภาพบำบัด กีฬา เทคนิคการแพทย์ มีลักษณะ Human Touch ที่ต้องใส่ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ในส่วนนี้ได้ปรับรูปแบบการสอนโดยใช้เทคโนโลยีด้วยหุ่นจำลองมากขึ้นในคณะแพทย์ในช่วง 5 ปีนี้
พร้อมๆ กับการเรียนการสอนโดยสื่อออนไลน์ เพื่อลดการสอนหน้าห้องเรียนลง

“บางวิชาใช้เครื่องมือสอนทดแทนได้ เช่น หุ่นจำลองที่คล้ายคลึงกับผู้ป่วย เพื่อเรียนกายวิภาคในลักษณะภาพเสมือนจริง แทนที่จะต้องใช้ศพ แต่ใช้เทคโนโลยีแทน หรือซ้อมมือในการฉีดยา การทำผ่าตัดเล็กบางอย่าง การเย็บ ผ่าตัดด้วยการใช้กล้อง การทำคลอด แต่ในส่วนนี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการซื้อหุ่น ที่สำคัญบางเรื่องสอนออนไลน์ไม่ได้ เช่น การแสดงมารยาทในการปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างละมุนละม่อม จำเป็นต้องมีครูที่เป็นต้นแบบในการดูแลผู้ป่วย ซักประวัติ ไม่ละลาบละล้วง ดังนั้น ถือว่ามหิดลยังมีความพร้อมและการเรียนในมหาวิทยาลัยที่ยังจำเป็นอยู่ ไม่ใช่เรียนในออนไลน์ที่เป็นคอนเทนต์อย่างเดียว”

ครูต้องปรับมากกว่านศ.เด็กยุคใหม่สปีดเร็ว ใจร้อน

มรสุมรุม มหา’ลัย ในภาวะเด็กไทย I don’t care…

ศ.นพ.บรรจง กล่าวว่า ความรู้ในโลกใบนี้มันมีมาพร้อมกันหมดแล้ว ในแต่ละคณะก็จะรู้วิธีการเรียนการสอนที่ก้าวหน้าว่าควรเป็นอย่างไร เช่น วิศวะ มีเครื่องทดสอบใหม่ๆ ทางการแพทย์ก็จะรู้เรื่อง วิวัฒนาการศึกษา ซึ่งแพทย์เขาก็มีประชุม แพทยศาสตร์ศึกษาในระดับสากลหลายครั้ง ตรงนั้นเขาก็พูดเรื่องวิธีการสอนสมัยใหม่ผ่านสื่อออนไลน์หรือภาพเสมือนจริง

เขาย้ำว่า ทั้งหลายทั้งปวง ผู้สอนเป็นตัวสำคัญที่ต้องปรับมากกว่าเด็ก เพราะนักเรียนมีความรู้มาแล้ว สิ่งสำคัญเด็กยุคใหม่รอได้น้อยลง สปีดของเด็กจะเร็ว ต้องการอะไรทันใจ เด็กจำนวนหนึ่งเขาก็อยากมีครอบครัว มีรายได้พร้อม มีรถขับตามอายุที่ต้องการ เพราะบางทีเขาไปเทียบเคียงกับเด็กที่เรียนจบ 4 ปี มีรายได้ มีอาชีพแล้ว แต่การเรียนแพทย์จบ 6 ปี ต้องไปใช้ทุนแล้วกลับมาเรียนต่อผู้เชี่ยวชาญอีก 3-5 ปี เบ็ดเสร็จรวมเวลาฝึกอบรม 10 กว่าปี บางทีเพื่อนๆ เขาไปทำธุรกิจกันหมด มีรถขับ ตรงนี้ทำให้อาจารย์ต้องคอยบอกเด็กให้เข้าใจว่า อาชีพแพทย์ได้รับความไว้วางใจจากสังคม จำเป็นต้องดำรงสถานะตามวิชาชีพ ไม่ได้ร่ำรวยเหมือนนักธุรกิจ อารมณ์ลักษณะนี้มีเพิ่มขึ้นตามยุคสมัย แต่ก็เกิดขึ้นทุกที่

“ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก บิล เกตส์ สตีฟ จ็อบส์ ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย สิ่งที่เขาทำเขาอยู่นอกมหาวิทยาลัย เราก็ต้องกลับมาคิดด้วยว่า การเรียนในระบบมหาวิทยาลัยมันขาดอะไร ถึงทำให้คนที่เรียนนอกระบบมหาวิทยาลัยไปจุดสูงสุดได้ อีกเรื่องคือ ความมุ่งมั่น การลองผิดลองถูก บางครั้งการเรียนเป็นแบบเก่าอาจจะไม่ได้เตรียมการไว้ การสัมผัสกับการแก้ปัญหาจริง ลองผิดลองถูก เราต้องให้ความสำคัญ สิ่งที่เขาพูดกันตอนนี้ คือ Early Failure การพบความล้มเหลวตั้งแต่แรกเพราะเราจะได้รู้ว่า สิ่งที่เราทำอย่างนี้ มันไม่ประสบผลสำเร็จ เราจะได้รีบแก้ปัญหา”

รศ.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (มศว) บอกว่า ประเทศกำลังประสบปัญหาเด็กเกิดใหม่ลดลง เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้จะมีเด็กเกิดประมาณปีละ 1.2-1.5 ล้านคน แต่ลดลงเหลือเกิดเพียงปีละ 6-7 แสนคน ด้วยจำนวนเด็กที่น้อยเช่นนี้ย่อมส่งผลให้จำนวนผู้ที่จะเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาลดน้อยลงตาม

อธิการบดี มศว บอกว่า เด็กในปัจจุบันเริ่มมีค่านิยมใหม่คือ ไม่เลือกเรียนในมหาวิทยาลัย แต่หันไปมุ่งทำงานเฉพาะทางที่ตัวเองชอบหรือใฝ่ฝันโดยตรงผ่านโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ยึดถือใบปริญญาบัตร แต่บางรายพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ซึ่งสังคมไทยยังคงยึดใบปริญญา แตกต่างจากในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์ชีวิตเป็นสำคัญ ยิ่งมีฝีมือหรือผ่านงานเฉพาะด้านมามาก โอกาสก้าวหน้าจะมีสูงโดยไม่มองเรื่องปริญญาบัตรแม้แต่น้อย

“ต้องยอมรับว่าวัยรุ่นยุคใหม่บางส่วนมีพฤติกรรม ‘หนักไม่เอา เบาไม่สู้’ มากขึ้น ความอดทนไม่ค่อยมี รวมถึงความรู้สึกอยากช่วยเหลือผู้คนหรือการอยากมีส่วนร่วมกับสังคมนั้นน้อยลง ฉะนั้นการเรียนภายในรั้วของมหาวิทยาลัยจะสร้างคุณธรรมจริยธรรมได้มากกว่าเรียนด้วยตนเองผ่านอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว ซึ่งทาง มศว ส่งเสริมการเรียนรู้ช่วยเหลือสังคม ชุมชน ให้เด็กลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิต การทำงาน”

รศ.สมชาย กล่าวว่า มศว เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นฝึกหัดครูชั้นสูงมาตั้งแต่เริ่มต้น ปัจจุบันเราเป็นเอกในเรื่องการศึกษา มีคณะศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทั้งหมดเป็นการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ซึ่งรูปแบบนี้มีที่ มศว เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แม้ว่าทาง มศว จะครอบคลุมเรื่องการศึกษา แต่ยังต้องปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย ไม่ให้เนื้อหาล้าหลัง ไม่ให้ครูผู้สอนเพียงเรื่องเดียว หรือสอนแบบท่องจำอีกต่อไป

