posttoday

ปปท.รับคดีทุจริตพุ่งทุกปี

14 กันยายน 2561

ป.ป.ท.-กลุ่มอาเซียนขานรับคดีทุจริตพุ่งทุกปี พบข้าราชการระดับสูงโกงซับซ้อนมีเงินจ้างทนายเก่งสู้คดี

ป.ป.ท.-กลุ่มอาเซียนขานรับคดีทุจริตพุ่งทุกปี พบข้าราชการระดับสูงโกงซับซ้อนมีเงินจ้างทนายเก่งสู้คดี

พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ ป.ป.ท.ก่อตั้งขึ้น (ปี 2551) มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 1 หมื่นเรื่อง และมีคดีที่รับดำเนินการ 3,000 เรื่อง มีทั้งคดีอยู่ในชั้นไต่สวน คดีอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง และคดีที่ต้องยุติการไต่สวนไปไม่ถึงชั้นอัยการ เนื่องจากไม่พบหลักฐานเชื่อมโยงถึงผู้ทำผิด

เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ควรนำมาตรการทางวินัยและอาญามาใช้แก้ปัญหาก่อน ในขณะที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นทั่วโลก และต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในระดับอาเซียน เนื่องจากการทุจริตเป็นปัญหาสำคัญและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังนำไปสู่ปัญหาก่อการร้าย ยาเสพติด ซึ่งแต่ละประเทศมีกลไกการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ พ.ท.กรทิพย์ กล่าวเรื่องนี้ระหว่างเปิดเวทีป้องกันการทุจริตของพลเมืองอาเซียน โดยมีผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนประจำประเทศไทย 8 ประเทศเข้าร่วม

นายภูมิวิศาล เกษมศุข ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีคดีนักลงทุนชาวยุโรปเข้ามาร้องเรียนกรณีถูกเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ฉ้อโกงทรัพย์สิน โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ ยังมีคดีนักท่องเที่ยวต่างชาติถูกเจ้าหน้าที่เทศกิจเรียกปรับเงินจำนวน 3 หมื่นบาท กรณีทิ้งก้นบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งคดีดังกล่าวได้ส่งอัยการฟ้องไปแล้ว ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เทศกิจได้ถูกหน่วยงานต้นสังกัด คือ กทม. ให้ออกพ้นจากหน้าที่ทั้ง 3 นาย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์นักลงทุนต่างชาติ แต่ส่วนใหญ่เป็นการโทรเข้ามาขอรับคำปรึกษาเฉลี่ยเดือนละประมาณ 100 สาย กรณีถูกเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์ แต่ไม่กล้าเข้ามายื่นเรื่องร้องเรียนจริง เนื่องจากเกรงว่าธุรกิจจะได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาจะเกิดขึ้นกับนักธุรกิจที่ทำกิจการร้านอาหาร โรงเรียนสอน ดำน้ำในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว

ขณะที่นางสุรยา พอซี อัครราชทูต ที่ปรึกษามาเลเซียประจำประเทศไทย  กล่าวว่า ปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ของประเทศล้วนมาจากปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ที่อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียถูกจับกุมข้อหาทุจริต เมื่อค้นบ้านพักพบว่ามีการซุกซ่อนเงินสดจำนวน 1,000 ล้านบาท และยังมีเงินสกุลอื่นๆ อีกจำนวนมาก ถือเป็นเรื่องยากที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ ในการตรวจสอบปัญหาทุจริตจะต้องสู้กับอดีตนายกฯ ซึ่งมีเงินในการว่าจ้างทนายเก่งๆ จากทั่วโลกมาต่อสู้คดีในชั้นศาล

ด้าน นายอับดุลเลาะห์ ซัลคิฟลี ที่ปรึกษาประจำสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในอินโดนีเซียพบปัญหาว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตในคดีเรียกรับสินบนในวงเงิน 2.5 ล้านบาท ซึ่งเรามีหน่วยงานคล้าย ป.ป.ช.ของไทย

นอกจากนี้ ยังพบว่าคดีทุจริตคอร์ รัปชั่นมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2558 มีจำนวน 56 คดี ปี 2559 มี 99 คดี และปี 2560 จำนวน 114 คดี สำหรับผู้ที่กระทำความผิดในเรื่องดังกล่าว และถูกตัดสินดำเนินคดีเป็นเจ้าหน้าที่รัฐสภาและผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นโฆษกรัฐบาลถูกตัดสินให้จำคุก 15 ปี ในข้อหาคัดลอกข้อมูลประชาชน ส่วนเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอีก 41 คน ก็ถูกดำเนินคดีด้วย