posttoday

รัฐให้กทม.คุมแผงค้าจตุจักร

13 กันยายน 2561

"บิ๊กป้อม" เคลียร์ปัญหาลงตัว สั่งลดค่าเช่าแผงเกือบครึ่ง ด้าน การรถไฟฯ จะได้ค่าเช่าที่จาก กทม. 100 ล้าน/ปี

"บิ๊กป้อม" เคลียร์ปัญหาลงตัว สั่งลดค่าเช่าแผงเกือบครึ่ง ด้าน การรถไฟฯ จะได้ค่าเช่าที่จาก กทม. 100 ล้าน/ปี

ร.ต.หญิง พรชนก อ่ำพันธุ์ ผู้ช่วยโฆษกกลาโหม แถลงผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปราชการแผ่นดิน ว่า การแก้ปัญหาเรื่องตลาดนัดจตุจักรได้ข้อสรุปว่า หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสหกรณ์ผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร พูดคุยเจรจากับทุกฝ่ายจนได้ผลประโยชน์ร่วมกันนั้น ทาง กทม.เป็นผู้รับผิดชอบบริหาร จัดการตลาดนัดจตุจักรเหมือนเดิม เช่น การบริหารจัดการเก็บขยะและเก็บค่าเช่าแผง ต่างๆ ส่วน รฟท.จะได้รับค่าเช่าที่ดินจำนวน 100 ล้านบาท/ปี และได้พนักงานกลับไปปฏิบัติงานตามเดิม 100 กว่านาย

ขณะที่ผู้ค้าจากเดิมที่ รฟท.เข้ามา บริหารค่าเช่าแผงอยู่ที่ 3,157 บาท ปัจจุบันถ้า กทม.กลับเข้ามาบริหาร ค่าเช่าแผงจะลดลงเหลือ 1,800 บาท ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นประธานที่ประชุม สั่งการว่าให้ทั้งสองฝ่ายไปร่วมเจรจาอีก ว่าจะมีทางไหนที่ทำให้ค่าเช่าของประชาชนลดลงไปอีกให้ได้เท่าที่ทำได้ โดยทุกฝ่ายต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน

ผู้ช่วยโฆษกกลาโหม กล่าวว่า ในที่ประชุมตัวแทน กทม. ให้ความเห็นว่ายินดีรับตลาดนัดจตุจักรมาบริหารเอง เพราะมีความเชี่ยวชาญในการบริการจัดการตลาดอยู่แล้ว อีกทั้งมีกำลังคนเข้ามาทำงานได้จึงสามารถลดค่าเช่าแผงมาอยู่ที่ 1,800 บาท/เดือน แตกต่างจากของเดิมที่ รฟท.เคยต้องจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาบริหารจัดการตลาดแทน ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงเป็นที่มาของการตั้งราคาค่าเช่าไว้ที่ 3,157 บาท/เดือน

ขณะที่ตัวแทนผู้ค้ามีข้อเสนอให้ พล.อ.ประวิตร ช่วยพิจารณาลดอัตราค่าเช่าลงเหลือ 800 บาท/แผง จากที่ กทม. ตั้งไว้จำนวน 1,800 บาท อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถลดได้อีกผู้ค้าก็ยินดีที่จะจ่ายค่าเช่าในราคาที่ กทม.กำหนด ซึ่งทาง พล.อ.ประวิตร ให้ความเห็นในที่ประชุมว่ามีความเป็นห่วงผู้ค้าต้องหาเช้ากินค่ำ ดังนั้นอยากให้ กทม. และ รฟท.พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการลดค่าเช่าลดอีกได้หรือไม่ โดยให้เสนอความเห็นเข้าที่ประชุมอีกครั้งภายในเดือน ก.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมไม่มีเรื่องของขอร้องเรียนกลุ่มผู้มีอิทธิพลในตลาดจตุจักร เนื่องจากประชาชนสามารถร้องเรียนเข้ามาที่ศูนย์ดำรงธรรม ทำให้บรรยากาศการประชุมจบลงด้วยดี โดยได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแล้ว
   
ทั้งนี้ ปัญหาความเดือดร้อนผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรมีมานาน โดยบรรดาผู้ค้าได้รวมตัวยื่นเรื่องให้รัฐบาลช่วยเหลือ ให้เหตุผลว่า รฟท.เน้นสนับสนุนกลุ่มนายทุนมากกว่าผู้ค้ารายย่อย ขณะที่กลุ่มนายทุนนำแผงค้าภายในตลาดไปเช่าช่วงในราคาแพงบางล็อกปล่อยเช่าต่อสูงถึงเดือนละ 4 หมื่น-1 แสนบาท ทั้งที่อัตราค่าเช่าจริงอยู่ที่เดือนละ 3,157 บาท