ใบปริญญาอาจไม่สำคัญเท่ากับความรู้จริง

มรสุมรุม มหา’ลัย ในภาวะเด็กไทย I don’t care…

สำหรับธรรมศาสตร์ (มธ.) รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. ฉายภาพว่า วิกฤตอุดมศึกษาไทยที่เป็นเรื่องใหญ่ขณะนี้ คือ เรื่องคุณภาพทางการศึกษา หากเทียบเคียงกับเอเชีย ประเทศไทยยังไม่ทัดเทียมและต้องพัฒนาอีก ทั้งในเรื่องคุณภาพคนและวิชาการ

ปัจจัยที่ท้าทายที่สุด คือ ปัจจุบันมีจำนวนเด็กเข้าสู่ระบบน้อยลง ผนวกกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไหลเข้ามา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องปรับตัวอยู่เสมอ โดยเน้นเรื่องการศึกษาด้านความเป็นนานาชาติที่มีกว่า 291 หลักสูตร หลังดำเนินการมานานกว่า 10 ปี โดยนักศึกษาไม่ต้องเรียนกับมหาวิทยาลัยตลอด แต่จะส่งไปเรียนไปฝึกงานในต่างประเทศ เพื่อให้มีความรู้มากขึ้น สร้างเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้นักศึกษามีความรู้กว้างขวาง และเกิดนักศึกษาแลกเปลี่ยน

“ถ้าเราเพิ่งเริ่มปรับตัวน่าจะแย่ แต่เราเริ่มสร้างเริ่มปรับตัวมานานแล้ว ประกอบกับอาจารย์ที่จะเข้ามาสอน จะต้องผ่านการอบรมเรื่อง Active Learning มากขึ้นเรื่อยๆ มุ่งเน้นให้เด็กเรียนด้วยเทคโนโลยี ให้สามารถประยุกต์ใช้ได้ สามารถตามโลก ตามธุรกิจได้ทัน อีกทั้งเด็ก Gen Z ไม่ชอบรอ และชอบทำงานคนเดียว ทาง มธ.ได้เตรียมระบบไอทีรองรับไว้ ส่วนอาจารย์ผู้สอนจะเป็นผู้สนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้” อธิการบดี มธ.กล่าว

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มธ. ให้ข้อสังเกตว่า ปัจจุบันทิศทางของบริษัทขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลจะสนใจเรื่องใบปริญญาน้อยลง รวมถึงการศึกษาที่เรียนรู้เพียงศาสตร์เดียว และจบมาได้ใบปริญญา ดูมีความสำคัญน้อยลงแล้ว เมื่อโลกมาแบบนี้ ศาสตร์ความรู้เฉพาะด้านไม่มีทางที่จะนำไปใช้แล้วทำงานเป็น เพราะโลกนอกรั้วมหาวิทยาลัยไม่ได้แยกวิชาไว้เป็นแต่ละสาขาเหมือนในมหาวิทยาลัย แต่มันคือโลกของความจริงที่ต้องใช้ความรู้หลายด้านมาประกอบการทำงานและแก้ไขปัญหา การศึกษาลักษณะในยุโรปปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปแล้ว นั่นหมายความว่า ความรู้แบบแยกส่วนไม่มีอีกต่อไป เพราะมันเชื่อมต่อกันบนอินเทอร์เน็ตหมด”

ผศ.ปริญญา กล่าวว่า แม้จะแยกคณะศึกษาอยู่แต่ต้องมีการบูรณาการกันมากขึ้น จะให้นักศึกษานิติศาสตร์เรียนวิชาเอกก็นิติศาสตร์ วิชาเลือกก็นิติศาสตร์แบบนั้นไม่ได้แล้ว มันหมดสมัย เพราะการรู้กฎหมายเพียงด้านเดียวนำมาแก้ไขปัญหาไม่ได้ ทุกเรื่องมันต้องเกี่ยวพันกันหมด

