posttoday

ก้าวผ่านมุมมืดชีวิตเยาวชนหญิง ด้วย “ละคร-นิทาน-การภาวนา”

22 ตุลาคม 2553

บางครั้งหลายคนอาจจะมอง เด็กหรือเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจเพื่อลงโทษจากการกระทำความผิดด้วยสายตาที่ตำหนิติเตียน และไม่ไว้วางใจ

บางครั้งหลายคนอาจจะมอง เด็กหรือเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจเพื่อลงโทษจากการกระทำความผิดด้วยสายตาที่ตำหนิติเตียน และไม่ไว้วางใจ

 

ก้าวผ่านมุมมืดชีวิตเยาวชนหญิง ด้วย “ละคร-นิทาน-การภาวนา”

ทว่า “ตุ๊กตา” หรือ น.ส.รัชนี วิศิษฎ์วโรดม นักศึกษาปริญญาโท จิตตปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล กลับมองตรงกันข้าม โดยตุ๊กตา ได้ร่วมกับกลุ่มเพื่อนๆ จัดทำโครงการละคร  นิทาน  บทกวี  และความสุข  ภายใต้โครงการสุขแท้ด้วยปัญญาผ่านความสนับสนุนจากเครือข่ายพุทธิกา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้ดำเนินโครงการจัดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี  จำนวน 40 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนได้รู้จักตนเอง  ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น  รวมทั้งเกิดทัศนคติเชิงบวกในการดำรงชีวิต ผ่าน ละคร นิทาน บทกวี  การภาวนาเบื้องต้นและกิจกรรมจิตอาสา

ตุ๊กตา เล่าถึงกระบวนการเรียนรู้ของน้องในบ้านปรานีให้ฟังว่า

“ เราจัดกระบวนการเรียนรู้ต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ โดยใช้กระบวนการกลุ่มผ่านประสบการณ์ตรง ผ่านการภาวนา การสืบค้นภายในตนเอง การเล่าเรื่อง ฝึกเขียนเรื่องราวของตนเอง การทำงานศิลปะ การเคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงเล่านิทาน ฝึกการใช้เสียงและร่างกายในการอ่านนิทานและบทกวี นำเสนอผลงาน รับฟัง และวิจารณ์ผลงานของเพื่อน รวมทั้งการจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงตนเองในระหว่างที่เข้าร่วมโครงการ

กระบวนการเรียนรู้ของน้องๆในบ้านปรานี จะทำกันทั้งหมดด้วยกัน 4 สัปดาห์ เรามาเริ่มต้นที่สัปดาห์ที่ 1 เราจะทำให้น้องๆเห็นความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและความรู้สึก ได้สัมผัสความกลัวในใจของตนเอง ขณะที่น้องส่วนหนึ่งได้สัมผัสความไว้ใจจากเพื่อนจากนิทาน”นัสรูดินกับมูสตาฟา”

ถือเป็นครั้งแรกของน้องส่วนใหญ่ที่ได้รับรู้ความสามารถของตนและเพื่อนแต่ละคนอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน  เรียนรู้การทำงานเป็นทีมว่าต้องแบ่งปันความคิดเห็นกันในกลุ่ม เรียนรู้การเป็นผู้นำผู้ตาม ทำให้เด็กได้เรียนรู้การไม่เอาความคิดของตนเป็นใหญ่”

ถัดจากนั้น  

“ในสัปดาห์ที่ 2 น้องทุกคนจะได้ทบทวนถึงการใช้ชีวิตที่ผ่านมาและชีวิตในอนาคต  โดยผ่านงานเขียนหัวข้อ “เมื่อฉันอายุ...” พบว่า น้องๆได้กล่าวคำอวยพรให้เพื่อนอย่างเข้าใจในความทุกข์ของผู้อื่นและตนเอง  แสดงความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับความสุข  น้องๆเกิดความสุขจากการให้ น้องๆ ได้ฝึกซ้อมและแสดงละครจากนิทาน 2  เรื่อง  คือ  “ชีวิตนี้อะไรก็ไม่แน่” และ“ลาไม่โง่” ซึ่งส่วนใหญ่ได้เห็นประโยชน์ของการรับฟังคำติชมจากเพื่อน ว่าเป็นคำแนะนำและนำไปปรับปรุงแก้ไข”    

ผ่านสัปดาห์ที่ 2 ย่างเข้าสัปดาห์ที่ 3  รัชนี สะท้อนความรู้สึกของน้องๆว่า น้องในบ้านปรานีได้เขียนบทกวีส่งเป็นการบ้านหัวข้อ “ก้าวที่พลาด วาดที่หวัง” สะท้อนให้เห็นการยอมรับความผิดพลาดที่ผ่านมาอย่างเข้าใจว่าเป็นบทเรียนของชีวิต  แต่ยังมีความหวัง ความฝัน ความตั้งใจ  ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเห็นคุณค่า ความดีในตนเอง

แต่ละคนได้ฝึกการมีสมาธิอยู่กับตนเองผ่านกิจกรรม”ขนนก”  เกิดความตั้งมั่นจิตใจสงบ  น้องเกือบทั้งหมดมุ่งมั่นตั้งใจจริงมากๆ ในการปรับปรุงแก้ไข  พัฒนาการแสดงละครและการอ่านบทกวี เพื่อทำหน้าที่ส่งมอบ “ความสุข” ให้แก่ผู้ที่ขาดโอกาสยิ่งกว่าตนอย่างน้องผู้พิการซ้ำซ้อนในบ้านนนทภูมิในช่วงเวลาตอนท้ายของการเข้าค่ายกิจกรรม

ขณะที่ “อ้อ”  มัลลิกา  ตั้งสงบ-คงทน นักปฏิบัติการละคร เล่าถึงกิจกรรมขนนกสร้างสมาธิให้ฟังว่ากิจกรรมนี้ได้แรงบันดาลใจจากพระอาจารย์ท่านหนึ่ง

“ท่านสอนให้เราพิจารณาดอกบัวที่อยู่ในมือว่ากำลังจะบานโดยใช้จินตนาการ คล้ายกับการเพ่งกษิณ เป็นรูปแบบทำสมาธิอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งกิจกรรมขนนกก็มีวิธีการคล้ายกัน คือ เราจะให้น้องๆจินตนาการว่ามีขนนกอยู่ในมือ แล้วให้น้องๆเป่าขนนก แล้วจินตนาการว่า ขนนกลอยไปในทิศทางไหนอย่างช้า โดยเด็กจะขยับร่างกายช้าลงตามขนนกที่เขาจินตนาการด้วย และการจินตนาการจะทำให้เขาได้ฝึกสมาธิไปในตัว

โดยวิธีการนี้จะเป็นการฝึกให้น้องที่อยู่ในสถานพินิจเกิดสมาธิ เพราะการที่เราจะให้เยาวชนที่อยู่ในวัยที่ไม่นิ่ง วัยที่มีพลังมานั่งนิ่งทำสมาธินั้นเป็นไปได้ยาก เราจึงต้องหากิจกรรมที่ทำให้เขาได้ฝึกสมาธิโดยไม่รู้ตัว พอเขาได้เรียนรู้จากกิจกรรมขนนก จะทำให้เขามีสมาธิ จากนั้นเราจึงได้อธิบายให้เขาเข้าใจว่า กิจกรรมขนนกนั้น เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดสมาธิและจินตนาการ เมื่อเขาเข้าใจแล้ว การฝึกสมาธิจริงๆในรูปแบบการนั่งสมาธิจะทำได้ไม่ยาก”

กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งน้องๆแต่ละคนได้เริ่มเห็นคุณค่าของตนเองไม่มองว่า ตนคือขยะสังคม เป็นคนที่ด้อยคุณค่า ซึ่งในสัปดาห์ที่ 4 นี้เอง  น้องบ้านปรานี เดินทางพร้อมเจ้าหน้าที่บ้านปรานี  นำการแสดงไปมอบให้แก่น้องๆผู้พิการซ้ำซ้อนที่บ้านนนทภูมิ

การแสดงประกอบด้วย  นิทาน 2  เรื่อง คือ “นัสรูดินกับมุสตาฟา” และ  “ลาไม่โง่”  การอ่านบทกวี 6 เรื่อง  คือ “คุณครูสอนหนังสือ”, “ความลับ”, “ผู้พิพากษาที่ไม่ยุติธรรม”, “ถ้าเป็นเช่นนั้นคงจะดีมากนะ” “ความฝัน”, “รถไฟกับรถยนต์” 

หลังการแสดงจบลงเยาวนจาก 2 บ้าน ได้จับคู่วาดรูปพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน  น้องทุกคนได้สัมผัส “ความสุข”ของการเป็นผู้ให้ “ให้ความสุข ความหวัง กำลังใจแก่ผู้อื่น”  โลกการรับรู้ของน้องบ้านปรานีขยายออกไปถึงโลกของผู้ที่ลำบากกว่า ทุกข์ยากมากกว่า  น้องทุกคนรับรู้ได้ถึงพลังและศักยภาพความดีงามภายในตนเอง  เกิดทัศนคติเชิงบวกในการดำรงชีวิต

น้องฟ้า(นามสมมุติ) ในบ้านปรานี สะท้อนความรู้สึกในการเข้าร่วมกิจกรรมว่า  ”หนูจะไม่ท้ออีกแล้ว คนอื่นที่แย่กว่าหนู  น่าสงสารกว่าหนูมีอีกตั้งเยอะ หนูต้องเข้มแข็งค่ะครู”

ขณะที่ น้องแก้ว (นามสมมุติ ) ยังบอกว่า ได้ข้อคิดจากนิทาน  เช่น“ อุปสรรคมีไว้ให้ก้าวข้าม” “ชีวิตนี้ไม่แน่ เราต้องอดทนและไม่ท้อถอย”   สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้  คือ ความกล้าหาญ ความมั่นใจในตนเอง  ความอดทน  ความสามัคคี  รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  การฝึกจินตนาการและได้ทำสมาธิ   ได้รู้จักตนเองมากขึ้น

กระบวนการเรียนรู้ภายใต้ โครงการละคร  นิทาน  บทกวี  และความสุข ถือเป็นการทำงานของคนกลุ่มเล็กๆ ที่อยากเห็น คนที่มองตัวเองด้อยคุณค่าให้เห็นคุณค่าตัวเอง  ให้เขารู้จักการใช้วิธีการเจริญสติ การฝึกฝนอารมณ์ ควบคุมอารมณ์โกรธให้เย็นลงได้ รู้จักการปรับอารมณ์และอยู่ร่วมกับผู้อื่น ที่สำคัญให้เขารู้ว่า การอยู่เพียงลำพังคนเดียว หรืออยู่ในสถานพินิจ ก็มีประโยชน์ พราะจะทำให้เราได้อยู่กับตัวเองได้คิดทบทวนในสิ่งที่เราทำมากขึ้น 

คนส่วนใหญ่อาจจะพิพากษาเด็กที่กระทำผิด ว่า เป็นคนที่ก่อปัญหาของสังคม แต่กลับไม่ได้มองว่า สังคมที่ซับซ้อนได้มีส่วนบ่มเพาะให้เด็กเป็นเช่นนั้น

หากทุกคนเปิดใจและเข้าใจในตัวเขาเหล่านั้น ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้กลับเข้าสู่สังคมอีกครั้ง