posttoday

กทม.จัดที่ลี้ภัยพร้อมอพยพคนกรุงหนีน้ำ

22 ตุลาคม 2553

กทม.จัดที่ลี้ภัย พร้อมอพยพคนกรุงหนีน้ำ เล็งสั่งปิดโรงเรียน ประธานสภา กทม.จวกผู้บริหาร กทม.เร่งแจ้งเตือนชุมชนเสี่ยง

กทม.จัดที่ลี้ภัย พร้อมอพยพคนกรุงหนีน้ำ เล็งสั่งปิดโรงเรียน ประธานสภา กทม.จวกผู้บริหาร กทม.เร่งแจ้งเตือนชุมชนเสี่ยง

กทม.จัดที่ลี้ภัยพร้อมอพยพคนกรุงหนีน้ำ

นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.มีแผนรองรับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 13 เขต 27 ชุมชน รวมทั้งสิ้นกว่า 1,300 ครัวเรือน โดยได้ประสานไปยังโรงเรียน วัด หรือมัสยิส ให้จัดเตรียมสถานที่อพยพลี้ภัยหากเกิดน้ำท่วม รวมทั้งเตรียมเวชภัณฑ์ อาหาร รถขนย้ายสิ่งของ และสะพานไม้ในชุมชน

นางทยา กล่าวว่า ได้สั่งการให้โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ริมฝั่ง 7 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดราชกุญชร วัดราชผาติการาม เขตดุสิต โรงเรียนวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ โรงเรียนวัดเวฬุวนาราม เขตดอนเมือง โรงเรียนวัดใหม่ยายนุ้ย วัดราชคฤห์ และโรงเรียนวัดกัลยาณมิตร เขตธนบุรี ให้เร่งขนย้ายสิ่งของและเอกสารสำคัญไปเก็บไว้บนที่สูง หากในช่วงวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนยังมีน้ำท่วมขังจะให้เลื่อนเปิดเรียนทันที

ด้านนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันที่ 22 ต.ค. วัดระดับน้ำสูงสุดได้ 1.45 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนสถานการณ์น้ำเหนือขณะนี้กรมชลประทานได้ระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่าน กทม.อยู่ที่ 4,134 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูงมาก

อย่างไรก็ตาม นายพรเทพ กล่าวว่า จากสถิติในอดีตที่ผ่านมาในปี 2538 เคยมีปริมาณน้ำสูงถึงกว่า 5,400 ลบ.ม.ต่อวินาที และมีระดับน้ำสูงถึง 2.27 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่ กทม.ก็ยังสามารถรับมือได้ โดยในครั้งนี้ กทม.มีการเตรียมความพร้อมทั้งสถานีสูบน้ำกว่า 157 แห่ง เพื่อเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ การปิดกั้นประตูระบายน้ำ 214 แห่ง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้ามาในคลองย่อย รวมถึงเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่กว่า 1,065 เครื่องเข้าประจำจุดอ่อนน้ำท่วม ทำให้เชื่อมั่นว่าจะสามารถป้องกันได้

นอกจากนี้ กทม.จะเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงวันที่ 24-27 ต.ค. ซึ่งจะมีน้ำทะเลหนุนสูง โดยเฉพาะวันที่ 26 ต.ค. คาดว่าระดับน้ำจะพุ่งสูงจาก 1 เมตร เพิ่มเป็น 1.17 เมตร ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า อาจมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนัก

ขณะที่นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า กทม.ได้ประสานกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง 3 แนวทางคือ 1.หากปริมาณน้ำไหลผ่าน กทม. 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะมีระดับสูง 1.86 + 0.10 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) 2.หากปริมาณน้ำไหลผ่าน กทม. 4,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จะมีระดับสูง 2.13 + 0.10 ม.รทก. และ 3.หากปริมาณน้ำไหลผ่าน กทม. 4,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะมีระดับสูง 2.35 + 0.10 ม.รทก.

กทม.จัดที่ลี้ภัยพร้อมอพยพคนกรุงหนีน้ำ

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เพิ่มแนวกระสอบทรายใน 3 พื้นที่คือ เขตดุสิต บางพลัด บางกอกน้อย จากเดิมสูง 2.40-2.50 เมตร เพิ่มอีก 30-50 ซม. เพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุนนสูง รวมถึงให้เจ้าหน้าสร้างสะพานไม้เพื่อเป็นทางเดินในชุมชน และช่วยขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานสภา กทม. กล่าว่า ผู้บริหาร กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมทั้ง 13 เขต ให้มีความชัดเจน เนื่องจากประชาชนบางพื้นที่ยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่าพื้นที่ใดจะได้รับผลกระทบบ้าง

“สำนักการระบายน้ำควรร่วมมือกับสำนักงานเขตในการจัดส่งเจ้าหน้าลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจและเป็นเตือนภัยจุดเสี่ยง เพื่อให้ประชาชนย้ายข้าวของที่จำเป็นและมองหาที่พักสำรองไว้ตั้งแต่ต้น รวมทั้งให้มีการแจ้งภัยล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก” นายสุทธิชัย กล่าว