“สังคมโลกต่างคาดหวังกับตัวนักศึกษาที่ทำงานและแก้ปัญหาเป็น ‘ถ้าความรู้ไม่มีก็หาเองเป็น มันคือโลกยุคใหม่สมัยก่อนความรู้หลักต้องมาจากอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น ต่อไปนี้บทบาทอาจารย์ต้องเปลี่ยนรูปแบบจากเคยเป็นผู้ให้ความรู้ต้องเป็นการฝึกให้นักศึกษาหาความรู้เป็น หรือที่เข้าใจง่ายที่สุดคือปรับบทบาทเป็นโค้ชแทน หรือผู้จัดกระบวนการให้นักศึกษาได้หาความรู้”

รองอธิการบดี มธ. กล่าวว่า เด็กยุคปัจจุบันเติบโตขึ้นมาพร้อมกับโลกที่ความรู้ที่ไม่ได้แยกส่วนอีกต่อไป ทุกอย่างถูกบูรณาการเชื่อมโยงแบบไร้พรมแดน แต่มนุษย์ต้องเรียนรู้บริโภคข่าวสารอย่างเท่าทัน รู้จัก ข่าวลวง ข่าวปลอม ฯลฯ หลายประเทศมีหลักสูตรนี้แล้ว เพราะถือว่าสำคัญมาก ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่สังคมต้องเรียนรู้และสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ผศ.ปริญญา ระบุว่า ถ้ายังใช้รูปแบบการเรียนการสอนเช่นเดิม เชื่อว่าต่อไปมหาวิทยาลัยที่ไม่ปรับตัวจะไม่รอดอย่างแน่นอน แม้จะได้บัณฑิตที่จบมาก็ได้แค่ใบปริญญา แต่ไม่สามารถสู้คนไม่จบปริญญาได้ กล่าวคือ อนาคตข้างหน้าใบปริญญาคนจะให้ความสนใจน้อยลง แต่ถ้ามหาวิทยาลัยใดปรับ ก็จะได้บัณฑิตที่ตรงตามความต้องการทัดเทียมการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปอีกรูปแบบหนึ่ง

ด้านความเห็นจากตัวแทนนักศึกษาอย่าง ปุณณพัทธ์ อรุณิชย์ตระกูล ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย มองว่า เยาวชนจำนวนมากยังตระหนักถึงการเรียนการสอน แต่จำนวนไม่น้อยก็ผิดหวังจากการเรียนในห้องโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ซึ่งพบว่ามีบางสถาบันไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้นัก จึงยังมีผู้สอนที่มายืนอ่านเอกสาร หรืออ่านพาวเวอร์พอยต์หน้าชั้นเรียน หรือสอนในเนื้อหาที่เด็กยุคนี้สามารถหาอ่านได้จากโลกออนไลน์ ทั้งนี้เชื่อว่านักศึกษาหลายคนเมื่อพบเจอสถานการณ์การสอนในแบบดังกล่าวก็จะบอกตัวเองว่า จะยอมเรียนให้จบๆ แต่ไม่คาดหวังอะไร ยอมเรียนแค่เพื่อเอาวุฒิการศึกษา เพราะเชื่อว่าปัจจุบันสถานที่ทำงานหลายแห่งคำนึงถึงวุฒิการศึกษาน้อยกว่าความสามารถที่มี

“สิ่งที่เด็กยุคนี้คาดหวังจากการเรียนก็คือความรู้ ที่ช่วยให้พวกเขานำไปใช้ในชีวิตจริงได้ การเรียนภาคทฤษฎีก็เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่หลายเรื่องก็นำไปอ่าน หรือสอบถามอาจารย์ภายหลัง หรือกระทั่งปัจจุบันที่ถามกันทางโทรศัพท์ หรือผ่านไลน์ได้ แต่สิ่งที่อยากได้มากก็คือ การได้ลงมือปฏิบัติจริง หรือมีประสบการณ์ตรงในสายที่เรียน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่โลกออนไลน์ให้พวกเราไม่ได้” ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าว