posttoday

1 ต.ค. รพ.เลิกถุงพลาสติก รณรงค์ร้านค้าแลกส่วนลด

14 กันยายน 2561

ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกหันมาใส่ใจมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาผลกระทบจากขยะพลาสติกย่อยที่สลายได้ยากหลุดรอดลงไปในทะเล

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกหันมาใส่ใจมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาผลกระทบจากขยะพลาสติกย่อยที่สลายได้ยากหลุดรอดลงไปในทะเล เป็นสาเหตุหลักของหายนะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้

เป็นที่มาของนโยบายงดใช้ถุงพลาสติกสำหรับใส่ยาให้ผู้ป่วย แม้จะเป็นเพียงก้าวเล็กๆ แต่นับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีปริมาณขยะถุงพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบ/วัน ถือเป็นปัญหาสำคัญและกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างมาก

กทม. จึงรณรงค์ให้หน่วยงานในสังกัดทุกหน่วยงานเป็นต้นแบบตามนโยบายรัฐบาล โดยงดใช้ถุงพลาสติก-โฟมภายในสำนักงาน รวมถึงร้านค้า ร้านอาหาร ที่อยู่ในหน่วยงานของ กทม. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2562 กทม.จะไม่สั่งผลิตถุงพลาสติกเพื่อเป็นถุงใส่ยากลับบ้านอีกต่อไป โดยจะขยายผลการรณรงค์ใช้ถุงผ้ารับยากลับบ้านในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และศูนย์สุขภาพชุมชนของ กทม. และยังมีแผนจัดกิจกรรมกระตุ้นการลดใช้ถุงพลาสติกตามร้านค้าต่างๆ ที่ตั้งอยู่ภายในหน่วยงานของ กทม. เพื่อแลกส่วนลดราคาสินค้าและอาหารอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ยังรณรงค์ให้บุคลากรในสังกัดใช้ถุงผ้า กระบอกน้ำ แก้วน้ำ ส่วนตัว ปิ่นโต และกล่องข้าวที่ใช้ซ้ำได้ แทนใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำและอาหาร พร้อมทั้งขับเคลื่อนการลดใช้พลาสติกและโฟม ในเรื่องของการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์นมโรงเรียน กทม. จากถุงนมพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นๆ อีกด้วย

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ขยะพลาสติกกำลังเป็นวิกฤตสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ทั้ง 10 แห่งจึงใช้วิธี ลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติกสำหรับใส่ยาให้ผู้ป่วยนอกกลับบ้านและเปลี่ยนมาเป็นบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ เช่น ถุงผ้า หรือกระเป๋า ใส่ยาแทน พร้อมทั้งเปิดรับบริจาคถุงผ้าเพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับคนไข้ไม่ได้เตรียมถุงผ้ามาด้วย

สำหรับโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ประกอบด้วย 1.โรงพยาบาลกลาง 2.โรงพยาบาลตากสิน 3.โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 4.โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ 5.โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ 6.โรงพยาบาลลาดกระบัง 7.โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 8.โรงพยาบาล สิรินธร 9.โรงพยาบาลผู้สูงอายุบาง ขุนเทียน และ 10.โรงพยาบาลคลองสามวา ส่วนสำนักงาน 2 แห่ง คือ สำนักงานเลขานุการ สำนักการแพทย์ สำนักงานพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ และศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) จะงดใช้ถุงพลาสติกและโฟมในสถานที่ราชการ พร้อมทั้งให้ความรู้ประชาชนเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่ใช้ซ้ำได้

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลการใช้ถุงพลาสติกใส่ยาของหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ ปี 2560 พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 9 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.5 ล้านบาท หากมีการลดใช้ถุงพลาสติกลงจะช่วยลดปัญหาขยะและประหยัด ค่าใช้จ่ายได้มาก ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ 30 แห่ง ได้เริ่มดำเนินการยกเลิกใช้ถุงพลาสติกใส่ยาแล้วจำนวน 18 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จ.ชลบุรี โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โดยต่อจากนี้ตั้งเป้าให้หน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ทุกแห่งต้องปลอดการใช้ถุงพลาสติกถาวร

อรยา สูตะบุตร ตัวแทนกลุ่มบิ๊กทรี ผู้ที่รณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ได้เดินทางไปใช้บริการที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการติดป้ายประกาศงดแจกถุงหูหิ้วพลาสติกใส่ยา ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ตามนโยบายลดปริมาณขยะ ลดโลกร้อน หากต้องการถุงใหม่จ่ายเงินเพิ่ม 2 บาท ถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่มีความพยายามลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง

แม้ว่าในช่วงแรกจะสร้างปัญหาหรือเสียงบ่นจากผู้สูงวัยที่เคยชินกับการได้รับถุงเล็กถุงน้อย แต่อยากให้นโยบายเช่นนี้เดินหน้าต่อไปเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งอยากให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ใช้ช่องทางโซเชียล มีเดียปลูกฝังบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

"สิ่งที่ดีที่สุดคือ โรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องให้ถุงอะไรเลย แล้วให้คนไข้เตรียมมาเอง ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกที่มีอยู่แล้วที่บ้าน นำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง เพราะถ้าเปลี่ยนเป็นถุงผ้าก็อาจจะกลายเป็นปัญหาถุงผ้าล้นโลกอีกเช่นกัน ดังนั้นจุดสำคัญคือประชาชนทุกคนควรมีภาชนะใช้ซ้ำได้ จะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด" อรยา กล่าว

อรยา กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศงดใช้ถุงพลาสติกมานานแล้ว เช่นที่ออสเตรเลีย หรืออังกฤษ หากไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วไม่ได้เตรียมถุงผ้ามาเอง เขาจะคิดเงินค่าถุงเพิ่มเป็นเงินหลายบาททันที ในช่วงแรกมีเสี่ยงบ่นเหมือนกัน แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว