posttoday

ศาลให้ประกันสาวแจกเสื้อ"สหพันธรัฐไท" หลังตร.ส่งฝากขัง

12 กันยายน 2561

ศาลอาญาให้ประกันตัวสาวแจกเสื้อ"สหพันธรัฐไท" หลังตร.ส่งฝากขังข้อหาอั้งยี่-ปลุกปั่น ขณะที่คำฟ้องระบุเดินทางไปรับเสื้อมาแล้ว 3 ครั้ง

ศาลอาญาให้ประกันตัวสาวแจกเสื้อ"สหพันธรัฐไท" หลังตร.ส่งฝากขังข้อหาอั้งยี่-ปลุกปั่น ขณะที่คำฟ้องระบุเดินทางไปรับเสื้อมาแล้ว 3 ครั้ง

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ได้ควบคุมตัว นางวรรณภา อายุ 30 ปี ชาว จ.สมุทรปราการ ที่แจกเสื้อสหพันธรัฐไท ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาใน ข้อกล่าวหาเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา 209 มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรก เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-23 ก.ย.นี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานอีก 4-5 ปาก และรอผลตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ประกอบกับเป็นความผิดอาญาร้ายแรง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

ศาลพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขัง

ต่อมา ญาติของนางวรรณภา ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างการฝากขังนี้ คำฟ้องระบุเดินทางไปรับเสื้อมาแล้ว 3 ครั้ง

ซึ่งช่วงเย็นที่ผ่านมา ศาลพิจารณาแล้ว ก็มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นางวรรณภา ผู้ต้องหา ระหว่างการฝากขังนี้ โดยตีราคาประกัน 200,000 บาท โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขใดๆ

สำหรับคำร้องฝากขังดังกล่าว ได้ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อประมาณปี 2557 เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้รับคำสั่งจาก คสช. ให้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล-คสช. และการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งพบว่ามีบุคคลหลายกลุ่มที่มีพฤติการณ์ในการต่อต้านรัฐบาล-คสช.ซึ่งได้มีการร้องทุกข์ดำเนินคดีเรื่อยมา

ต่อมา วันที่ 20 ส.ค.61 ฝ่ายข่าวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สืบทราบว่า นายกฤษณะ อาษาสู้ กับพวกรวม 3 คน (ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้แล้ว) มีพฤติการณ์ต่อต้านรัฐบาล-คสช. โดยรวมกลุ่มในชื่อ “สหพันธรัฐไท” ทำการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยมีการวางแผน แบ่งหน้าที่กันทำ และพยายามโน้มน้าวประชาชนให้เห็นด้วยในการเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศไทย จากระบอบประชาธิปไตยฯ ให้เปลี่ยนไปปกครองในระบอบสหพันธรัฐ โดยมีการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ เช่น การทำเสื้อ สติ๊กเกอร์ แจกจ่ายให้สมาชิกในกลุ่ม และเผยแพร่ใบปลิวไปตามสถานที่ต่างๆในลักษณะเผยแพร่แนวคิดของกลุ่มสหพันธรัฐ โดยนำไปปิดแจกจ่ายสถานที่ต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีการวางแผนที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ที่สนับสนุนแนวคิดของกลุ่ม ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล กระทั่งอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เม.ย.58 เชิญตัว นายกฤษณะ กับพวกรวม 3 คน มาซักถามที่ มทบ.11

ผลการซักถามนายกฤษณะกับพวกยอมรับว่าได้รวมกลุ่มในชื่อ “สหพันธรัฐไท” ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการทำงานของรัฐบาล-คสช. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ จึงได้รายงานพฤติการณ์และการกระทำของกลุ่มผู้ต้องหาให้รัฐบาล-คสช.ทราบ โดย คสช.พิจารณาแล้วมอบอำนาจให้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งนายกฤษณะกับพวกก็ถูกจับกุมตัวตามหมายจับศาลอาญา

กระทั่งฝ่ายข่าวฯ สืบสวนขยายผลทราบว่า มีบุคคลอีก 4 คน เป็นแกนนำจัดตั้งองค์กรสหพันธรัฐ ตามที่นายกฤษณะและพวกเคยให้การไว้ในบันทึกซักถาม โดยมีการจัดทำเสื้อดำติดธงสัญลักษณ์สหพันธ และมี นางวรรณภา ผู้ต้องหา เป็นบุคคลที่รับเสื้อดังกล่าวจากมารดาของผู้ต้องหาเองที่เป็นแนวร่วมกลุ่มสหพันธรัฐไทซึ่งหลบหนีจากประเทศไทยไปเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน มาแจกจ่ายให้กับสมาชิกเพื่อขยายแนวร่วม

โดยผู้ต้องหา ได้เดินทางเข้าไปทาง จ.หนองคาย ได้รับเสื้อมาแล้ว 3 ครั้ง จำนวน 60 ตัว แล้วนำมาส่งที่ไปรษณีย์หนองคาย เพื่อส่งให้กับแนวร่วมตามที่อยู่ต่างๆ และที่เหลือนำมาเก็บไว้ที่ห้องตัวเองเพื่อรอส่งให้สมาชิกตามคำสั่งของมารดา ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบจึงพบเสื้อดังกล่าว และจากการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือผู้ต้องหา ยังพบว่ามีการถ่ายภาพใบปลิวข้อความปลุกระดมตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง

โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ย. เวลา 16.30 น. ตำรวจ กก.1บก.ป.ได้ร่วมกันจับกุม นางวรรณภา ผู้ต้องหา ซึ่งพนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อหา ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด ที่ไม่ใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ใช่เพื่อแสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และเป็นอั้งยี่ ม.209 เหตุเกิดที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ ต.สำโรงใต้ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา