posttoday

เครือข่ายยางค้านเงินช่วยเหลือ ยื่นข้อเสนอตั้งโรงงานแปรรูป

15 กันยายน 2561

มุมมองของ “คนในวงการยาง” มองกรณีรัฐบาลเตรียมจ่ายเงินช่วยเหลือให้ชาวสวนยาง ไร่ละ 1,000-1,500 บาท ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด

โดย...อัสวิน ภักฆวรรณ

งบประมาณร่วม 4 หมื่นล้านบาท ที่รัฐบาลเตรียมจะแจกจ่ายให้กับเกษตรกรสวนยางพารา ไร่ละ 1,000-1,500 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภาวะราคายางพาราตกต่ำ ในมุมมองของ “คนในวงการยาง” พวกเขากลับคิดว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดเลย

กัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ อ.เบตง จ.ยะลา กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางส่งออกรายใหญ่ มองว่านโยบายชดเชยและแทรกแซงราคายางพาราหลายรัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง ใช้เงินจำนวนมาก มารัฐบาลนี้จะให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางพารา โดยเฉพาะเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จำนวน 1.3 ล้านครัวเรือน โดยไม่ได้รวมถึงเกษตรกรยางพาราที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และไม่ได้ลงทะเบียนกับ กยท.อีกจำนวนมาก รัฐบาลจะต้องใช้เงินประมาณเดือนละ 1.3 หมื่นล้านบาท ครบ 3 เดือนเป็นเงินประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท แม้เกษตรกรจะได้ประโยชน์และเงินไหลเข้าสู่ระบบการตลาด แต่ประเด็นปัญหาไม่มีวันจบสิ้นเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ราคายางพาราก็ไม่ได้ขยับขึ้น  

กัมปนาท บอกว่า การระดมความคิดหาแนวทางแก้ปัญหาในกลุ่มสถาบันเกษตรกรยางพาราต่างเห็นว่า หากนำเงินจำนวนหลายหมื่นล้านบาทนี้มาลงทุนโครงการใช้ยางภายในประเทศ เช่น การลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งใช้ภายในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ล้อยานยนต์ใช้ภายในประเทศผลิตเองใช้เอง

“วิธีการคือเอาเงินดังกล่าวแทนที่จะชดเชยก็ให้ปล่อยลงสู่สถาบันเกษตรกรยางพารา เช่น กลุ่มยาง กลุ่มสหกรณ์ยาง โดยจับมือกันจัดตั้งบริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ล้อยานยนต์ เป็นต้น จะเกิดเสถียรภาพในระยะยาว” 

กัมปนาท กล่าวอีกว่า ปัญหาใหญ่สำคัญของยางพาราคือประเทศจีน ซึ่งถูกสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูงขึ้นอีก 25% เพราะจีนแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ล้อยานยนต์ส่งสหรัฐ เมื่อเสียภาษีสูงก็มาดึงราคายางพาราที่ซื้อจากต่างประเทศให้ต่ำลง เพื่อรักษาต้นทุนการผลิต ไทยในฐานะผู้ส่งออกยางรายใหญ่ไปจีนจึงได้รับผลกระทบ

ด้าน ไพรัช เจ้ยชุม ประชาสัมพันธ์เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า เครือข่ายได้เข้าพบกับ กฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอแนวทางว่าการให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่ควรจะใช้วิธีการอื่น เช่น โครงการส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีโครงการใช้ยางทำถนน เป็นต้น

สำหรับแนวทางการตั้งบริษัทแปรรูปยางพาราเป็นล้อยานยนต์นั้น ไพรัช บอกว่า ได้เสนอต่อ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการ กยท.ไปแล้ว อีกทั้ง รมว.เกษตรฯ ได้รับหลักการและเห็นด้วย พร้อมจะนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นการดีกว่าที่รัฐบาลจะใช้เงินช่วยเหลือเกือบ 4 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินจำนวนนี้มาให้กลุ่มสถาบันเกษตรกรณ์สวนยางพารารวมตัวกันตั้งโรงงาน

“การผลิตล้อยางก็จะมีลูกค้าแล้วที่เป็นชาวสวนยางกว่า 10 ล้านคน ซึ่งทางสถาบันเกษตรกร สหกรณ์ยาง กลุ่มยาง วิสาหกิจชุมชนยาง ก็จะทำการประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกในกลุ่มกลับมาใช้ของที่ผลิตเองใช้เอง จะเป็นหนทางที่แก้ไขเรื่องยางได้”

ไพรัช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวทางอื่นๆ ต่อ รมว.เกษตรฯ เช่น การวางระเบียบระบบการตลาดยางใหม่ โดยเพิ่มตลาดเครือข่ายให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนซื้อมาขายไป ไม่ต้องเก็บเข้าสต๊อกยาง เพราะยังมีผู้ประกอบการซื้อยางอยู่แล้ว และบางรายยังซื้อราคาสูงกว่าราคาตลาดกลางยาง ที่ประมูลซื้อขายอยู่ 50 สตางค์ และ 1 บาท

นอกนั้นต้องจัดระบบวางกลไกระเบียบวิธีการให้สอดคล้อง เพราะในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา ตลาดกลางยางประมูลซื้อขายปั่นป่วนมาก ยางเกรดต่างๆ ราคาแตกต่างกันแค่ไม่กี่สตางค์