posttoday

สมุนไพรสำเร็จรูป ‘วิถีคนยุคใหม่’ อวดอ้างสรรพคุณ สู่เหยื่อโฆษณา

15 กันยายน 2561

ที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียน สคบ.จำนวนมากเกี่ยวกับกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพร ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการโฆษณาที่เกินจริง

โดย...เอกชัย จั่นทอง

เรียกว่าชื่อเสียงกึกก้องโลก สำหรับ “สมุนไพร” ไทยชนิดต่างๆ ที่ทุกครัวเรือนนิยมนำไปอยู่ในตู้ยาสามัญประจำบ้าน จนสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการสมุนไพรไทยไปสู่ระดับโลก หลายคนบริโภคยาสมุนไพรจนหายเจ็บป่วยช่วยตอกย้ำสรรพคุณยาจนได้รับการยอมรับทางคุณภาพ แต่มีข้อสังเกตสำคัญคือต้องดูที่มาของสมุนไพรว่า จำหน่ายถูกต้องน่าเชื่อถือแค่ไหน ที่ผ่านมาเกิดช่องโหว่ มิจฉาชีพนำยาสมุนไพรปลอมมาจำหน่าย หลายคนตกเป็นเหยื่อเจ็บป่วยหนักกว่าเดิม ล่าสุดมีผู้สูงอายุรายหนึ่งซื้อน้ำสมุนไพรยี่ห้อดังมารับประทาน สุดท้ายต้องเสียดวงตาไปหนึ่งข้าง

พิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ให้ความเห็นในกรอบการดูแลผู้บริโภค ว่า ที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียนมายัง สคบ.จำนวนมากเกี่ยวกับกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพร ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการโฆษณาที่เกินจริง อวดอ้างสรรพคุณรักษาโรคต่างๆ ที่เยอะเกินไป ใช้แล้วไม่ได้ผลตามที่ผลิตภัณฑ์นั้นกล่าวอ้าง เมื่อทาง สคบ.รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้วจะนำข้อมูลนี้ส่งให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ดำเนินการตรวจสอบตามข้อร้องเรียนต่างๆ

“ปัจจุบันจะเป็นกลุ่มของวัยรุ่นและผู้สูงวัยที่นิยมหันมาบริโภคอาหารเสริมหรือยาสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากกินแล้วใจสั่น ใจหวิว มีอาการแพ้ ควรหยุดกิน บางครั้งยาอาจปลอม นอกจากนี้ทางผู้ร้องในฐานะผู้บริโภคเองเราจะช่วยเหลือฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคด้วย”

พิฆเนศ ระบุอีกว่า ปัจจุบันการโฆษณาขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม มักไม่ได้ระบุรายละเอียดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างครบถ้วน ก่อนซื้อต้องตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน ที่สำคัญปัจจุบัน “เลขใบอนุญาตโฆษณา” การขายทางออนไลน์ทั้งหลาย วันนี้เรายังไม่เห็นการกำกับดูแลควบคุมอย่างจริงจัง ไม่มีการบอกหรือระบุเลขอนุญาตโฆษณาให้ชัดเจน แตกต่างกับการขายสินค้าผ่านสื่อทีวี จะระบุเลขโฆษณาชัดเจน ประชาชนต้องระวังเสมอว่าสิ่งที่โฆษณาอวดอ้างเกินความจริงหรือไม่ ผู้บริโภคต้องระวังอย่าหลงเชื่อ

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้คร่ำหวอดสมุนไพรแถวหน้าของประเทศไทย เสริมความเห็นทางสมุนไพรว่า ปัจจุบันทั่วโลกและวงการสมุนไพรไทย ทุกคนให้การยอมรับเรื่องคุณภาพ ในประเทศไทยมีฐานทรัพยากรสมุนไพร มีความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญา เราจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ในแง่ของสุขภาพและเศรษฐกิจ ดังนั้นการบริโภคยาสมุนไพรต้องมีความรู้ควบคู่กันไปด้วย

ผนวกกับปัจจุบันสังคมที่เร่งรีบ คนส่วนใหญ่ “ไม่มีเวลา” ขาดความรู้ ไม่รู้จักสมุนไพร ไม่รู้จักต้นไม้ ทำให้เป็นเหยื่อของการโฆษณาได้ง่าย รวมถึงการใช้ยาตามกระแส หรือแห่ใช้กันเป็นพักๆ ก็หายไป ยอมรับว่าคนยุคปัจจุบันไม่มีเวลา การรับประทานยาสมุนไพรจึงเป็นรูปแบบของ “ยาสำเร็จรูป” ที่อาจไม่ใช่ธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อาจมีส่วนผสมอื่นเข้ามา

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรทำคือ พยายามเลือกกินของที่เป็นเกษตรอินทรีย์ก่อน ถ้ามีโอกาสเลือกได้ มันปราศจากสารเคมีปนเปื้อน ถัดมารับประทานสิ่งที่เราคุ้นเคย เช่นพวกเครื่องเทศที่อยู่ในครัว สำคัญที่สุดหากเรามองว่าสุขภาพสำคัญก็ต้องหาเวลาดูแลตัวเอง โดยสามารถหาสมุนไพรที่รู้จักทั่วไปได้ง่ายๆ เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย ฯลฯ ล้วนช่วยลดอาการเจ็บป่วยโรคพื้นฐานได้” หมอสุภาภรณ์ แนะนำ

ส่วนข้อมูลการใช้สมุนไพรที่เผยแพร่ทั่วไปเพียงพอต่อการนำไปปรับใช้ดูแลสุขภาพได้ ถ้ารู้จักใช้และศึกษา แต่นั่นก็มีทั้งข้อมูลเท็จและข้อมูลจริง ถ้าหากจะเลือกบริโภคสมุนไพร “ต้องเลือกดูจากข้อมูลบริษัทที่จัดจำหน่าย เจ้าของบริษัท ต้องน่าเชื่อถือ ให้คำปรึกษา แนะนำดี ตรงนี้คือส่วนสำคัญที่ตัวหมอเองคิดว่ามีความจำเป็นที่ผู้ใช้ยาต้องรู้”

สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอมที่ลักลอบจำหน่ายมีประชาชนบริโภคจำนวนไม่น้อยนั้น หมอสุภาภรณ์ ย้ำชัดเจนว่า ต้องเลือกบริษัทจำหน่ายยาที่น่าเชื่อถือ ส่วนสินค้าออนไลน์ การโฆษณาที่เข้าถึงประชาชนทุกช่องทางเป็นอันตรายอย่างหนึ่งเช่นกัน ซึ่งมีดาบสองคม กล่าวคือ ผู้บริโภคต้องแข็งแรงที่จะเลือกใช้ให้ถูกกับโรค และต้องเข้าใจว่าสมุนไพรชนิดนั้นๆ มีความปลอดภัยแค่ไหนบนฐานความรู้ที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ควรมีการต่อยอดภูมิปัญญาสมุนไพรเพื่อการแข่งขันได้ ที่สำคัญต้องไม่ใช่การมีแต่นโยบายเท่านั้น แต่ควรมีกลไกให้การสนับสนุนส่งเสริมให้ทำได้จริงเกี่ยวกับสมุนไพรต่อไป